นรกรออยู่ ในรัฐล้มเหลว

ถ้าหากตัดประเด็นเรื่องถูก-ผิด และแบ่งฝ่ายเชียร์ออกไปเพื่อตัดอคติแล้ว กรณี “ป้าทุบรถ” ที่เขตประเวศ กทม. เป็นมากกว่าภาพสะท้อนความล้มเหลวของระบบรัฐไทยที่มีคนจำนวนไม่น้อยเริ่มตั้งคำถามว่า อนาคตของประเทศนี้ หากไม่มีมาตรา 44 ให้ใช้ คงแทบจะไม่มีวันเดินหน้าได้เลย เพราะกระบวนการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่รัฐถูกขับด้วยเงื่อนไขที่มีเนื้อหาหลัก “ไม่ทำอะไร ไม่ผิด”


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

ถ้าหากตัดประเด็นเรื่องถูก-ผิด และแบ่งฝ่ายเชียร์ออกไปเพื่อตัดอคติแล้ว กรณี “ป้าทุบรถ” ที่เขตประเวศ กทม. เป็นมากกว่าภาพสะท้อนความล้มเหลวของระบบรัฐไทยที่มีคนจำนวนไม่น้อยเริ่มตั้งคำถามว่า อนาคตของประเทศนี้ หากไม่มีมาตรา 44 ให้ใช้ คงแทบจะไม่มีวันเดินหน้าได้เลย เพราะกระบวนการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่รัฐถูกขับด้วยเงื่อนไขที่มีเนื้อหาหลัก “ไม่ทำอะไร ไม่ผิด”

นอกจากนั้น ยังบ่งชี้ชัดว่า กระบวนการบังคับใช้กฎหมายในปัจจุบันไม่ทำงานตามปกติ ถึง 2 ทางพร้อมกัน คือ 1) ไม่เพียงเพิ่มความยุติธรรมให้กับประชาชนกลุ่มต่างๆ มากขึ้น 2) เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐระดับต่างๆ สามารถพบช่องฉ้อฉลและลุแก่อำนาจมากขึ้นจากการใช้ดุลยพินิจอย่างเบี่ยงเบน

กรณีศึกษาที่กลไกบังคับใช้กฎหมายของรัฐเพิกเฉยต่อการใส่ใจทุกข์สุขประชาชนอย่างยุติธรรมตามหน้าที่พึงกระทำ จนกระทั่งมีคนลุกขึ้นมาใช้ความรุนแรงแก้ปัญหากันเองแบบคนเถื่อน ด้วยกฎธรรมชาติ แล้วได้ผลดีเกินคาด จนถึงขั้น “ขวานศักดิ์สิทธิ์กว่าคำสั่งศาล” (ซึ่งไม่ใช่กรณีแรกและสุดท้าย) ตอกย้ำสภาพของรัฐล้มเหลวในระดับที่มีนัยสำคัญ

โดยพื้นฐาน รัฐถูกสร้างขึ้นมาจากความจำเป็นของมนุษย์ที่ต้องเข้ามารวมกลุ่มกันเพื่อสนองตอบเหตุผลของการมีชีวิตทางสังคมรวมหมู่ เจตนารมณ์ของรัฐ (ที่สอดรับกับนิยามของพลาโต้ที่ว่า มนุษย์เป็นสัตว์การเมือง) จึงไม่มีอยู่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อสนองต่อเจตนาพื้นฐานของมนุษย์ในการใช้ชีวิตภายในรัฐด้วย นี่เป็นพื้นฐานที่มักถูกมองข้ามไปเสมอ

รัฐที่ประสบความสำเร็จในการหลอมรวมเจตจำนงหลากหลายในทั่วสังคมให้กลายเป็นพลังผนึก ย่อมเป็นรัฐที่สร้างเสริมพฤติกรรม “ขันติธรรม” ในการใช้ชีวิตทุกระดับสูงกว่ารัฐที่ล้มเหลว ซึ่งอย่างหลังจะโน้มนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ตรงกันข้าม นั่นคือการสร้างเงื่อนไขพฤติกรรม “อขันติธรรม” ขึ้นมาแทน

สหสัมพันธ์ระหว่าง รัฐ และขันติธรรมของมนุษย์ในรัฐ จึงเป็นสัดส่วนตรงต่อกันและกัน

คำว่า “ขันติธรรม” ในเชิงปรัชญาค่อนข้างเป็นนามธรรม แต่ก็มีกรอบทางปรัชญาที่สามารถและระบุว่ามีถึง 4 แนวทางนั่นคือ

  • การให้ฉันทานุมัติเพื่อให้มีใครบางคนเป็นตัวแทนใช้อำนาจแทน บนรากฐานความสมัครใจ
  • การดำรงอยู่ร่วมกันบนหลักการ “แตกต่าง ไม่แตกแยก” พร้อมสำหรับการประนีประนอมที่เอื้อประโยชน์ร่วมกัน
  • การยอมรับความเท่าเทียมบนพื้นฐานความเสมอภาคเชิงหลักการและเชิงคุณภาพ ของผู้ที่อยู่ตรงกันข้ามในทุกระดับ ตามหลักการ “ไม่มีใครเลวร้ายเบ็ดเสร็จ” ของดอสตอยเยฟสกี้
  • การเคารพนับถือผู้อื่นในรูป “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” ซึ่งเป็นแนวทางที่ยากสุด

