PE ปลาหมอเกยตื้น
งบการเงินงวดสิ้นปีของบริษัทมาร์เก็ตติ้งชื่อดังในอดีต บริษัท พรีเมียร์เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ PE น่าจะดูดี เพราะขาดทุนน้อยลง และส่วนผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น (แม้จะยังไม่พ้นโซนอันตราย) ...แต่การที่ผู้สอบบัญชีไม่รับรองงบการเงิน (พูดให้ไพเราะคือไม่แสดงความเห็นต่องบ) ทำให้ยากจะเชื่อมั่นว่าจะเป็นเรื่องดีได้
แฉทุกวันทันเกมหุ้น
งบการเงินงวดสิ้นปีของบริษัทมาร์เก็ตติ้งชื่อดังในอดีต บริษัท พรีเมียร์เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ PE น่าจะดูดี เพราะขาดทุนน้อยลง และส่วนผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น (แม้จะยังไม่พ้นโซนอันตราย) …แต่การที่ผู้สอบบัญชีไม่รับรองงบการเงิน (พูดให้ไพเราะคือไม่แสดงความเห็นต่องบ) ทำให้ยากจะเชื่อมั่นว่าจะเป็นเรื่องดีได้
ล่าสุด การที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ขึ้นเครื่องหมาย SP หุ้น PE ตั้งแต่การซื้อขายรอบเช้าวันที่ 20 กุมภาพันธ์ เป็นเวลานาน 1 วันเพื่อเปิดทางให้บริษัทชี้แจง อ้างถึงกรณีผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินของบริษัทงวดสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต. อาจสั่งการให้บริษัทแก้ไขงบการเงินได้….แล้วจะปลดเครื่องหมาย SP แล้วขึ้นเครื่องหมาย NP สำหรับหุ้น PE ตั้งแต่รอบเช้าวันที่ 21 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป…ยิ่งไม่ใช่ข่าวดีชนิดยกระดับขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งเหนือปกติ
ความวุ่นวายทางการเงินของ PE ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็น “บาดแผลเรื้อรังมายาวนาน” อย่างน้อยที่สุดเท่าที่หาข้อมูลมาได้ในรอบ 5 ปี ไม่เคยเห็นตัวเลขปีไหนที่แสดงตัวเลขกำไรสุทธิเป็นบวกเลย
แม้ว่า PE จะขาดทุนต่อเนื่องทุกปี แต่การที่ตัวเลขขาดทุนสะสมไม่มากนัก ล่าสุดเลือกเพียงแค่ 339.95 ล้านบาท ไม่ถือว่ามาก แต่การที่รายได้ของบริษัทค่อนข้างทรงตัวแถวระดับ 500-600 ล้านบาทต่อปี (ดูตารางประกอบ) ทำให้โอกาสรุกทางธุรกิจทำได้ยาก ได้แค่ประคองตัวไปเรื่อยๆ…ไม่สมกับฉายาทายาทของ ตระกูลโอสถานุเคราะห์ อันเก่าแก่ …สักเท่าไหร่
ผลประกอบการที่ดูป้อแป้เรื้อรัง ทำให้เมื่อมีเหตุร้ายใหม่ๆ เข้ามากระทบก็ยิ่งซ้ำเติมความเปราะบางมากเข้าไปกันใหญ่
เสมือนคนขี้โรคอยู่แล้ว….บังเอิญ มาติดเชื้อไวรัสโรต้า ทำให้ทรุดกว่าปกติ
กรณีตัวอย่างล่าสุดที่ “ผู้สอบบัญชีไม่สามารถแสดงความเห็นต่องบการเงิน” งวดสิ้นปี 2560 ได้ เพราะเกิดจากผลของคดีที่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำพิพากษาลงวันที่ 14 ธันวาคม 2560 ให้ PE ชำระเงินจำนวน 479 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 1,123 ล้านบาท ให้แก่โจทก์ (บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) หรือ NWR) ในคดีแพ่งอันเกี่ยวเนื่องกับกระบวนการฟื้นฟูกิจการ
เรื่องราวอันเกี่ยวข้องกับคดีความในอดีต ปรากฏในเอกสารของ PE เอง ที่ย้อนหลังสืบความได้ว่าเกิดจากเรื่องเก่าแก่เมื่อ PE ได้ถูก NWR ยื่นฟ้องเป็นจำเลยในคดีแพ่งเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ พก.6/2558 โดยมีรายละเอียดดังนี้
