จากศุกร์ถึงจันทร์
แม้ยังไม่ชัดเจนว่าแรงขายของนักลงทุนอเมริกันเมื่อวันศุกร์โลกาวินาศที่ผ่านมาเป็นการ "ขายทำกำไร" หรือ "ขายหนีตาย" แต่อิทธิพลของดาวโจนส์และตลาดนิวยอร์กที่เกิดสั่นคลอน ยังเป็นหลักหมุดสำคัญของตลาดหุ้นโลก น่าจะสะเทือนไปทั้งโลกในวันจันทร์นี้
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
บทเรียนจากกรณี “ศุกร์โลกาวินาศ” หรือ Black Friday 2018 ที่ตลาดหุ้นนิวยอร์ก มีดังนี้
- การร่วงลงวันศุกร์ที่ผ่านมา เป็นสถิติร่วงสูงสุดภายในวันเดียวติดอันดับหกในประวัติศาสตร์ของดัชนีดาวโจนส์ที่ใช้กันมายาวนาน 122 ปี (การร่วงมากที่สุดวันเดียวในประวัติศาสตร์คือวันที่ 29 กันยายน 2551 ร่วงไป 777.68 จุดในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์) แต่หากคิดเป็นร้อยละ การร่วงที่มากสุดภายในวันเดียวเกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 19 กันยายน 2530 (ที่รู้จักกันในนาม Black Monday) ที่ร่วงไปถึง 22.61%
- การร่วงลงมากสุดครั้งสุดท้ายก่อนหน้านี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2551 หรือ 9 ปีเศษ ในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ หรือวิกฤตซับไพรม์
- การร่วงลงของศุกร์มหาวินาศ เป็นสถิติลบใหม่ ร้ายแรงสุดของวอลล์สตรีทในยุคของโดนัลด์ ทรัมป์ นับตั้งแต่การเกิดสถิติเชิงบวกมากมายตลอด 1 ปี 2 เดือนที่ผ่านมา
- สถิติน่าสนใจจากจำนวนหุ้นที่ร่วงลงในตลาดนิวยอร์ก คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 91% (เทียบกับ 8% ที่ราคาบวก และต่ำกว่า 1% ที่ราคาทรงตัว) เป็นสัดส่วนที่มากสุดในประวัติศาสตร์เช่นกัน ถือเป็นการ “ร่วงไม่เลือกหน้า” ครั้งใหญ่ที่นานครั้งจะเกิดสักที
- ศุกร์โลกาวินาศครั้งล่าสุดนี้ ไม่ได้เกิดกับตลาดหุ้นนิวยอร์กที่เดียว แต่เกิดกับตลาดซื้อขายเงินเสมือนดิจิทัล บิตคอยน์ที่ร่วงมาต่ำกว่า 8,500 ดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว สะท้อนฟองสบู่ที่แตกรุนแรงของเงินเสมือนดังกล่าว
คำถามต่อมา ที่ยังต้องรอคำตอบในอนาคต อยู่ที่ว่า จากนี้ไป ตลาดหุ้นจะเกิดปรากฏการณ์อะไร ระหว่าง 1) การพักฐาน (market correction ร่วงต่อไม่เกิน 10%) หรือ 2) ปรับฐาน (market retracement) ร่วงต่อไม่เกิน 30%) หรือ 3) พัง (market crash ร่วงมากกว่า 30%)
เหตุที่ต้องรอก็เพราะว่า ยากจะหยั่งรู้ว่า การร่วงวันเดียวล่าสุด 3.47% นั้น จะส่งผลต่อทิศทางหรือโมเมนตัมของตลาดที่เคยเป็นขาขึ้นยาวนานกว่า 1 ปีให้กลายเป็นขาลงชั่วคราวได้หรือไม่
ถ้าไม่ใช่ และดัชนีดาวโจนส์ยังสามารถรักษาแนวรับเหนือ 25,000 จุดได้ พร้อมกับมีทิศทางวกกลับเป็นขาขึ้นรอบใหม่เหนือ 26,000 จุดใหม่อีกครั้งในเวลาอันรวดเร็ว ก็จะเป็นแค่การพักฐานชั่วคราวลดความร้อนแรง แต่ถ้าใช่ ก็อาจจะเป็นการปรับฐานยาว ตามนิยามที่นาย อลัน กรีนสแปน อดีตประธานเฟด (Fed) ระบุไว้ว่า “ความกระตือรือร้นที่ไม่สมเหตุสมผล” (irrational exuberance)
ความจริงแล้ว การร่วงลงแรงของดัชนีตลาดหุ้นนิวยอร์กเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นตามปกติอยู่แล้ว ก่อนหน้าวันศุกร์ 2-3 วัน เคยมีสัญญาณเตือนครั้งแรกมาแล้ว โดยวันพุธที่ 31 มกราคม ดัชนีดาวโจนส์และอื่นๆ ในตลาดนิวยอร์กถูกแรงขายพันธบัตรรัฐบาล และแรงขายหุ้นออกมาพร้อมกันจนถล่มรุนแรง แม้ว่าจะยังไม่มีผลให้เส้นกราฟเทคนิคเสียหาย แถมวันต่อมา ผลการประชุมเฟดประจำเดือน ยังมีข่าวดีมาหนุนตลาดให้กลับทิศได้ก่อนจะถล่มรุนแรงในวันศุกร์เพื่อตอกย้ำว่าแรงขายที่ออกมานั้นเป็นของจริง
ดัชนีดาวโจนส์ที่ร่วงแรงวันศุกร์ สอดรับคำเตือนเมื่อวันพฤหัสบดีของนายกรีนสแปนพอดี แต่ว่าไปแล้วนับตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีก่อนเป็นต้นมา นายกรีนสแปนพูดถึงการถล่มแรงของตลาดที่เข้าสู่ภาวะฟองสบู่ทั้งตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นด้วยการพูดมาซ้ำซากไม่น้อยกว่า 4 ครั้ง จึงไม่น่ามีอิทธิพลใดๆ มากหรือน้อยเพียงใด
