เสียงปี่กลองแสนล้านบาท/ปี
คำยืนยันล่าสุดจากรัฐมนตรีพลังงาน นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ เกี่ยวกับการเปิดประมูลใหม่แปลงสำรวจ-ขุดเจาะแก๊สธรรมชาติ (และน้ำมัน) 2 แหล่งสำคัญในอ่าวไทยคือแหล่งเอราวัณ และบงกช ซึ่งเป็นแหล่งเก่าแก่ และมีกำลังการผลิตรวมมากถึง 3 ใน 4 ของผลผลิตทั้งหมดในอ่าวไทยว่า เงื่อนไขหรือ TOR จะเสร็จสิ้นตามกำหนดที่วางไว้ คือภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
คำยืนยันล่าสุดจากรัฐมนตรีพลังงาน นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ เกี่ยวกับการเปิดประมูลใหม่แปลงสำรวจ-ขุดเจาะแก๊สธรรมชาติ (และน้ำมัน) 2 แหล่งสำคัญในอ่าวไทยคือแหล่งเอราวัณ และบงกช ซึ่งเป็นแหล่งเก่าแก่ และมีกำลังการผลิตรวมมากถึง 3 ใน 4 ของผลผลิตทั้งหมดในอ่าวไทยว่า เงื่อนไขหรือ TOR จะเสร็จสิ้นตามกำหนดที่วางไว้ คือภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้
จากนั้นในเดือนมีนาคมก็จะมีการออกหนังสือเชิญชวนให้บริษัทต่างๆ ทั่วโลกเข้ามาประมูลตามเงื่อนไขที่กระทรวงพลังงานกำหนด
แม้ว่าการประมูลเพียงแค่ 2 แปลง อาจจะไม่ได้ใหญ่โตเท่าเทียมกับ 29 แปลงของประเทศเม็กซิโกเมื่อเร็วๆ นี้มีเปิดประมูลทีเดียว 29 แปลง และได้ผู้ชนะไปถึง 24 แปลง โดยไม่มีคนสนใจ 5 แปลง แถมยังมีความยากลำบากกว่าในแหล่งอื่นๆ เพราะมีลักษณะเชิงกายภาพของแหล่งปิโตรเลียมที่จำเพาะกระจายตัวกันทั่วไป แต่ก็ยังคงเป็น “ขุมทรัพย์ใต้ทะเล” ที่ยังมีมูลค่าสูงมากเพียงพอที่จะลงมือสร้างมูลค่าเชิงธุรกิจได้
อย่างน้อยที่สุด แหล่งเอราวัณก็เป็นแหล่งที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับเจ้าของสัมปทานเดิม คือ ยูโนแคล (ปัจจุบันคือเชฟรอน) มานานกว่า 3 ทศวรรษ ปีละนับแสนล้านบาท
แถมอีกแหล่ง คือ บงกชก็ดำเนินการขุดเจาะโดย ปตท.สผ. บริษัทที่เป็น “วัวให้น้ำนมเป็นทองคำ” ของ กลุ่มปตท.มานานกว่า 2 ทศวรรษเช่นกัน
ที่ผ่านมา การเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่อ่าวไทยทั้ง 2 แหล่ง ที่จะหมดสัญญาสัมปทานไล่เลี่ยกัน ในปี 2565-2566 มีความล่าช้าอย่างมาก เพราะข้อถกเถียงเชิงนโยบายที่ว่าจะยังคงเป็นระบบให้ใบอนุญาตสัมปทานแบบเดิม หรือระบบแบ่งปันผลประโยชน์ (PSC profit-sharing contract) ซึ่งแม้ว่าจะมีส่วนแบ่งที่รัฐไทยจะได้รับผลประโยชน์ไม่ต่างกันมากนัก แต่มีรายละเอียดที่ต่างกันออกไป
จนกระทั่งมีการแก้ไขกฎหมายที่เปิดทางเลือกในการให้ใบอนุญาตหลายรูปแบบยืดหยุ่น และเริ่มเดินหน้าถึงขั้นมีการพิจารณาร่างกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตทั้งหมดที่ต้องผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ที่เหลือต่อไป
โดยเฉพาะร่างกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับสัญญาแบ่งปันผลผลิตทั้ง 3 ฉบับ และร่างประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม ในกฎหมายลูกทั้ง 4 ฉบับ ที่จะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้การประมูลสัมปทานที่จะหมดอายุ คือแหล่งบงกช และแหล่งเอราวัณเดินหน้าต่อไปได้ เนื่องจากการประมูลมีความล่าช้ามาระยะเวลาหนึ่งแล้ว
ความชัดเจนที่รัฐมนตรีพลังงานปัจจุบันได้ย้ำชัดเจน ทำให้การแข่งขันอันเร้าใจเริ่มต้นขึ้น ตั้งแต่นี้ไป
