พาราสาวะถี

ปมสนช.ลงมติยืดเวลาการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ออกไป 90 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา แม้จะจบไปแล้วในชั้นของคนมีอำนาจแก้ไข และจบไปแล้วในความรู้สึกของผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่าง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ประกาศว่าไม่รู้ไม่เห็น ไม่ได้ชี้นำมีใบสั่ง แต่ดูเหมือนว่าคนที่ยังคาใจก็ยังออกมาแสดงข้อกังขากันอย่างต่อเนื่อง


อรชุน

ปมสนช.ลงมติยืดเวลาการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ออกไป 90 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา แม้จะจบไปแล้วในชั้นของคนมีอำนาจแก้ไข และจบไปแล้วในความรู้สึกของผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่าง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ประกาศว่าไม่รู้ไม่เห็น ไม่ได้ชี้นำมีใบสั่ง แต่ดูเหมือนว่าคนที่ยังคาใจก็ยังออกมาแสดงข้อกังขากันอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย บุกยื่นสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินหรือสตง.ให้เอาผิดกับสมาชิกสนช. 213 คนที่ลงมติผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว โดยเห็นว่าจงใจใช้อำนาจไปในทางเอื้อประโยชน์ให้กับคสช.และสมาชิกสนช.เอง อันเข้าข่ายการทุจริตต่อหน้าที่ และจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายหลายประการ

สิ่งที่ศรีสุวรรณและสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยมองเห็นคือ การใช้อำนาจของสนช. เป็นการบัญญัติกฎหมายการเลือกตั้งส.ส.ที่ไม่เคยปรากฏรูปแบบดังกล่าวเลย นับตั้งแต่มีการบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งส.ส. คือตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 เป็นต้นมา การที่สนช.ใช้อำนาจเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวออกไป จะทำให้สนช.ได้รับประโยชน์จากเงินประจำตำแหน่งและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นอีกคนละ 1-2 แสนบาทต่อเดือนต่อไปอีกมากกว่า 3 เดือน

อย่างที่รู้กันว่า สนช.จะอยู่ไปจนกว่าจะมีการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 263 ซึ่งจะทำให้ประเทศชาติเสียหายจากระบบการเงินการคลังอีกกว่า 100 ล้านบาท ไม่เพียงเท่านั้นการยืดเวลาดังกล่าว อาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองใหม่บางพรรคที่ส่อไปในทางสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ให้เป็นนายกฯคนต่อไปด้วย

การเคลื่อนไหวของศรีสุวรรณและคณะเป็นการจับเอาข้อบังคับตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาประกอบ พร้อมกับชี้ให้เห็นพฤติกรรมของฝ่ายมีอำนาจว่ากระทำการอะไรลงไปในทางที่เอื้อประโยชน์ให้กับตัวเองและพวกพ้องหรือไม่ ซึ่งแทบจะทุกเรื่องที่ผ่านมา หากเป็นภาวะปกติคงจะมีการตรวจสอบและวินิจฉัยให้เกิดความกระจ่างไปแล้ว แต่ยุคนี้มีแต่จะดองหรือยืดเยื้อเวลาออกไปเท่าที่จะทำได้

อย่างไรก็ตาม การแบ่งบทกันเล่นของนักแสดงที่อยู่ในฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ก่อนหน้านี้คนของพรรคประชาธิปัตย์ก็ออกมาประชดประชันว่าเป็นการแสดงที่ตีบทแตกเทียบชั้นดาราออสการ์กันเลยทีเดียว ล่าสุด วัฒนา เมืองสุข ก็ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในหัวข้อหลอกใครพร้อมมีภาพของควายกำลังเคี้ยวหญ้ามาประกอบ

โดยมีเนื้อหาที่หยิบยกเอาบทสัมภาษณ์ของพลเอกประยุทธ์ที่ประเทศอินเดีย อ้างถึงกรณีสนช.ลงมติขยายระยะเวลาบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งส.ส.ว่า เป็นเรื่องของสนช.ที่ตนไม่สามารถก้าวล่วงได้ แต่ตนพร้อมที่จะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และหลักการทุกประการตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งพลเอกประยุทธ์คงต้องการสื่อให้สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่ตัวเองไปสัญญาว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งภายในปีนี้ เชื่อว่าตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสนช. เพราะอยู่ต่างประเทศ

คงคิดว่ามหาอำนาจมีระดับสติปัญญาเท่ากับตัวเองและคนที่สนับสนุนให้ตัวเองออกมายึดอำนาจ ตามข้อเท็จจริง กฎหมายพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 8 ตุลาคม 2560 หากพลเอกประยุทธ์เป็นคนตรงหรือเคารพกฎหมายจะต้องปลดล็อคให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2560 ซึ่งพ้นงานพระราชพิธีแล้ว