ทั้ง 4 แนวทางดังกล่าว มักจะมีข้อถกเถียงให้ย้อนแย้งกันได้มากมาย โดยเฉพาะ 1) ในส่วนที่ว่าด้วย “ปริมณฑลของความอดกลั้นต่อความแตกต่างที่ไม่สามารถประนีประนอมกันได้” เพราะหากมีกรอบจำกัด ก็แสดงว่า สามารถเปิดช่องให้อขันติธรรม มีความชอบธรรมได้แสดงบทบาทในระดับหนึ่ง (ซึ่งหาเกณฑ์และกรอบแน่นอนไม่ได้) 2) โจทย์ที่ยังหาคำตอบไม่ได้ว่า การปฏิเสธที่จะสยบยอมต่อคำสั่งที่ไร้ความชอบธรรมของผู้ฉ้อฉลที่มีอำนาจเหนือกว่า เป็นขันติธรรมหรือความท้าทายที่นำไปสู่ความรุนแรงกันแน่

ในโลกตะวันตก การบ่มเพาะองค์ความรู้ว่าด้วยขันติธรรม เริ่มต้นจากความขัดแย้งทางศาสนาอันซับซ้อนทั้งจากอารยธรรมกรีก-โรมัน มาสู่คริสเตียน และอิสลาม ที่อยู่ในกรอบของขันติธรรมทางศาสนา ก่อนที่จะมีการเคลื่อนย้ายองค์ความรู้จากศาสนา มาสู่ความงอกงามในปริมณฑลของขันติธรรมด้วยชาติพันธุ์ การเมือง และสังคมอื่นๆ โดยเฉพาะนับแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา แม้กระนั้น องค์ความรู้เหล่านี้ก็ยังห่างไกลจากคำว่าสัมบูรณ์ยิ่งนัก

การก่อกำเนิดรัฐประชาชาติทั่วโลก หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 มีส่วนทำให้ความซับซ้อนขององค์ความรู้ว่าด้วยขันติธรรมทุกประเภทที่เหลื่อมซ้อนกันอยู่มีข้อถกเถียงกันมากขึ้น เนื่องจากคุณค่าจากจารีตเดิมของสังคมท้องถิ่นเก่า และวิถีชีวิตที่หลากหลาย ถูกผนวกเข้ามาเป็นปัจจัยให้พิจารณาเพิ่มขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น พลวัตของโครงสร้างอำนาจรัฐในแต่ละประเทศก็มีผลทำให้รูปแบบและแนวทางของขันติธรรมมีโจทย์ใหม่มากขึ้นไปตามสถานการณ์ด้วย

ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ ความเฟื่องฟูของเสรีภาพ ทำให้คนจำนวนหนึ่งใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นไปในการทำลายขันติธรรมทางการเมือง สังคม และอื่นๆ อย่างที่มีเจตนาและตามความเคยชิน (โดยเฉพาะผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์) ด้วยการทำให้เส้นแบ่งระหว่าง “วาจาจงเกลียด” (hate speech) ในนามของ “วาจาเสรี” (free speech) ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน อย่างเปิดเผยและแพร่หลาย

ยิ่งขันติธรรมถูกทำลายลงง่ายเพียงใด ผสมกับอำนาจรัฐมีแนวโน้มกระชับอำนาจในคนกลุ่มน้อยยาวนาน ประสิทธิภาพของขันติธรรมจะยิ่งไม่ทำงานมากเพียงนั้น

สำหรับรัฐไทย ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มจะไม่มีการเลือกตั้งไปอีกยาวนาน และประสิทธิภาพของกลไกลรัฐ (ตัวอย่างจากกรณี “ป้าทุบรถ” ที่ความรุนแรงเป็นฝ่ายชนะเด็ดขาด) คำถามถึงอนาคตไทยไร้มาตรา 44 ข้างต้น หากมีคำตอบว่าใช่ ย่อมถือว่า เป็นสัญญาณอันตรายยิ่งสำหรับอนาคตของประเทศ

รัฐไทยสามารถสร้างเงื่อนไขให้กับพฤติกรรมทางสังคมและการเมือง ที่ฮันนาห์ อาเร้นท์นักปรัชญายิว-อเมริกัน เรียกว่า banality of evils หรือ ความไม่สร้างสรรค์ของปีศาจ ซึ่งอธิบายว่า รากเหง้าของการสะสมความชั่วร้ายของอำนาจเผด็จการที่ฉ้อฉล ซึ่งถูกสร้างให้กลายเป็น “ความปกติทางสังคม” ของคนส่วนใหญ่ที่ยอมตนสิโรราบ ในนามของ “ความสงบสันติที่อยุติธรรม” เป็นความล้มเหลวของมนุษยชาติที่น่าสยดสยอง

เหตุผลเพราะมีแนวโน้มที่ความรุนแรงจากอขันติธรรม จะดึงให้สังคมโดยรวมกลายเป็น “นรกแห่งเสรีภาพ” ซึ่งหา “ยาถอนพิษ” ได้ยากมาก เพราะพฤติกรรมเยี่ยงปีศาจดังกล่าวที่กระทำในนามของ “ความดีงามและคุณธรรมสุดขั้ว”

Back to top button