พาราสาวะถี

หากคำประกาศิตเรื่องปราบโกงของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งจนถึงวันนี้ ยังไม่มีอะไรจับต้องได้หรือสังคมยังเกิดความกังขา ก็สมควรที่จะต้องปูนบำเหน็จความดีความชอบให้แก่ ปณิดา ยศปัญญา หรือ น้องแบม นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  และ ณัฐกานต์ หมื่นพล อดีตลูกจ้างศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่น ที่ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม


อรชุน

หากคำประกาศิตเรื่องปราบโกงของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งจนถึงวันนี้ ยังไม่มีอะไรจับต้องได้หรือสังคมยังเกิดความกังขา ก็สมควรที่จะต้องปูนบำเหน็จความดีความชอบให้แก่ ปณิดา ยศปัญญา หรือ น้องแบม นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  และ ณัฐกานต์ หมื่นพล อดีตลูกจ้างศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่น ที่ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

เพราะทั้งสองคนคือ ผู้ที่ออกมาเปิดโปงขบวนการปลอมแปลงเอกสารการทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและผู้ติดเชื้อเอดส์ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่น จนได้รับการยกย่องจากคนไทยทั้งประเทศในฐานะผู้กล้าที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับความกังฉินของข้าราชการขี้ฉ้อทั้งหลายแหล่ นอกเหนือจากการคุ้มครองดูแลความปลอดภัยให้แล้ว รัฐบาลคสช.ควรหางานให้ทำ จะบรรจุเป็นข้าราชการด้วยวิธีพิเศษแบบไหน ก็เชื่อได้เลยว่าไร้เสียงคัดค้านแน่นอน

คนแบบนี้ต่างหากที่แวดวงราชการจะต้องมีไว้ใช้งาน หากทำกันอย่างตรงไปตรงมา ไร้การกดข่ม ก็เชื่อว่ากรณีดังกล่าว จะกลายเป็นต้นแบบให้กับข้าราชการหรือลูกจ้างชั้นผู้น้อย กล้าที่จะเผชิญกับความไม่ชอบธรรมทุกรูปแบบ เพียงแต่จะต้องไม่ทำให้เรื่องนี้เป็นเพียงแค่ปรากฏการณ์ไฟไหม้ฟาง หากมีการต่อยอด ทำกันแบบจริงจัง ขบวนการทุจริต คอร์รัปชันทั้งหลายย่อมอยู่ไม่เป็นสุขอย่างแน่นอน

แต่คนส่วนใหญ่อดหวั่นใจไม่ได้ หลังจากที่เรื่องซาไปแล้วทั้งสองคนก็จะเป็นเพียงผู้ที่ได้รับการเชิดชูในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ท่านผู้นำที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ควรใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ไม่ใช่เพียงแค่การเที่ยวประกาศปาวๆ ว่า กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย นอกเหนือจากการเคร่งครัดในกฎระเบียบแล้ว จะต้องไม่มีข้อละเว้นหรือประเภทลูบหน้าปะจมูกเป็นอันขาด

สถานการณ์ทางการเมืองช่วงโค้งสุดท้ายก่อนที่จะเดินเข้าสู่โรดแมปเลือกตั้ง (หากเป็นไปตามที่ท่านผู้นำยังยืนยัน) ฝ่ายต่อต้านหรือกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับคณะเผด็จการย่อมเคลื่อนไหวเป็นปกติ แม้จะถูกมองว่าไม่ปกติหรือเป็นพวกที่มีเบื้องหลัง มีน้ำเลี้ยงก็ตาม แต่นั่นไม่ใช่สาระหลักของผู้มีอำนาจที่จะต้องใส่ใจ สิ่งสำคัญเวลานี้อยู่ที่ความจริงใจและจริงจังของผู้มีอำนาจในทุกเรื่องมากกว่า

จะเห็นได้ว่าการที่คนกันเองออกมากระทุ้งในแต่ละเรื่องนั้น ไม่ใช่การเสียมารยาทตามที่กล่าวอ้างอย่างแน่นอน เพราะทั้ง นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ที่พูดถึงปมนาฬิกา 25 เรือนกับความเป็นคนหน้าบาง และ ต่อตระกูล ยมนาค ที่เรียกร้องให้บิ๊กตู่ปลด พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ พ้นจากการเป็นที่ปรึกษาศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ หรือ ศอตช. นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นท่าทีของความหวังดีประสงค์ดีอย่างชัดเจน

เพียงแต่ว่าคนที่ถูกพูดถึงนั้นเป็นผู้มีพระคุณที่เข้าใจว่าพลเอกประยุทธ์คงยากที่จะตัดใจดำเนินการให้เด็ดขาด จึงต้องยอมตกอยู่ในภาวะ “เตี้ยอุ้มค่อม” กันอย่างนี้ ซึ่งนั่นเท่ากับการต้องยอมรับสถานการณ์ขาลง ความเชื่อมั่นต่ำ ศรัทธาทรุดอย่างช่วยไม่ได้ ล่าสุด มาถึงคิวคว่ำว่าที่กกต.ทั้ง 7 คน ใครจะว่าอย่างไร แต่คนกันเองวิพากษ์วิจารณ์นี่มันชวนให้คนเชื่อและคิดว่าภาพมันต้องเป็นเช่นนั้น

