พาราสาวะถี
ใครเห็นด้วยบ้างกับทฤษฎี “เลือกกล้วย” ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่นำมาเปรียบเทียบกับการเลือกตั้ง มันคงไม่ง่ายแค่มองว่าลูกนี้เขียวกินไม่ได้ ลูกนี้เหลืองสุกงอมกินได้ หรือลูกนี้สีดำไม่ดี ไม่ควรเลือกกิน เพราะกล้วยนั้นมันสามารถมองได้ด้วยตาเปล่า แต่การเลือกตั้งขนาดตาดู หูฟัง และเชื่อที่มีคนบอกว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามโรดแมป ยังถูกเลื่อนแล้วเลื่อนอีก
พาราสาวะถี:อรชุน
ใครเห็นด้วยบ้างกับทฤษฎี “เลือกกล้วย” ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่นำมาเปรียบเทียบกับการเลือกตั้ง มันคงไม่ง่ายแค่มองว่าลูกนี้เขียวกินไม่ได้ ลูกนี้เหลืองสุกงอมกินได้ หรือลูกนี้สีดำไม่ดี ไม่ควรเลือกกิน เพราะกล้วยนั้นมันสามารถมองได้ด้วยตาเปล่า แต่การเลือกตั้งขนาดตาดู หูฟัง และเชื่อที่มีคนบอกว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามโรดแมป ยังถูกเลื่อนแล้วเลื่อนอีก
สงสัยท่านผู้นำลืมไปว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น (เมื่อไหร่ไม่รู้) ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกลไกของกฎหมายที่ชัดเจน ขนาดว่ารัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัด กฎหมายพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้แล้ว ป่านนี้พรรคการเมืองยังขยับทำอะไรกันไม่ได้ มีแต่พวกที่จะตั้งพรรคใหม่หรือจะให้ชัดพวกที่จะสนับสนุนให้ท่านผู้นำกลับมาเป็นนายกฯอีกสมัยนั่นแหละที่ได้รับอานิสงส์จากกฎหมายที่คนเพียงคนเดียวใช้อำนาจสั่งการอยู่เหนือทุกอย่างได้
แม้จะมีข้อกำหนดต่างๆ ไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีการใช้สารพัดเล่ห์เหลี่ยมในการยื้อการยืดเวลา ทั้งผู้มีอำนาจได้อยู่นานและการรอความพร้อมทุกด้านสำหรับคนที่วางแผนสืบทอดอำนาจ รอบที่ขยายเวลาบังคับใช้ร่างกฎหมายเลือกตั้งส.ส.ไป 90 วัน ทำเอาคนงงเป็นไก่ตาแตกกับการใช้อภินิหารกฎหมายไปทีหนึ่งแล้ว การมาเหนือเมฆด้วยการคว่ำ 7 รายชื่อว่าที่กกต.เพื่อสรรหาใหม่นี่ก็ชัดเสียยิ่งกว่าชัด
การป่าวประกาศทั้งโดยท่านผู้นำและบรรดาลิ่วล้อว่าไม่ได้อยู่เบื้องหลังหรือสั่งการให้สนช.ดำเนินการเช่นนั้น คงมีแต่เด็กอมมือเท่านั้นที่จะเชื่อ เพราะเช้าก่อนวันลงมติมีสนช.บางรายให้สัมภาษณ์อย่างมั่นอกมั่นใจทุกอย่างผ่านฉลุยไร้ปัญหา พอผลออกมาเป็นอีกแบบก็รีบโยนขี้ให้เป็นความผิดพลาดในการนำเสนอข่าวของสื่อทันที
การคว่ำทั้งๆ ที่ไม่มีสัญญาณล่วงหน้า หลังการลงมติมีเสียงวิจารณ์กันขรมในหมู่สมาชิกสนช.ว่าเป็นการสั่งอย่างกะทันหัน ทำเอาตั้งตัวกันไม่ทัน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่เพราะ “แป๊ะ” ว่ามาอย่างไรยินดีรับใช้และจัดให้ได้ตามที่ต้องการ เรื่องที่บอกว่าคุณสมบัติของว่าที่กกต.บางรายไม่เหมาะสม โดยเฉพาะปม 2 รายจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาอาจจะถูกยื่นตีความแล้วทำให้เป็นปัญหาในอนาคตนั้น ยิ่งถูกชวนให้กังขาหนัก
ในเมื่อไม่มั่นใจว่ากระบวนการที่ที่ประชุมศาลฎีกาเลือกไม่เป็นไปตามบทบัญญัติในกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง ทำไมไม่เลือกที่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน ไม่ใช่ดันทุรังให้ผ่านแล้วมายกมือคว่ำอย่างที่ทำอยู่ เพราะเท่ากับว่าผู้ที่ได้รับการคัดเลือกทั้ง 2 รายต้องหมดโอกาสที่จะเสนอตัวเพื่อได้รับเลือกเข้ามาใหม่ไปโดยปริยาย
การใช้ข้ออ้างเรื่องไม่เชื่อมั่นต่อการคัดเลือกบุคคลของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามาเป็นส่วนหนึ่งของการคว่ำนั้น ก็นำมาซึ่งความกังวลอย่างที่ พีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่ 2 บอก เกรงว่าจะเกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ ในเมื่อยืนยันกันหนักแน่นว่าไม่มีใบสั่ง และอำนาจ 3 ฝ่าย นิติบัญญัติ บริหารและตุลาการแยกจากกันสิ้นเชิง จะต้องไปกลัวทำไม
