เดิมพันรัฐทหาร

“ธรรมชาติของคน พออยู่นานก็รู้สึกเบื่อ อยากหาสิ่งที่ดีกว่า แต่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ดีกว่าคืออะไร”


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

“ธรรมชาติของคน พออยู่นานก็รู้สึกเบื่อ อยากหาสิ่งที่ดีกว่า แต่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ดีกว่าคืออะไร”

ผู้บัญชาการทหารบกยอมรับ ว่าคนส่วนใหญ่อยากเลือกตั้ง เหมือนๆ กับกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยที่ออกมาเคลื่อนไหว เพียงแต่คนส่วนใหญ่เข้าใจเหตุผลขั้นตอน จึงยอมให้เวลาอีกระยะหนึ่ง ดีกว่าออกมาเผชิญหน้ากัน

ใช่เลยนะนั่น ท่านพูดถูก แม้มีข้อโต้แย้งบางมุม เช่นคนส่วนใหญ่อาจไม่เข้าใจเหตุผลขั้นตอนหรอก ไม่ชอบใจหรอก ที่เลื่อนเลือกตั้ง แต่ไม่รู้จะเอาไงดี ไม่มีสิ่งที่ดีกว่า จึงยังไม่อยากเผชิญหน้า

ซึ่งก็น่าย้อนถามว่า เมื่อคนที่ออกมาเคลื่อนไหว มีความรู้สึกสอดคล้องกับคนส่วนใหญ่ ทำไมจึงโดนข้อหาอุกฉกรรจ์ ทั้งขัดคำสั่ง คสช. บ่อนทำลายความมั่นคง กระทั่ง Amnesty International ระดมนักสิทธิทั่วโลก 7 ล้านคน ส่งจดหมายถึงรัฐบาล ให้เลิกตั้งข้อหา

ไม่คิดเลยหรือว่า คนส่วนใหญ่ที่อยากเลือกตั้งจะรู้สึกอย่างไร

คนส่วนใหญ่อยากเลือกตั้ง แต่สิ่งที่รัฐบาล กองทัพ มหาดไทย มอบให้ประชาชน กลับเป็น “ประชาธิปไตยไทยนิยม” ซึ่งจะจัดทหารราว 8,000 คนร่วมทีมขับเคลื่อนไทยนิยม 7,663 ทีม ลงพื้นที่ 4 ช่วง ดีเดย์วันที่ 21 ก.พ.นี้ ไปจน 20 พ.ค. เป็นเวลา 90 วันเท่ากับเลื่อนเลือกตั้ง และฉลอง 4 ปีรัฐประหารพอดี

ทหาร ข้าราชการ จะไปสอนชาวบ้านให้รู้จักประชาธิปไตย ซึ่งตามคำกล่าวของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา คือทำให้ประชาชนรู้ว่าต้องเลือกคนเก่งคนดี

ใครก็รู้ว่าการลงพื้นที่เพื่อปรับ Mind Set ในหัวประชาชน มีความมุ่งหมายอะไร ในเมื่อการเมืองวิเคราะห์ได้ง่ายๆ ว่าจะไปสู่นายกฯ คนนอก จะตั้งพรรคใหม่ เป็นฐานให้คนที่คุณก็รู้ว่าใคร

ในเชิงระบบ ยังมีความหมายยิ่งกว่า “หาเสียง” (ให้คนดี) นี่คือความพยายามจะสร้างระบอบที่มีเลือกตั้ง ดูเหมือนมีประชาธิปไตย แต่มีรัฐราชการเป็นผู้ชี้นำ คล้ายๆ “ประชาธิปไตยอัตลักษณ์จีน” นั่นแหละ แต่ต่างกันคือมีเลือกตั้ง และเปลี่ยนจากพรรคคอมมิวนิสต์มาเป็นรัฐราชการที่ชูอุดมการณ์ความมั่นคงของชาติ ศาสน์ กษัตริย์ โดยมีกองทัพเป็นแกนอำนาจ

นี่คือความพยายามที่อาจหาญมาก แต่เดิมพันสูง เพราะคิดจะวางระบอบที่ไม่เคยมีมาก่อน และฝืนความต้องการของสังคม ให้ยืนยงไปอีกอย่างน้อย 20 ปี

เข้าใจตรงกันนะ ที่พูดๆ ว่าสืบทอดอำนาจ ในความเป็นจริง ไม่ใช่แค่ รสช.ปี 2535 แต่มองย้อนหน้าย้อนหลังก็ไม่เคยมีคณะรัฐประหารชุดใดเคลื่อนย้ายอำนาจมาอยู่ในระบอบเลือกตั้งสำเร็จ

จอมพลถนอมให้มีเลือกตั้งปี 2512 นั่งนายกฯ เอง 2 ปี ก็บริหารไม่ได้ ต้องรัฐประหารตัวเอง แล้วอีก 2 ปีก็ถูกโค่น รัฐประหาร 2549 ไม่คิดเป็นรัฐบาลเอง วางกลไกให้การเมืองย้อนยุคไปก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ไหนได้ พรรคพลังประชาชนชนะถล่มทลาย

คนมักมองว่าป๋าเปรมอยู่ได้ 8 ปี แต่ลืมว่าป๋ามาทีหลัง รัฐประหาร 6 ตุลา 2519 ตั้งรัฐบาลหอย วางยุทธศาสตร์ชาติไม่มีเลือกตั้ง 12 ปี พล.อ.เกรียงศักดิ์ทำรัฐประหารซ้อน โค่นรัฐบาลหอย ประกาศเลือกตั้ง ประนีประนอมกับฝ่ายต่างๆ พล.อ.เปรม จึงมาสานต่อสร้างฉันทามติ “ครึ่งใบ” อยู่ได้ 8 ปี

ข้อแตกต่างวันนี้คือ ไม่มีฉันทามติ มีแต่หักหาญ พยายามวางระบอบฝืนโลกฝืนสังคม ทั้งที่เห็นอยู่ว่าเป็นไปได้ยากมาก ต่อให้นายกฯ คนนอกตั้งได้ ก็อาจอยู่ไม่ได้ ซึ่งจะกลายเป็นวิกฤติร้ายแรงกว่าทุกครั้ง นี่เป็นเดิมพันสูงมาก ของรัฐบาลทหาร ของกองทัพ

Back to top button