ความเห็นของ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม นิด้า ที่โพสต์ข้อความด้วยหัวข้อ “สัญญาณแปลกๆ” เป็นสิ่งที่ชวนให้คนส่วนใหญ่นึกภาพตาม  ผู้สมัครกกต. เกือบทุกคนที่ผ่านกระบวนการสรรหา ล้วนแล้วแต่เป็นคนที่ฝ่ายอำนาจรัฐปัจจุบันสนับสนุน สนช.ทั้งหมดก็เป็นกลุ่มที่อำนาจรัฐปัจจุบันสนับสนุนและตั้งมากับมือ ส่วนใหญ่ก็ตกอยู่ภายใต้การชี้นำของกลุ่มนั้น ทำไมสนช.จึงลงมติคว่ำว่าที่กกต.ทั้งหมดเป็นสถานการณ์ที่น่าสนใจ

น่าสนใจที่ การตัดสินใจของสนช.ครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงอะไร อย่างแรกหมายความว่ากลุ่มผู้มีอำนาจนำเดิมประสงค์ยืดการเลือกตั้งออกไป ซึ่งอาจมีบางคนแย้งว่า การจัดเลือกตั้งไม่น่ามีปัญหา แม้ไม่มีกกต.ชุดใหม่ เพราะกกต.ชุดปัจจุบันทำหน้าที่แทนจนกว่าจะมีกกต.ใหม่ และ กกต.ชุดเก่าก็สามารถทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งได้

แต่ปัญหามีแน่ นั่นคือ กกต.ชุดปัจจุบันอาจไม่กล้าทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง เพราะการตัดสินใจใดๆ จะมีผลผูกพันในอนาคต อาจต้องเดินมาขึ้นโรงขึ้นศาลทั้งที่พ้นตำแหน่งไปแล้ว จึงมีความเป็นไปได้ว่ากกต.ชุดปัจจุบันบางคนอาจลาออก ก่อนจะมีกกต.ชุดใหม่ และหากกกต.ลาออก จนเหลือ 3 คน ก็จะขาดองค์ประกอบการเป็นองค์คณะ ประชุมไม่ได้ ซึ่งจะทำให้เรื่องยุ่งเข้าไปอีกและไม่อาจจัดการเลือกตั้งได้ เค้าลางเรื่องนี้เริ่มมีให้เห็นแล้วจากการไขก๊อกไปสมัครเลขาธิการกกต.ของ สมชัย ศรีสุทธิยากร

ถ้าเช่นนั้น คสช.อาจจะใช้มาตรา 44 ตั้งคนเข้ามาเป็นกกต.เสียเลยให้รู้แล้วรู้รอด แต่ก็ไม่น่าจะได้เพราะ การสรรหากกต.ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ยกเว้นเสียแต่ว่า อำนาจคสช.และมาตรา 44 อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ เมื่อเลือกตั้งไม่ได้ รัฐบาล คสช. และสนช. ก็อยู่ไปเรื่อยๆ เวลาอยู่ในอำนาจก็จะนานขึ้นตามความปรารถนา

แต่หากไม่ใช่การยืดอำนาจอยู่ยาว พิชายมองว่า น่าจะ เกิดความขัดแย้งกันในกลุ่มอำนาจนำ ซึ่งปัจจุบันประกอบด้วย 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มอำนาจเดิมที่เป็นรัฐบาลอยู่ในปัจจุบัน กับกลุ่มอำนาจนำใหม่ที่ยังอยู่ในราชการ สองกลุ่มนี้อาจขัดแย้งกัน และใช้เวทีการเลือกกกต. เป็นเวทีประลองกำลัง ผลลัพธ์ที่ออกมา แสดงว่ากลุ่มอำนาจใหม่มีอิทธิพลในเวทีสนช.เหนือกว่ากลุ่มอำนาจเดิมอย่างเด็ดขาดแล้ว เพราะสามารถชี้นำให้ สนช.ส่วนใหญ่ลงมติไม่รับรองผู้สมัครกกต.ทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนของกลุ่มอำนาจเดิม

เมื่อได้รับชัยชนะในเวทีสนช.แล้ว กลุ่มอำนาจใหม่อาจเดินหมากรุกฆาต และหากประสบชัยชนะ ก็จะเกิดการเปลี่ยนขั้วอำนาจในฝ่ายบริหารและภายในคสช.ด้วย บางทีอาจเป็นภายในเดือนมีนาคมนี่แหละ เราอาจจะเห็นรัฐบาลใหม่ก็ได้ แต่การต่อสู้ยังไม่จบ หากฝ่ายอำนาจเดิมชนะ สถานการณ์ระดับรัฐบาลก็ยังคงเป็นไปเหมือนเดิม แต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นภายในสนช. และกองทัพ เพื่อเอาคนที่ไม่ยอมอยู่ในอาณัติออกไปและเอาคนของตนเองมาควบคุมตำแหน่งสำคัญเอาไว้ มองอย่างนี้บางทีศัตรูที่เห็นตัวตนอาจไม่น่ากลัวเหมือนศัตรูที่ใกล้ตัวและเป็นพวกเดียวกันเองนี่กระมัง

Back to top button