4.0 กับอนาคตไทย
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพิ่งมีเวลานั่งอ่านหนังสือบางๆ เล่มหนึ่งที่ (เขาว่า) ทรงอิทธิพลอย่างยิ่งในรอบหลายปีนี้ ไม่แพ้งานของโธมัส พิเก็ตตี้ เรื่อง Capital in the 21st Century หนังสือเล่มดังกล่าวชื่อว่า The Fourth Industrial Revolution เขียนครั้งแรกในปี 2559 โดยนักคิดชื่อดังร่วมสมัยของยุโรป Klause Schwab ชาวสวิส ผู้ก่อตั้งและบริหารสถาบันที่เรียกว่า World Economic Forum อันโด่งดังของเมืองดาวอสนั่นเอง
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพิ่งมีเวลานั่งอ่านหนังสือบางๆ เล่มหนึ่งที่ (เขาว่า) ทรงอิทธิพลอย่างยิ่งในรอบหลายปีนี้ ไม่แพ้งานของโธมัส พิเก็ตตี้ เรื่อง Capital in the 21st Century หนังสือเล่มดังกล่าวชื่อว่า The Fourth Industrial Revolution เขียนครั้งแรกในปี 2559 โดยนักคิดชื่อดังร่วมสมัยของยุโรป Klause Schwab ชาวสวิส ผู้ก่อตั้งและบริหารสถาบันที่เรียกว่า World Economic Forum อันโด่งดังของเมืองดาวอสนั่นเอง
อ่านจบแล้วสองรอบ เพราะหนังสือไม่หนามากนัก ก็เกิดคำถามขึ้นมากมายต้องใช้เวลากว่าจะนั่งไล่เรียงหาแกนหลักรวบยอดของคำถามได้ว่า ทำไมนโยบาย 4.0 ของรัฐบาลไทย (ใต้อำนาจของกองทัพและรัฐราชการรวมศูนย์ขนาดใหญ่เทอะทะที่ไร้ประสิทธิภาพ) ที่สนับสนุนให้ดำรงอยู่โดยกลุ่มทุนใหญ่ ที่ตั้งเอาไว้ 20 ปีตามแผนยุทธศาสตร์ปฏิรูปประเทศขนานใหญ่ ดูห่างไกลจากข้อสรุปและข้อเสนอแนะในหนังสือเล่มนี้อย่างมาก จนเสมือนว่า จะเดินไปคนละทิศตรงข้ามกันเลยด้วยซ้ำ
ถ้าผมไม่เพี้ยนจนฟั่นเฟือน ก็คงได้แต่คาดเดาว่า ผลลัพธ์ของเส้นทางที่เดินไปในอนาคตของสังคมไทยและสังคมโลก น่าจะไม่สามารถมาบรรจบกันได้เลย โดยไม่ต้องพูดไว้ล่วงหน้าอย่างมีอคติว่า ใครถูกใครผิด
เอาเป็นว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ไม่ใช่ และต่างกันกับนโยบาย 4.0 ของรัฐไทยชนิดไปด้วยกันไม่ได้ หากไม่มีการเล่นลิ้นเพื่อเอาสีข้างเข้าถู
ตามนิยามของเคล้าส์ ชวาบ การปฏิวัติอุตสาหกรรมในโลกผ่านมาแล้ว 3 ครั้ง ประกอบด้วย
- ครั้งแรก กลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 เริ่มที่อังกฤษ โดยเป็นการใช้ประโยชน์จากพลังน้ำและไอน้ำมาหมุนเครื่องจักรกลเพื่อพัฒนาการผลิต
- ครั้งที่สอง ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 กระจายตัวไปทั่วยุโรป เป็นการใช้พลังไฟฟ้ามาทำการผลิตสินค้าแบบแมสอย่างกว้างขวาง
- ครั้งที่สาม ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นการปฏิวัติด้านอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสื่อสารเพื่อนำมาผลิตสินค้าแบบอัตโนมัติอย่างแพร่หลาย
ปัจจุบัน ที่เขาเรียกว่าเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 มองว่านี่คือการ “สังเคราะห์ภูมิปัญญา 4 กลุ่มจากเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ผสมผสานจนกระทั่งเส้นแบ่งขององค์ความรู้ทางกายภาพ ดิจิทัล และชีวภาพ เหลื่อมซ้อนกันจนแทบจะไม่เหลือความชัดเจน องค์ความรู้ทั้ง 4 ประกอบด้วย