สิ่งที่กังวลอีกประการของพีระศักดิ์นั่นต่างหากที่น่าเป็นห่วงมากกว่า คือสรรหากกต.หลังจากนี้ จะทำด้วยความยากลำบาก เนื่องจากคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นกกต.มีการกำหนดไว้ค่อนข้างสูงมากหรือที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ชายเดี่ยวบอกไว้ว่าเป็น “คุณสมบัติขั้นเทพ” นั้น อาจทำให้ไม่มีบุคคลใดกล้าเข้ามาสมัครเข้ารับการสรรหา
ต้องไม่ลืมว่ารอบก่อนหน้านั้นก็ต้องรอกันจนวินาทีสุดท้ายกว่าจะมีคนแห่มายื่นใบสมัครกัน อย่างไรก็ตาม ความเสียหายที่ตามมาอีกประการจากการคว่ำเที่ยวนี้คงหนีไม่พ้น ว่าที่ 5 คนจากการสรรหา ที่ต้องเจ็บปวดเพราะไม่สามารถกลับมาสู่การสรรหาได้อีก ซึ่งคงไม่ต่างจากผู้อยู่เบื้องหลังหรือผู้สนับสนุนหลักทั้งหลายที่ถือว่าเสียรังวัดไปตามๆ กัน
ไม่เพียงเท่านั้น ยังเกิดคำถามตามมาว่าถ้าการคว่ำเป็นเรื่องกะทันหัน สั่งการกันเพียงเสี้ยววินาที ผู้สนับสนุนว่าที่กกต. 5 คนที่ผ่านการสรรหามานั้น รู้เรื่องหรือไม่ หากไม่รู้ก็เท่ากับเป็นการตบหน้ากันฉาดใหญ่ และไม่แน่ใจว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการปีนเกลียวกันหรือไม่ แต่ในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน คงน่าจะมีแต่ความเข้าใจกันเป็นอย่างดีเสียมากกว่า
เหล่านี้นี่ไงคือปัจจัยที่เห็นเด่นชัดว่าเป็นต้นตอของการเลือกตั้งที่จะไม่เป็นไปตามโรดแมป ไม่ใช่ง่ายเหมือนเลือกกล้วยอย่างที่ท่านผู้นำว่า และยิ่งยากขึ้นไปอีกหากต้องทำตามที่ผู้มีอำนาจท่านประกาศผ่านรายการคืนวันศุกร์ การเข้าคูหาเลือกตั้งต้องคำนึงถึงการเลือกนักการเมืองที่มีคุณภาพ ไม่มีประวัติเสื่อมเสียหรือทุจริตมาก่อน เลือกพรรคการเมืองที่น่าเชื่อถือ ดูจากนโยบาย จากการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่มีวาระซ่อนเร้นแอบแฝง หรือถูกครอบงำ
ทำอย่างไรให้คนไทยสามารถแยกแยะว่า ถ้ามีการเลือกตั้งแล้วควรเลือกใครและเลือกจากอะไร ไม่ใช่ใช้ความรัก ความชอบ ความคุ้นเคย ใช้อารมณ์ แต่ไม่พิจารณาด้วยเหตุด้วยผล เช่น ดูที่นโยบายพรรค ดูที่ประวัติการทำงาน อยากให้ประชาชนมีความรู้ หลักคิด มีหลักการเลือกส.ส.ที่มีคุณภาพ หลีกเลี่ยงผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม หรือพรรคที่มีนโยบายในลักษณะสัญญาว่าจะให้ เพื่อดึงดูดใจในสิ่งที่ผิด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นนโยบายที่มีผลต่อการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินที่สิ้นเปลืองมากเกินไป ขาดวินัยการเงินการคลัง หรือขัดแย้งพันธกรณีต่างประเทศ ตรงนี้ไม่อยากกล่าวหาว่าเป็นการชี้นำหรือไม่ แต่หากพูดถึงขนาดนี้ ทำไมท่านผู้นำไม่พูดไปเสียเลยว่า จะเลือกตั้งก็ต่อเมื่อคนไทยให้ความมั่นใจแล้วว่าจะไม่เลือกพรรคที่มี ทักษิณ ชินวัตร อยู่หลังฉากนั่นเอง
คนจะได้เข้าใจสาเหตุที่แท้จริงของการลากและเลื่อนโรดแมปกันมาหลายกระทอกว่า แท้ที่จริงแล้วเพราะยังไม่สามารถเปลี่ยนความคิดคนให้เลือกคนและพรรคที่ผู้มีอำนาจอยากจะให้เป็นนั่นเอง ถ้าคิดได้ถึงขนาดนี้อย่ามีการเลือกตั้งไปเลยดีกว่า หรือท่านหลงผิดคิดว่าคนที่จะมาเป็นส.ส.ต้องเหมือนสนช.ที่แต่งตั้งมาจากปลายกระบอกปืน ถ้าเช่นนั้นก็ใช้มาตรา 44 หาคนที่ท่านสั่งได้แล้วก็อยู่ไปนานๆ ตามที่ต้องการน่าจะง่ายกว่า
ไม่เพียงเท่านั้น มีการบอกว่าเมื่อถึงเวลาอาจจะต้องขอคำสัญญาร่วมกัน ถ้าจะเลือกตั้งจะต้องทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าตามยุทธศาสตร์ชาติและไม่ขัดแย้งกันอีก คิดแค่นี้ก็รู้คำตอบอยู่แล้วว่ามันเป็นไปไม่ได้ ถามกลับว่า แล้วที่คนคนเดียวสัญญาบอกว่าขอเวลาอีกไม่นานยังทำไม่ได้ ยังจะมีหน้าไปเรียกร้องให้คนอื่นทำสัญญาอีกอย่างนั้นหรือ