เกมเจ๊กกระซิบ

กรณีข่าวเกี่ยวกับ “แบงก์กิ้ง เอเย่นต์” ที่ถูกนำไปขยายความเกินจริง ยิ่งตอกย้ำให้เห็นชัดว่า การเล่นเกม “เจ๊กกระซิบ” (หรือ Chinese Whispers) นั้นง่ายดายยิ่งนักในสังคมไทย


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

กรณีข่าวเกี่ยวกับ “แบงก์กิ้ง เอเย่นต์” ที่ถูกนำไปขยายความเกินจริง ยิ่งตอกย้ำให้เห็นชัดว่า การเล่นเกม “เจ๊กกระซิบ” (หรือ Chinese Whispers) นั้นง่ายดายยิ่งนักในสังคมไทย

เกมเจ๊กกระซิบนั้น มีหลักการง่ายๆ ว่า ให้ผู้เล่นเรียงแถวหน้ากระดานห่างกัน แล้วให้คนแรกกระซิบข้อความสั้นๆ กับคนที่สอง จากนั้นคนที่สองก็กระซิบต่อให้คนที่สาม และคนที่สามกระซิบต่อให้คนที่สี่….ไปจนหมดแถว จะได้ผลลัพธ์ว่า ประโยคที่คนแรกกระซิบ กับคนสุดท้ายได้รับนั้น เป็นคนละเรื่องกัน สะท้อนว่าช่องว่างของการสื่อสารที่ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน

เริ่มต้นตั้งแต่ เมื่อบ่ายวันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์จากที่ นางสาวดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. ออกมาระบุว่า นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ได้ลงนามในหลักเกณฑ์การเป็นตัวแทนธนาคาร หรือ แบงก์กิ้งเอเยนต์แล้ว ซึ่งคาดว่าในเร็วๆ นี้ จะมีประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ เพื่อให้ประชาชนเข้ารับบริการทำธุรกรรมจากตัวแทนธนาคาร เช่น ร้านค้าโชห่วย และร้านสะดวกซื้อ

หลังจากการกระซิบข่าว รายงานก็ขยายออกไป มีตีความในข่าวสารว่า ร้านสะดวกซื้อตามที่มีประกาศอย่างเป็นทางการจาก ธปท.ที่มีความเป็นไปได้สูงสุด ที่จะได้รับโอกาส หนีไม่พ้นร้าน 7-Eleven ของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) นั่นเอง

ผลพวงของการตีความดังกล่าว (ซึ่งไม่รู้ใครเริ่มต้นก่อน) เป็นตุเป็นตะขึ้นว่า เนื่องจาก 7-Eleven มีจำนวนสาขามากกว่าใครทั่วประเทศ มีระบบการบริหารจัดการที่ช่ำชอง สามารถเพิ่มโอกาสและเพิ่มศักยภาพของการเป็นเจ้าตลาดร้านสะดวกซื้อ ที่แทบจะไม่มีคู่แข่งเหลืออยู่

สื่อออนไลน์หลายแห่ง ลงข้อความเลยเถิดไปว่า 7-Eleven มีโอกาสได้รับใบอนุญาตแบงก์กิ้งเอเย่นต์ก่อนใคร ทำนองเดียวกันกับ Seven Bank ในญี่ปุ่น

ประเด็นอนุญาตให้ 7-Eleven ทำเอเยนต์แบงก์กิ้งได้ ถูกนำไปถามปลัดกระทรวงการคลัง นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ต้นตำนาน “เห็บสยามตัวพ่อ” ที่ตอบคำถามโดยไม่รั้งรอว่า กระทรวงการคลังเห็นด้วยและสนับสนุนแนวคิดของ ธปท. เรื่องการจัดตั้งแบงก์กิ้งเอเย่นต์ เพราะเชื่อว่า เมื่อ ธปท. ออกนโยบายใดๆ จะมีความรัดกุม มีข้อจำกัด มีเงื่อนไขที่รัดกุมพอสมควร และมีพ่วงท้ายแถมว่า กรณีร้าน 7-Eleven จะเข้ามาขอทำธุรกิจแบงก์กิ้งเอเย่นต์ ถือว่ามีความเหมาะสม เพราะที่ผ่านมามีการเปิดให้บริการรับชำระค่าสาธารณูปโภคอยู่แล้ว

เกมเจ๊กกระซิบระบือไกลถึงขั้นที่นักวิเคราะห์หุ้นเอาไประบุว่า จะเป็นผลดีทำให้ราคาหุ้นของ CPALL บวกขึ้นไปอีกกี่บาท ขณะที่ราคาหุ้นของ FSMART ที่เป็นแบงก์กิ้งเอเย่นต์เดิมผ่านตู้บุญเติม จะเสียหายเท่านั้น เท่านี้ ทุบราคาหุ้นลงมาหนักสุดทั้งบ่ายวันศุกร์และเช้าวันจันทร์

นักคิดบนสื่อออนไลน์พากันโพสต์ข้อความที่เชื่อว่าเป็นความรู้ เช่น 1) มีประเด็นเรื่อง ผลประโยชน์ ใครได้ ใครเสีย แน่นอน 2) งานนี้ 7-Eleven กินเรียบแน่นอน ประชาชนย่อมได้ประโยชน์บ้าง ก็แค่ข้ออ้าง 3) พนักงานธนาคารต้องตกงาน เพราะถูกแทนที่ด้วยพนักงานร้านโชห่วย