- contextual intelligence (จิตสำนึก) หมายถึง ภูมิปัญญาที่ทำให้เราเข้าใจและปรับเปลี่ยนความรู้ใหม่ๆ โดยมีผู้นำในสังคมขับเคลื่อนอย่างยืดหยุ่นเพื่อดึงศักยภาพของพลังร่วมออกมา
- emotional intelligence (หัวใจ) หมายถึง ภูมิปัญญาที่ทำให้เราดัดแปลงและผนวกความคิด กับอารมณ์ แล้วเชื่อมโยงเข้ากับตัวเราและคนรอบข้าง โดยผ่านการสังเคราะห์ความรู้ที่แตกส่วนกันให้สามารถเชื่อมร้อยเข้าด้วยกันเพื่อสร้างพลังผนึกขึ้นมา
- inspired intelligence (วิญญาณ) หมายถึง ภูมิปัญญาที่เราใช้ประสาทสัมผัสของบุคคลเข้ากับเจตนารมณ์ ความเชื่อถือ และคุณธรรมร่วม ของผู้อื่น เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและการกระทำที่มุ่งไปสู่สินค้าและบริการองค์รวม ผ่านการกระทำที่ต่อเนื่องเพื่อปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์เฉพาะหน้ากับระยะยาวเข้าด้วยกัน
- physical intelligence (ร่างทางกายภาพ) หมายถึง ภูมิปัญญาที่บ่มเพาะและธำรงไว้ซึ่งสุขภาพและการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพ และยังสามารถเผื่อแผ่ไปยังบุคคลอื่นรอบตัวให้มีสภาวะที่เหมาะสมกับพลังของบุคคลและระบบที่กำลังกลายสภาพไปอย่างต่อเนื่อง เป็นกลไกคัดกรองภูมิปัญญาอื่นๆ ให้เหมาะสมและปฏิบัติได้ ผ่านกระบวนการตัดสินใจครั้งแล้วครั้งเล่า
วิเคราะห์เชิงลึกแล้ว เห็นได้ว่า กระบวนทัศน์ของการปฏิวัติอุตสาหกรรรมครั้งที่ 4 เรียกร้องต้องการให้กลไกหลักในการขับเคลื่อนพึ่งพาหลักการว่าด้วยความคิดวิทยาศาสตร์ที่ผ่านการครุ่นคิด วิจัย ลองผิดลองถูก ถกเถียงผ่านความหลากหลายก่อนมีข้อสรุปร่วม ตรงกับหลักการของพฤติกรรมทางสังคมที่เราเรียกว่า “ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ” (deliberative democracy) หลักการดังกล่าว เกิดขึ้นมาในลักษณะ “จากเล็กสู่ใหญ่เมื่อไม่เกิน 200 ปีมานี้เอง แตกต่างจากหลักการคร่ำครึในอดีตกาลที่เชื่อและยึดถืออย่างโง่งมมายาวนานนับพันปีว่า “ความเชื่อ ความศรัทธา ค่านิยม และศาสนา” เท่านั้น ที่ทำให้ชีวิตคนเปลี่ยนแปลงได้
การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของมนุษย์ เกิดขึ้นมาจากความสามารถในการเผยแพร่ความรู้ที่ทำให้มนุษย์ตระหนักว่า เทคโนโลยี (ที่มีรากฐานจากความคิดวิทยาศาสตร์) คือ ต้นธารสำคัญของแรงผลักดันให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หวนคืนสภาพเดิมได้
เทคโนโลยีสำคัญแรกสุด หนีไม่พ้น แท่นพิมพ์ของ กูเตนเแบร์ก ที่ประดิษฐ์ขึ้นในปี ค.ศ. 1439 ซึ่งมีผลทำให้การผูกขาดความรู้ในคนกระจุกเดียวในรั้วศาสนจักรถูกทำลายลง และคนส่วนใหญ่ในโลกทุกวันนี้สามารถอ่านออกเขียนได้
เขียนมาถึงตรงนี้ ทำให้อดคิดถึงข้อเขียนของใครบางคนเมื่อไม่นานมานี้ที่บอกว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ไม่มีทางเกิดในสังคมที่คนยังกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ (รวมทั้งต้นไม้ หรือ สัตว์พิการ) และคนชั้นนำบางคนยังถือคติว่า มนุษย์บางคน มีสถานะเหนือกว่าโดยธรรมชาติกว่าคนส่วนใหญ่ในสังคม
อีกไม่นาน เราอาจจะได้เห็นการปะทะกันซึ่งหน้าระหว่างการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 กับนโยบาย 4.0 และก็คงคาดเดาไม่ยากว่าใครจะชนะ ใครจะแพ้