- NWR ยื่นฟ้องคดีให้ PE ในฐานะหุ้นส่วนของกิจการร่วมค้า พีอี-เพทแลน ประกอบด้วย บริษัท พรีเมียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน), บริษัท เพท เอ็นจิเนียส์ อิงค์ และบริษัท ล็อควูด แอนดรูส์ แอนด์ นิวเนม อิงค์ ร่วมรับผิดในค่างานที่กิจการร่วมค้า พีอี-เพทแลน ค้างชำระต่อ NWR ตามสัญญาจ้างเหมาช่วงการก่อสร้างระบบบัดน้ำเสียจากรุงเทพมหานครในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี 2544 ถึงปี 2546 เป็นเงินต้น 650,797,184.99 บาท และดอกเบี้ย 653,013,420.67 บาท
- กิจการร่วมค้า พีอี-เพทแลน ได้จัดตั้งขึ้นมาเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2539 เพื่อวัตถุประสงค์ในการรับเหมาก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียจากกรุงเทพมหานคร โดยในขณะที่จัดตั้งนั้นบริษัทเป็นผู้ร่วมทุนรายหนึ่ง โดยได้ว่าจ้าง NWR เป็นผู้รับเหมาช่วงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียจากกรุงเทพมหานคร
- ในปี 2543 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ บริษัทอยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้างธุรกิจ และได้โอนสัดส่วนการลงทุนในบริษัทซึ่งมิใช่ธุรกิจหลักของบริษัท รวมถึงสัดส่วนการลงทุนในกิจการร่วมค้าไปให้แก่บุคคลอื่น
- ข้อต่อสู้ของ PE มีประเด็นหลักในการต่อสู้คดีมีลายประเด็นคือ
- NWR ได้รับชำระเงินค่างานจากกิจการร่วมค้า พีอี-เพทแลน ไปครบถ้วนแล้ว
- NWR ได้ขอรับชำระหนี้ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการของบริษัทและได้รับชำระหนี้ในภาระที่บริษัทต้องร่วมรับผิดกับกิจการร่วมค้า พีอี-เพทแลน (หากมี) ไปครบถ้วนแล้ว
- บริษัทได้โอนสัดส่วนการลงทุนในกิจการร่วมค้า พีอี-เพทแลน ไปให้แก่บุคคลอื่นตั้งแต่ปี 2543 แล้ว
- NWR ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากได้โอนสิทธิในการรับเงินค่างานของตนไปให้แก่ธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งไปแล้ว
- คดีขาดอายุความแล้ว
ท้ายสุดเมื่อ ศาลล้มละลายกลางได้ดำเนินกระบวนการพิจารณาในส่วนของการสืบพยานคู่ความทั้งสองฝ่ายเสร็จสิ้นแล้ว ก็มีคำพิพากษาออกมาว่า NWR ชนะคดี…แต่ยังไม่ถึงที่สุด เพราะว่า
PE อยู่ระหว่างการดำเนินการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาเพื่อคัดค้านคำพิพากษาของศาลล้มละลายกลางซึ่งจะครบกำหนดระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 15 มีนาคม 2561….โดยที่ฝ่ายบริหารของ PE ได้ทำการประเมินคำพิพากษา และโดยความเห็นของทนายความแล้วยังเชื่อมั่นในประเด็นข้อต่อสู้และมีความเห็นว่าศาลฎีกาน่าจะมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลล้มละลายกลาง
ความเชื่อมั่นของฝ่ายบริหาร ทำให้ PE ตัดสินใจไม่ยอมบันทึกประมาณการหนี้สินตามคำพิพากษาดังกล่าวไว้ในบัญชี
บังเอิญผู้สอบบัญชีที่เถรตรงยิ่งว่าไม้บรรทัด ….ไม่ได้เชื่อมั่นแบบเดียวกันกับผู้บริหารของ PE…จึงไม่ยอมรับรองงบการเงิน โดยระบุว่า “….แสดงถึงความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดข้อสงสัยอย่างมีนัยสำคัญ เกี่ยวกับความสามารถของบริษัทที่จะดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง…”
เข้าข่ายสองคนยลตามช่อง
ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้จะบอกว่าฝ่ายไหนผิด ย่อมเร็วเกินไป เพราะ…สงครามยังไม่จบ ไม่ควรนับศพทหาร
เพียงแต่กรณีของ PE เจอเรื่องร้าย 2 เด้งอย่างนี้ ก็คงตกอยู่ในสภาพ “ปลาหมอเกยตื้น” ….เหนื่อยกว่ายามปกติ
อิ อิ อิ