พาราสาวะถี
การชุมนุมของ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย และกลุ่ม START UP PEOPLE เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเพื่อ “คิก ออฟ ประชาธิปไตย” แม้แกนนำจะถูกมองว่าเป็นคนหน้าเดิม แต่จำนวนคนที่ดูเพิ่มขึ้น ปะปนกันระหว่างขาเก่าเจ้าประจำกับคนหน้าใหม่ มากไปกว่านั้น คนส่วนใหญ่ที่ไปร่วมไม่ได้ยืนอยู่ฝั่งม็อบเหลืองม็อบแดง หรือม็อบคน(แกล้ง)เกลียดการเมืองอย่างกปปส. หากแต่เป็นคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่เรียกร้องถามหาประชาธิปไตย
อรชุน
การชุมนุมของ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย และกลุ่ม START UP PEOPLE เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเพื่อ “คิก ออฟ ประชาธิปไตย” แม้แกนนำจะถูกมองว่าเป็นคนหน้าเดิม แต่จำนวนคนที่ดูเพิ่มขึ้น ปะปนกันระหว่างขาเก่าเจ้าประจำกับคนหน้าใหม่ มากไปกว่านั้น คนส่วนใหญ่ที่ไปร่วมไม่ได้ยืนอยู่ฝั่งม็อบเหลืองม็อบแดง หรือม็อบคน(แกล้ง)เกลียดการเมืองอย่างกปปส. หากแต่เป็นคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่เรียกร้องถามหาประชาธิปไตย
ไม่เพียงเท่านั้น เสียงกู่ร้องของเหล่าแกนนำที่ถูกออกหมายจับไม่ว่าจะเป็น รังสิมันต์ โรม “จ่านิว” สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และทนายอานนท์ นำภา บรรดาพรรคการเมืองทั้งหลายหายศีรษะกันไปไหนหมด ทำไมจึงไม่มาร่วมกันเรียกร้องในยามที่บ้านเมืองถูกปกคลุมไปด้วยอำนาจเผด็จการ จึงเป็นที่มาของเสียงตอบรับจาก วัฒนา เมืองสุข ว่านัดหน้าเจอกัน
ต้องยอมรับว่าด้วยอารมณ์อันพุ่งพล่านในวัยฉกรรจ์ ความรู้สึก ความต้องการเป็นพลังอันบริสุทธิ์ จึงไม่ถูกครอบงำไปด้วยผลประโยชน์ในทุกความเคลื่อนไหว การใช้ชีวิตและอิสรภาพท้าทายอำนาจเผด็จการ ซึ่งเท่ากับว่าทุกความเคลื่อนไหวขาข้างหนึ่งแหย่เข้าไปในคุกแล้ว ดังนั้น จึงไม่แปลกที่จะถามหานักการเมืองผู้ที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของประชาชน ไปหดหัวอยู่ที่ไหนกัน
ต้องเข้าใจว่า หากเป็นนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งจะบอกว่าไม่หวังประโยชน์ใดเลยคงพูดยาก แต่อย่างน้อยก็คือส่วนที่เคยมีบทบาทเรียกร้องประชาธิปไตย เหตุผลที่ไม่ออกมาแสดงท่าทีหรือเข้าร่วมกับกลุ่มคนหนุ่มสาวเหล่านี้ เหมือนที่วัฒนาว่า ไม่อยากให้พลังบริสุทธิ์เหล่านั้นถูกแปดเปื้อน แล้วสุดท้ายก็จะเป็นการง่ายที่จะถูกฝ่ายกุมอำนาจ ชี้นิ้วกล่าวหาว่า กลุ่มผู้ชุมนุมมีเบื้องหลัง
ส่วนนักการเมืองอีกพวกก็จะเป็นฝ่ายที่มองว่าแกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวเหล่านี้มีเบื้องหลัง มองไปว่ามีเครือข่ายสายสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองหรือนักการเมืองบางพวก จึงส่งผลไม่ให้ราคากับสิ่งที่บรรดานักศึกษาและคนหนุ่มสาวเหล่านี้ออกมาเคลื่อนไหว ทั้งๆ ที่บางคนอย่าง เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล นิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ถามว่า มีใครกังขาหรือว่าเขารับงานใครมา
ต้องไม่ลืมว่า คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่อยู่ในกลุ่มที่ทำกิจกรรมเวลานี้ มีที่มาอย่างหลากหลาย จำนวนไม่น้อยก็เคยร่วมเวทีไล่ทั้ง ทักษิณ ชินวัตร และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กันมาแล้ว ดังนั้น จึงมองไม่ออกว่าจะไปกล่าวหาว่าคนรุ่นใหม่เหล่านี้จะมีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างไร ถึงขนาดที่ว่านายตำรวจผู้รับใช้ (อำนาจเผด็จการ) อย่าง พลตำรวจเอกศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ขู่ต้องตรวจสอบท่อน้ำเลี้ยงกันเลยทีเดียว