แม้ว่าในเชิงรูปธรรม เจ้าของสัมปทานเดิมอย่างเชฟรอนและปตท.สผ. จะมีแต้มต่อค่อนข้างสูงกว่าคู่แข่งรายใหม่ๆ เพราะมีความเชี่ยวชาญในพื้นที่ ซึ่งหาก 2 บริษัทเป็นผู้ชนะในการประมูลครั้งนี้ จะทำให้การผลิตปิโตรเลียมจากทั้งแหล่งบงกชและเอราวัณมีความต่อเนื่อง ซึ่งในประเด็นนี้กรมเชื้อเพลิงฯ ให้ความสำคัญอย่างมาก แต่ในการแข่งขันนั้น ไม่จำเป็นเสมอไป เพราะคู่แข่งที่คาดว่าจะเสนอตัวเข้ามาก็ไม่ใช่บริษัทกระจอกงอกง่อยที่ไหนเลย
อย่างน้อย รายชื่อที่มีการเปิดโผเบื้องต้นออกมา (แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าจะเข้าแข่งประมูลจริงจังแค่ไหน) อย่าง 3 รายนี้ คือ 1) กลุ่มบริษัทมูบาดาลา (Mubadala Petroleam หรือ (MP) 2) กลุ่มคูเวต บริษัท KUFPEC Thailand Holdings Pte. Limited บริษัทในเครือ Kuwait Foreign Exploration Company และ 3) กลุ่มบริษัท ไชน่า เนชั่นแนล ปิโตรเลียม คอร์ปอเรชั่น หรือซีนุค (CNOOC : China National Petroleum) ก็คงทำให้เชฟรอน และ ปตท.สผ.หนาวๆ ร้อนๆ ได้ไม่น้อยเลย
กลุ่มบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม บริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานประเทศสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีประสบการณ์ไม่ธรรมดาในระดับโลก
ส่วนกลุ่มคูเวต นับว่ามีจุดแข็งสำคัญคือ มีเงินมหาศาลที่พร้อมสำหรับการลงทุน มีประสบการณ์ รวมถึงยังมีเทคโนโลยีด้านการสำรวจและผลิตขั้นสูงที่เป็นจุดแข็ง แต่ก็ต้องแก้โจทย์เรื่องรอยต่อของในปี “2565-2566” ว่าจะทำอย่างไรให้ยังรักษาการผลิตตามที่กรมเชื้อเพลิงฯกำหนด
รายสุดท้าย กลุ่มซีนุค (CNOOC) มีความพร้อมในเรื่องเงินลงทุน แต่ก็มีจุดอ่อนในแง่ของความเชี่ยวชาญในธุรกิจสำรวจและผลิตในต่างประเทศน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่นๆ แต่เมื่อเทียบความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทยแล้วก็มีความท้าทายอย่างมาก เพราะไม่เช่นนั้น ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ คงไม่ส่งเทียบเชิญให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเข้าเหยียบทำเนียบขาวเพื่อเจรจา พร้อมกับตัวแทนของเชฟรอนในไทยอย่างแน่นอน
สำหรับ ปตท.สผ.ซึ่งดูผิวเผิน จะมีความได้เปรียบชนิด “นอนมา” จากมุมมองของนักชาตินิยมทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นบริษัทพลังงานของไทย ผลประโยชน์จากการพัฒนาปิโตรเลียมทั้งหมดก็จะหมุนเวียนอยู่ในประเทศ และยังมีประโยชน์ทางอ้อมด้วย เพราะมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งกระทรวงการคลังก็ถือหุ้นใน ปตท.อีกด้วย ก็คงไม่น่าที่จะอาศัยจุดนี้จุดเดียวมาอ้าง เพื่อกลบความอ่อนด้อยด้านอื่นๆ คว้าชัยชนะในการประมูลได้ง่ายๆ
ผู้บริหารของบริษัทนี้ก็ประกาศหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมาว่า พร้อมเต็มที่สำหรับการเข้าร่วมประมูลแปลงสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุ ทั้งแหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณ เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ และยืนยันความพร้อมกับระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) เพราะมีประสบการณ์การทำงานภายใต้รูปแบบนี้ในโครงการต่างประเทศ
เสียงปี่กลองของผลประโยชน์ปีละนับแสนล้านบาทในอ่าวไทย จะเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ จนถึงเมื่อรู้ผลการประมูล ซึ่งคาดว่าจะเป็นต้นปี 2562
อย่าได้คลาดสายตากันเลยทีเดียว เพราะเดิมพันงานประมูล 2 แหล่งนี้สูงยิ่ง แม้ไม่สูงที่สุดในโลก