ไม่อาจปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ
ปฏิกิริยาล่าสุดของผู้บริหารหน่วยงานรัฐไทยต่อกรณีของเงินสเมือนดิจิทัลที่กำลังมีแนวโน้มว่าจะมีความนิยมผลิตกันขึ้นมาดูเหมือนเริ่มมีสุ้มเสียงที่ “แบ่งรับแบ่งสู้” มากขึ้น แทนที่จะเสียงแข็งปฏิเสธเหมือนอย่างช่วงหลายสัปดาห์ก่อน
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
ปฏิกิริยาล่าสุดของผู้บริหารหน่วยงานรัฐไทยต่อกรณีของเงินสเมือนดิจิทัลที่กำลังมีแนวโน้มว่าจะมีความนิยมผลิตกันขึ้นมาดูเหมือนเริ่มมีสุ้มเสียงที่ “แบ่งรับแบ่งสู้” มากขึ้น แทนที่จะเสียงแข็งปฏิเสธเหมือนอย่างช่วงหลายสัปดาห์ก่อน
เหตุผลก็อย่างที่รู้กันว่า เมื่อถึงที่สุดแล้ว การปฏิเสธหรือห้ามการทำธุรกรรมว่าด้วยเงินเสมือนดิจิทัล (ทำนองเดียวกันกับบิตคอยน์) เปรียบได้กับความพยายามอันสิ้นหวังของการ “ปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ” ที่ไม่มีทางสำเร็จได้เลย
เหตุผลเพราะในวันนี้และอนาคตข้างหน้า การออกเงินเสมือนดิจิทัล จะเป็นมากกว่าแค่การระดมทุนที่ข้ามพรมแดนซึ่งมีขนาดใหญ่โตมหาศาลด้วยต้นทุนที่ต่ำลง แต่ยังขยายความของธุรกรรมไปยังด้านต่างๆ ของธุรกิจที่แผ่ขยายไปต่อยอดได้มากมายในฐานะที่มีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญ ภายใต้โมเดลธุรกิจที่แตกต่างจากอดีตและปัจจุบันมากมาย
จุดเริ่มต้นของเงินเสมือนดิจิทัลในเมืองไทยที่บุกเบิกโดยกลุ่ม เจมาร์ท หรือ JMART ที่กล้าหาญชาญชัย อาศัยช่องโหว่จากการที่ ก.ล.ต.ยังมะงุมมะงาหรา ตั้งตัวไม่ทัน ดำเนินการก่อนมีกฎหมายบังคับใช้ ทำการระดมทุนผ่านเงินเสมือนอิเล็กทรอนิกส์ หรือ cryptocurrency เพื่อระดมทุนเริ่มต้น 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 660 ล้านบาท (โดยมีเป้าหมายชัดเจนว่าในอนาคตจะต้องมีการระดมทุนรวมประมาณ 300 ล้านดอลลาร์ หรือ 10,000 ล้านบาท เพื่อนำมาขยายธุรกิจปล่อยหรือบริหารสินเชื่อแบบกระจายศูนย์ อันเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อนในเมืองไทย และระบบธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน ก็ยังไม่มีใครยอมลงมือกระทำ
การที่ บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (JVC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ JMART ถือหุ้นสัดส่วน 80% เดินหน้าระดมทุนด้วยดิจิทัล โทเคน “JFin Coin” ต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก (Initial Coin Offering : ICO) โดยระบุใน white papers ;JK จำนวน JFin Coin ทั้งหมด 300 ล้านเหรียญ จะถูกนำมาทำ ICO ก่อนจำนวน 100 ล้านเหรียญ ที่หน่วยละ 6.60 บาท (เทียบได้กับ 0.20 ดอลลาร์สหรัฐ) โดยมีเป้าหมายที่ระบุว่า วัตถุประสงค์ของการระดมทุนจะนำไปพัฒนาระบบสินเชื่อแบบดิจิทัลที่ไม่มีตัวกลาง หรือ Decentralize Digital Lending Platform (DDLP) โดยจะเปิดขายพรีเซลวันแรก ระหว่างวันที่ 14-28 ก.พ.ปีนี้ และจะเปิดขายรอบ Initial Coin Offering จริงวันที่ 1-31 มี.ค.ปีนี้ ทำให้เกิดคำถามทางลบที่น่าเคลือบแคลงอย่างมาก
รัฐบาลถึงกับมีการตั้งคณะทำงาน 4 ฝ่ายเพื่อศึกษาว่าจะทำการสร้างกติกากำกับดูแลและป้องกันความเสีมยหายกันอย่างไร โดยกำหนดว่าจะให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน แต่กลุ่มเจมาร์ท ก็ยืนยันว่าจะไม่เลื่อน หรือ ยกเลิกการขายออกไป เพียงแต่ลดท่าทีลงว่า หากกติกาออกมาเป็นแบบไหน ก็ยินยอมรับทำตามกติกาทุกประการ ไม่มีข้อต่อรองใดๆ