ก่อนที่สถานการณ์ “เจ๊กกระซิบ” จะบานปลายเลยเถิดจนกู่ไม่กลับ นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. ก็ออกมาสกัดข่าวลือว่า มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน ความจริงแล้ว ธปท. ไม่ได้อนุญาตให้เอกชนมาขอใบอนุญาตทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ใหม่ และยังไม่มีนโยบายให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่ เพียงแต่ ได้ปรับปรุงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับช่องทางการให้บริการของธนาคารพาณิชย์ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับบริการการเงินได้สะดวก และทั่วถึง

คำชี้แจงแรก ไม่มีผลมากนัก ทำให้วานนี้ ธปท.ต้องจัดการแถลงข่าวซ้ำ คราวนี้ คนแถลงข่าวคือ นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. มายืนยันชัดเจนขึ้น ว่า ธปท. ไม่ได้เป็นผู้ที่ให้ใบอนุญาตแต่งตั้ง 7-Eleven เป็นธนาคารพาณิชย์ แต่เคยมีประกาศตั้งแต่ปี 2553 อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถแต่งตั้งตัวแทนการให้บริการทางการเงิน (แบงก์กิ้งเอเย่นต์) ได้ ซึ่งสอดคล้องกับประเทศอื่นอย่าง มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย และบังกลาเทศ และบริการนี้ก็ได้ทำไปแล้วบางส่วน เช่น ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งได้แต่งตั้ง บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด (บริษัทในเครือซีพีออลล์ ผู้บริการร้านเซเว่นอีเลฟเว่น) ในสาขาร้าน 7-Eleven, บิ๊กซี, เทสโก้ โลตัส เป็นต้น ทำธุรกรรมด้านรับชำระเงิน และมีธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ตั้งเคาน์เตอร์เซอร์วิส เป็นผู้ให้บริการถอนเงินให้ลูกค้าที่มีคนโอนให้ เพื่อให้บริการลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรือไม่มีสาขาธนาคารในพื้นที่

นอกจากนี้ ยังมีธนาคารบางแห่งตั้ง ตู้บุญเติม ตู้เติมสบาย และแอพพลิเคชันแอร์เพย์ เป็นแบงก์กิ้งเอเย่นต์อยู่แล้ว สามารถรับฝากเงินหรือโอนเงินจากทั้ง 3 แหล่ง เข้าบัญชีธนาคารได้

เพียงแต่ ขณะนี้ ธปท.ได้ปรับปรุงเกณฑ์แบงก์กิ้งเอเย่นต์ใหม่ ที่อยู่ระหว่างรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าจะออกมาช่วงต้นเดือน มี.ค. 2561 นี้ โดยเกณฑ์ใหม่จากเดิมที่ธนาคารเคย ต้องมาขออนุญาตการตั้งเอเย่นต์ ก็ทำได้เลย เพียงแต่ต้องมีการส่งแผนงานการบริหารจัดการสาขา โดยรวมไปถึงการให้บริการ ซึ่งแผนงานนี้ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการธนาคารแล้ว จากเดิมที่ต้องมีขออนุญาตเป็นรายๆ

ที่สำคัญ ยังมีข้อกำหนดผ่อนคลายคุณสมบัติของแบงก์กิ้งเอเยนต์ จากเดิมที่อนุญาตให้เฉพาะธนาคารพาณิชย์อื่น หรือ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และนิติบุคคล ได้มีการเพิ่มให้กว้างขึ้นเป็น นิติบุคคล เช่น สหกรณ์ กองทุนหมู่บ้าน และบุคคลธรรมดา อย่างร้านโชห่วยที่ขายของอยู่ในชุมชน เป็นเอเยนต์ได้ ซึ่งต้องมีหลักแหล่งชัดเจน มีเครื่องมืออุปกรณ์และระบบที่เหมาะสม  โดยผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติและประเมินความเสี่ยง เพราะหากมีความเสียหายธนาคารต้องรับผิดชอบ

แถมยังผ่อนคลายเพิ่มเติมให้เพิ่มบริการรับถอนเงิน และการจ่ายเงินให้ผู้ใช้บริการลูกค้ารายย่อย ไม่เกิน 5,000 บาทต่อรายการและไม่เกิน 20,000 บาทต่อวัน สำหรับผู้บริการแต่ละราย ส่วนค่าธรรมเนียมให้บริการ ขึ้นอยู่กับธนาคารเป็นผู้กำหนด

คำถามว่า กรณีนี้ จะส่งผลกระทบให้สาขาแบงก์ลดลงหรือไม่ มีคำตอบว่า เป็นเรื่องคาดการณ์ได้ยาก เพราะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมลูกค้าว่าชอบใช้บริการแบบใด เพราะปัจจุบันการชำระเงินหรือโอนเงิน สามารถใช้บริการได้ทั้ง สาขา หรือโมบายแบงก์กิ้ง หรืออินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง หรือแบงก์กิ้งเอเย่นต์ เป็นการเพิ่มช่องทางเลือกให้บริการยืดหยุ่นขึ้น

ชี้แจงมาขนาดนี้ก็คงทำให้คนเข้าใจกัน และจบเกมเจ๊กกระซิบกันไปได้ 

โดยเฉพาะนักวิเคราะห์หุ้นจินตนาการสูงที่เที่ยวเชียร์และทุบราคาหุ้นจากความอวดฉลาดเหนือจริง ที่น่าจะ “หงายเงิบ” กันไปพอสมควร

Back to top button