แต่กลับถ่วงเวลาจนต้องออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/2560 ขยายเวลาทำกิจกรรมของพรรคการเมืองให้เริ่มจากวันที่ 1 เมษายน 2561 จากนั้นรัฐมนตรีต่างประเทศก็ออกมาทดสอบโดยให้สัมภาษณ์ว่าต่างชาติน่าจะรับได้กับการเลื่อนการเลือกตั้ง แต่ก็ถูกสหภาพยุโรปและสหรัฐสวนเอาแบบไม่เกรงใจว่า การเลือกตั้งต้องแล้วเสร็จภายในปี 2561 ตามที่สัญญาไว้ พลเอกประยุทธ์จึงต้องหาข้ออ้างแบบไร้เดียงสาว่าเป็นเรื่องของ สนช.ที่ตนก้าวล่วงไม่ได้

วัฒนา จึงอดไม่ได้ที่จะสะกิดเตือนว่า ที่ผ่านมาเห็นแต่เผด็จการที่กล้าทำกล้ารับไม่โทษคนอื่น เช่น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่พูดว่าข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว หรือแม้แต่ พลเอกสุจินดา คราประยูร ที่เคยบอกว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ยังกล้ารับว่ายอมเสียสัตย์เพื่อชาติ แต่ยุคหลังกลับเห็นแต่เผด็จการกระจอกที่กล้าทำแต่ไม่กล้ารับ โกหกได้แบบไม่อายปาก อยากมีอำนาจแต่ขี้ขลาดโยนให้คนอื่นรับแทน จะไล่ให้ไปนุ่งผ้าถุงก็เสียดายผ้าที่แม่ตนนุ่ง เพราะคนประเภทนี้แม้แต่ผ้าถุงก็ไม่คู่ควร โคตรกระจอกเลยครับ

นั่นคือมุมของนักการเมืองและนักเคลื่อนไหว ขณะที่นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์อย่าง อนุสรณ์ ธรรมใจ มองว่า การเลื่อนการเลือกตั้งส่งผลกระทบต่อภาคการลงทุนจากการสร้างความไม่แน่นอน การไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า จะมีการเลื่อนอีกหรือไม่ในอนาคต ทำให้ความมั่นใจของนักลงทุนที่คาดหวังให้ประเทศกลับคืนสู่ประชาธิปไตยลดลง

นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มความขัดแย้งทางการเมืองโดยไม่จำเป็นอันบั่นทอนต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน เพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเมืองและการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยในอนาคต ระบบนิติรัฐและความน่าเชื่อถือของรัฐบาลมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภาคการลงทุนและการตัดสินใจ ยิ่งเลือกตั้งเร็วเท่าไหร่ และสามารถจัดการเลือกตั้งได้อย่างโปร่งใส เป็นธรรมและน่าเชื่อถือมากเท่าไหร่ จะยิ่งลดความเสี่ยงในการจะเกิดวิกฤตการณ์การเมืองรอบใหม่มากเท่านั้น และเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว

แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลเผด็จการจะไม่ได้คำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ แม้กระทั่งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเองก็คงไม่ได้มีปากเสียงหรือให้ความสำคัญกับประเด็นอันเป็นสากลอย่างที่อนุสรณ์ได้อธิบาย เพราะสิ่งสำคัญสำหรับคนที่หลงและเหลิงในอำนาจก็คือ ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเองได้เปรียบและมั่นใจได้ล้านเปอร์เซ็นต์ว่าจะกลับมามีอำนาจอีกหน โดยปราศจากอุปสรรค

ทว่าสิ่งที่ผู้มีอำนาจน่าจะไม่ได้ให้ความสนใจก็คือ การกดขี่ข่มทับมันอาจใช้ได้ในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เช่นเดียวกับเสียงสนับสนุนที่จะเห่อเหิมและยกยอปอปั้นในวันที่เข้ามาทำในสิ่งที่พวกตัวเองต้องการเท่านั้น แต่พอเวลาผ่านไปและทำให้คนโดยส่วนใหญ่ได้เห็นอะไรต่อมิอะไรที่ถ่องแท้แล้ว โดยเฉพาะความกังฉินแทนที่จะดำรงรักษาอำนาจของตัวเองไม่ให้เสื่อมถอยเพื่อไปต่อ จะกลายเป็นการเสื่อมแบบกู่ไม่กลับ บทเรียนในอดีตมีให้เห็นมานักต่อนัก แม้จะพยายามอุดช่องโหว่ในทุกด้านไว้แล้วก็ตาม

Back to top button