ท่าทีของภาคเอกชน ทำให้ท่าทีของผู้เกี่ยวข้องในหน่วยงานรัฐเปลี่ยนไปเพราะหากพิจารณาข้อเท็จจริงแล้วจะพบว่า ความพยายามปิดกั้นใดๆ กับนวัตกรรมเงินเสมือนดิจิทัล อาจจะเป็นความเสียหายและสูญเสียโอกาสของธุรกิจไทยอย่างรุนแรงในอนาคต
นวัตกรรมของเงินเสมือนดิจิทัลมีทั้งด้านบวกและลบ ไม่ต่างจากเครื่องมือหรือนวัตกรรมใดๆ ที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมาในอารยธรรมของโลกหลายพันปีมานี้ การต่อต้านเพียงเพราะว่า เป็นสิ่งแปลกและไม่คุ้นเคย ย่อมมิใช่ท่าทีที่ถูกต้องหากว่าการต่อต้านนั้นกระทำ จากเหตุผลข้างๆ คูๆ แห่งความเขลาเบาปัญญาและความกลัว
ท่าทีล่าสุดของหน่วยงานรัฐไทยวานนี้ที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ สะท้อนให้เห็นท่าทีใหม่ที่น่าสนใจ
- นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า ประเทศไทยไม่ได้ปิดกั้นสกุลเงินดิจิทัล แต่จะต้องหาแนวทางการป้องกันไม่ให้ถูกนำไปใช้เป็นช่องทางการฟอกเงิน โดยมองว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ควรจะเป็นหน่วยงานหลักในการหาแนวทางการดูแลเรื่องดังกล่าว เนื่องจากอยู่ระหว่างการกำหนดหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลการระดมทุนด้วยการเสนอขาย ICO (Initial Coin Offering) อยู่แล้ว และยอมรับว่าประเทศไทยคงไม่สามารถหยุดกระแสหรือปิดกั้นเรื่อง Cryptocurrency ได้ เนื่องจากได้มีรูปแบบของการระดมทุนด้วยสกุลเงินดิจิทัล (ICO) มีลักษณะเหมือนการขายคูปองล่วงหน้า เพื่อให้ลูกค้านำไปใช้บริการด้านต่างๆ และคูปองดังกล่าวไม่รู้จะนำไปขายต่อหรือได้รับการเชื่อถืออย่างไร นักลงทุนต้องพิจารณาอย่างรอบคอบจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น แต่ถ้าทำแล้วได้ประโยชน์ก็ควรเปิดกว้างให้ดำเนินการได้ เพียงแต่จะต้องมีการควบคุม เพราะถ้าไม่ควบคุมมันจะเป็นช่องทางของการฟอกเงิน
- รมว.คลังระบุว่า เหตุที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ใช่หน่วยงานที่เหมาะสมที่จะเข้ามากำกับดูแลเรื่อง Cryptocurrency นั้น เนื่องจาก ธปท.มองว่า Cryptocurrency ไม่ใช่สกุลเงินที่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ซึ่งนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่า ธปท. ก็ย้ำว่า ธปท.ไม่ได้รับรองสกุลเงินดิจิทัล เช่น Bitcoin เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย
- สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. อยู่ระหว่างการยกร่างกฎหมายการแลกเปลี่ยนเงินสกุลดิจิทัลกับเงินบาท เพื่อให้มีการพิสูจน์ตัวตน หรือ KYC ว่าผู้ที่ทำธุรกรรมเป็นใคร เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้ช่องทางนี้ในการฟอกเงินหรือใช้เป็นช่องทางทำธุรกรรมผิดกฎหมาย
- แนวทางของก.ล.ต.ในการกำกับดูแลเงินเสมือนดิจิทัล มีความชัดเจนในระดับหนึ่งว่า จะจำกัดผู้เล่นให้อยู่ในแวดวงของนักลงทุนที่เป็น 1)นิติบุคคล 2)นักลงทุนสถาบัน 3)นักลงทุนประเภท high networks โดยให้มีการกำกับดูแลธุรกรรมโดยหน่วยงานของก.ล.ต.ชั้นหนึ่งก่อน
ท่าทีดังกล่าว คือความคืบหน้าเชิงบวกที่ถือว่า เป็นทางออกแบบ “แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” ที่น่าติดตามกันต่อไปว่า ตลาดทุนของไทยที่จะขับเคลื่อนในอนาคตโดยผ่านธุรกรรมของเงินเสมือนดิจิทัลนี้ จะมีเส้นทางอย่างไร และมีความซับซ้อนอะไรบ้าง ที่ต่างจากภาวะ “ตาบอดคลำช้าง”