ก่อนหน้านี้ นักลงทุนส่วนใหญ่พากันเพิกเฉยต่อเสียงเตือนจากหลายหน่วยงานระดับโลก อย่าง BIS, กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF และธนาคารโลก ว่า ความเสี่ยงของภาวะฟองสบู่ขณะนี้ ยินยอมเป็น “นักผจญภัย” กับ ปัจจัยเสี่ยง 3 ด้านที่โยงใยกัน ได้แก่
- สภาพคล่องทางการเงินมากล้นที่เกิดจากการอัดฉีดยาวนานกว่า 10 ปีของธนาคารกลาง 3 แหล่งใหญ่ของโลก ทั้งในรูปอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากและการปล่อยสภาพคล่องมากกว่า 100 ล้านล้านดอลลาร์ เทียบได้เท่ากับ 1.5 เท่าของรายได้ประชาชาติรวมทั้งโลก
- สภาพคล่องล้นเกิน ที่ทำให้เกิด “เงินต้นทุนต่ำ” ในระบบธนาคาร บางส่วนได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในรูปของสินเชื่อ ทำให้มูลค่าก่อหนี้ของบริษัทธุรกิจทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น เฉพาะในบริษัทธุรกิจสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 35% และหนี้เงินกู้จำนวนมาก อีกบางส่วนถูกใช้เพื่อซื้อคืนหุ้นบริษัทของตนเอง ทำให้ตัวเลขกำไรต่อหุ้นและมาร์เก็ตแคปเพิ่มเกินจริง มีการคำนวณว่ากว่าร้อยละ 70 ของกำไรต่อหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2012 พร้อมจะเป็น “ส้นเท้าอาคีลีส” ได้ทุกเมื่อ
- สภาพคล่องบางส่วนได้ยักย้าย ถูกนำไปลงทุนเก็งกำไรในสินทรัพย์เสี่ยงที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการออม ผลลัพธ์คือ ความต่างระหว่าง “หุ้นดี-หุ้นเน่า”หรือ “หลักทรัพย์ดี-หลักทรัพย์เน่า” แคบลงหรือไม่ต่างกันเลย เพราะส่วนใหญ่เชื่อว่า ปริมาณทุนท่วมโลกจะไม่ทำให้วิกฤตตลาดหุ้นเกิดขึ้นง่ายเหมือนในอดีต
ปีนี้ นักวางกลยุทธ์และนักวิเคราะห์ชื่อดัง พากันระบุว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกน่าจะยังไปต่อได้ไกลในช่วงครึ่งปีแรกนี้ ต่อเนื่องจากภาวะกระทิงและขาขึ้นที่ยาวนานที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ ส่วนหนึ่งเกิดจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดีและเป็นวงกว้างมากขึ้น แต่ปัจจัยหลักยังถูกครอบงำจากผลการอัดฉีดสภาพคล่องและนโยบายดอกเบี้ยต่ำหรือดอกเบี้ยติดลบในหลายประเทศ แต่ให้ระวังตลาดปรับฐานแรงในช่วงครึ่งปีหลัง เหตุตลาดหุ้นถูกจะถูกกดดันจากสภาพคล่องโลกลดลง
ความเชื่อที่แพร่กระจายกันไปทั่ว คือ ธนาคารกลางหลัก 3 แห่งของโลก คือ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ญี่ปุ่น (BoJ) และสหรัฐ (Fed) จะเริ่มใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น ด้วยการทยอยลดการอัดฉีดสภาพคล่อง ส่งผลให้สภาพคล่องของโลกที่เคยเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ย 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อไตรมาส มาตั้งแต่ปี 2556 เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงเหลืออยู่ที่ประมาณ 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อไตรมาส ในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ และมีแนวโน้มหยุดการเพิ่มในไตรมาส 4/2561
หากการประเมินที่ว่าถูกต้อง โอกาสขาขึ้นแบบ “กระทิง” ของตลาดหุ้นทั่วโลกน่าจะดำเนินต่อไปจนถึงไตรมาสสองปีนี้
บังเอิญการประเมินของนักวางกลยุทธ์และนักวิเคราะห์ต่ำเกินไป เมื่อเทียบกับ “อารมณ์ของคุณตลาด” เพราะเกิดความเชื่อใหม่ที่ย้อนแย้งว่า การลดอัตราเพิ่มและการลดสภาพคล่องอาจจะเกิดเร็วกว่าคาดเอาไว้หลายเดือนล่วงหน้า ซึ่งในมุมของการเก็งกำไร การขายเมื่อดัชนีและราคาหุ้นอยู่ที่ยอดสูงสุด เป็นความได้เปรียบ เนื่องจากหากดัชนีและราคาลงยาวก็สบาย แต่หากดัชนีและราคารีบาวด์กลับก็ไม่ได้เสียหาย หากกลับมาซื้อที่ราคาต่ำลง
แม้ยังไม่ชัดเจนว่าแรงขายของนักลงทุนอเมริกันเมื่อวันศุกร์โลกาวินาศที่ผ่านมาเป็นการ “ขายทำกำไร” หรือ “ขายหนีตาย” แต่อิทธิพลของดาวโจนส์และตลาดนิวยอร์กที่เกิดสั่นคลอน ยังเป็นหลักหมุดสำคัญของตลาดหุ้นโลก น่าจะสะเทือนไปทั้งโลกในวันจันทร์นี้
ส่วนตลาดหุ้นไหนจะเกิด “จันทร์โลกาวินาศ” คงต้องลุ้นกัน