ขณะเดียวกัน ก็มีนักการเมืองอีกจำพวกที่ชัดเจนเป็นที่ประจักษ์ว่า เป็นพวกแทงกั๊กหรือเอนเอียงไปหาฝ่ายที่เกาะกุมอำนาจ รอจังหวะและเวลาจะเข้าสวามิภักดิ์ ดังนั้น คนกลุ่มนี้ อย่าได้ไปคิดไปหวังว่าจะเข้าร่วมกับขบวนการใดๆ เพราะสิ่งที่ทำได้และทำเป็นมาทั้งชีวิตคือ หาโอกาสเข้าร่วมกับผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะกลับมามีอำนาจและรอแสวงหาผลประโยชน์ยามเมื่อมีตำแหน่งแห่งหนเท่านั้น
เมื่อทุกอย่างล้วนมีเงื่อนไขอยู่ในตัว จึงมีคนกลัวก้าวย่างของการคิกออฟประชาธิปไตยนั้นจะเดินกันไปอย่างโดดเดี่ยว แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยยังเชื่อว่า ดูจากจำนวนคนจาก 27 มกราคม มาถึง 10 กุมภาพันธ์ บางทีการเคลื่อนไหวอย่างเป็นธรรมชาติ ไร้การจัดตั้ง อาจต้องใช้เวลาและความอดทน ซึ่งนั่นจะทำให้ผู้มีอำนาจวางตัวอยู่ในความประมาทไม่ได้ และจะต้องติดตามหรือหาทางที่จะจัดการกับแกนนำคนสำคัญของกลุ่มนี้ให้ได้
อย่างไรก็ตาม นอกจากการเฝ้าระวังและหาทางที่จะขีดวงหรือควบคุมกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยกลุ่มนี้แล้ว อีกด้านที่รัฐบาลคสช.หวังจะสร้างแนวร่วมอย่างมีนัยสำคัญนั่นก็คือ การเดินหน้าโครงการไทยนิยมยั่งยืน ที่มีเป้าหมายชัดคือการทำให้คนทั้งประเทศคิดและเห็นเหมือนที่ผู้มีอำนาจต้องการ หรือพูดง่ายๆ ประสาพวกถนัดทำปฏิบัติการข่าวสารหรือไอโอก็คือ การล้างสมอง นั่นเอง
แต่ไม่รู้ว่าจะทันการณ์หรือไม่ หากมองไปยังผลการสำรวจความเห็นของประชาชนจากหลายสำนัก ก็จะเกิดภาพความอึดอัดของประชาชนผ่านผลโพลเหล่านั้น ล่าสุด ก็เป็นคิวของสวนดุสิตโพลที่สำรวจความเห็นเรื่องความวิตกกังวลและความหนักใจของประชาชนที่มีในบ้านเมือง ณ วันนี้ ทั้งในเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ สังคม
ผลที่ได้คือ อันดับ 1 ไม่เกินความคาดหมายร้อยละ 78.32 กังวลปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ ปากท้อง รายได้ ค่าครองชีพสูง ของกิน-ของใช้แพง ด้วยเหตุผลมีหนี้สิน เงินไม่พอใช้ รายได้ไม่พอกับรายจ่าย มีภาระมาก ความเป็นอยู่ลำบาก สังคมเหลื่อมล้ำ ขณะที่อันดับ 2 คือเศรษฐกิจตกต่ำ การค้าการลงทุนไม่ดี ชี้กันชัดๆ ว่า กระทบต่อทุกภาคส่วน มีคนตกงาน ต่างชาติไม่ลงทุน ทำให้ประเทศไม่ก้าวหน้า คนไม่มีกำลังซื้อ
ส่วนอันดับ 3 เป็นเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนน และอันดับ 4 เป็นเรื่องการเมือง โดยเฉพาะการเลือกตั้งและความขัดแย้ง ที่ประชาชนเห็นว่า ความขัดแย้งยังมีอยู่ การทุจริตคอรัปชั่นก็ไม่ได้หายไปทำให้กระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศและอยากให้มีการเลือกตั้ง จึงตามมาด้วยข้อเสนอให้รัฐบาลดำเนินการตามโรดแมป จัดการเลือกตั้ง ปฏิรูปอย่างจริงจัง รับฟังความคิดเห็นและทุกฝ่ายร่วมมือกัน
แม้จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของประชาชน แต่เชื่อได้ว่าน่าจะสะท้อนความรู้สึกแทนประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศได้เป็นอย่างดี หากเป็นผู้บริหารที่ดีต้องมองอย่างเข้าใจและหาทางแก้ไข พร้อมทั้งอธิบายให้คนเข้าใจอย่างมีเหตุมีผล ไม่ใช่เต็มไปด้วยเล่ห์กลหรือเบี่ยงเบนประเด็น เนื่องด้วยเป้าหมายของตัวเองและพวกพ้องเวลานี้ ไม่ได้อยู่ที่การแก้ปัญหาเป็นด้านหลัก คิดแต่ว่าจะอยู่นานและสืบทอดอำนาจกันอย่างไร อ้างความหวังดีที่ต้องถามกันดังๆ ว่า หวังดีประสงค์ดีหรือหวังดีเพื่อหวังมีอำนาจต่อไปกันแน่