ทีวีดิจิทัล 2561

รัฐบาลชุดนี้ ใช้เวลานานกว่า 4 เดือนแล้วในการหาทางออกให้บริษัทประกอบการโทรทัศน์ดิจิทัลหลุดพ้นจากหายนะทางการเงินเฉพาะหน้า แต่ยังหาทางออกไม่ได้ เพื่อจะอธิบายต่อสังคมว่า ทำไมต้องเข้าไปโอบอุ้มบริษัทเอกชนอย่างเลือกปฏิบัติ จากการตัดสินใจที่ผิดพลาดจากการรุกเข้าสู่ธุรกิจนี้เมื่อ 4 ปีเศษที่ผ่านมา


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

รัฐบาลชุดนี้ ใช้เวลานานกว่า 4 เดือนแล้วในการหาทางออกให้บริษัทประกอบการโทรทัศน์ดิจิทัลหลุดพ้นจากหายนะทางการเงินเฉพาะหน้า แต่ยังหาทางออกไม่ได้ เพื่อจะอธิบายต่อสังคมว่า ทำไมต้องเข้าไปโอบอุ้มบริษัทเอกชนอย่างเลือกปฏิบัติ จากการตัดสินใจที่ผิดพลาดจากการรุกเข้าสู่ธุรกิจนี้เมื่อ 4 ปีเศษที่ผ่านมา

ความช่วยเหลือนี้ มีคนเสนอถึงขั้นให้ใช้มาตรา 44 ในฐานะยาสารพัดนึก เพื่อหลบเลี่ยงอุปสรรคทางข้อกฎหมาย

สถานการณ์ล่าสุดของสื่อโทรทัศน์ดิจิทัลที่ย่ำแย่ ไม่ได้เกิดจากการที่ธุรกิจนี้มีสภาพเป็น “ตะวันตกดิน” แต่เพราะพฤติกรรมการบริโภคสื่อของผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากเดิมในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของยุคสมัยเท่านั้น การเข้าไปโอบอุ้มของรัฐ จึงค่อนข้างมีคำถามมาก

มองย้อนกลับไป ช่วงเวลาก่อนที่ กสทช.จะออกใบอนุญาตทีวีดิจิทัลจำนวนมากถึง 24 ใบเมื่อ 5 ปีก่อน ที่เอกชนผู้ต้องการได้ใบอนุญาต ต่างมีข้ออ้างเชิงบวกสารพัดในการเข้ามาแย่งยื้อประมูลซื้อกันด้วยราคาแพงลิ่ว

ช่องว่างระหว่างความคาดหมายอันสวยหรู กับข้อเท็จจริงของตลาด ทำให้ธุรกิจเอกชนเริ่มตระหนักว่าการได้ใบอนุญาตทีวีดิจิทัล เป็น “ทุกขลาภ” ที่น่าผะอืดผะอมมากกว่าเป็น “บันไดสวรรค์” 

ความมั่นใจที่เคยเกินร้อย เมื่อ 5 ปีก่อน ตอนที่เริ่มรุกเข้าสู่ธุรกิจทีวีดิจิทัล พร้อมกับก่อหนี้ทำไฟแนนซ์และการเพิ่มทุนรองรับความเสี่ยงล่วงหน้า ผลประกอบการของธุรกิจทีวีดิจิทัลที่เคยคาดหวังว่าจะเป็น “วัวให้น้ำนมทองคำ” กลับปรากฏตัวเลขขาดทุนสุทธิต่อเนื่อง จนกระทั่งส่วนผู้ถือหุ้นร่อยหรอลง บางรายต้องหาทางผ่องถ่ายยินยอมใช้ “วิชาตัวเบา เพื่อปลดสัมภาระ ยินยอมให้คนภายนอกเข้ามาถือหุ้นเพิ่มทุนให้รายอื่นเข้ามาฮุบกิจการออกไปจากมือ

ปรากฏการณ์ที่ผู้ประกอบการจำนวนน้อยยังสามารถทำกำไรได้ต่อเนื่อง และบางรายกำไรเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นเพราะค้นพบโมเดลธุรกิจที่สร้างรายได้ดีก่อน แต่ส่วนใหญ่ที่เหลืออยู่ต้องเผชิญกับรายได้จากการดำเนินงานที่ถดถอยลง ต้องอาศัยวิศวกรรมการเงินและการขายทิ้งทรัพย์สินหรือเงินลงทุน เพื่อสร้างกำไรพิเศษ ทำให้ดูดีขึ้นในบางไตรมาส ทั้งจากการขายเงินลงทุนในธุรกิจที่ “ไร้อนาคต” บ้าง หรือจากการลดจำนวนพนักงานลงเป็นระยะๆ ตามแผน “ตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต” เพื่อซื้อเวลาผ่อนส่งหายนะให้เนิ่นนานออกไป มีคำถามว่าสมควรที่รัฐจะต้องเข้าไปโอบอุ้มหรือไม่ โดยที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจนว่าหายนะทางการเงิน เกิดจากความสามารถในการแข่งขันต่ำ หรือเป็นเพราะขาดโมเดลธุรกิจที่เหมาะสม หรือ ขาดนวัตกรรมในการสนองตอบตลาดที่เหมาะสม

ในเชิงรายได้ รายได้หลักของธุรกิจสื่อโทรทัศน์ (ซึ่งถือว่ายังทรงอิทธิพลมากที่สุดในปัจจุบัน) มาจากรายได้จากธุรกิจโฆษณา ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมโฆษณาผ่านสื่ออยู่ในภาวะถดถอย จากปัจจัยภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อชะลอตัว แต่ปัจจุบัน ผู้บริหารของบริษัทมายด์แชร์ ประเทศไทย เอเยนซีเครือข่ายด้านการตลาดและการสื่อสาร กล่าวว่า ปีนี้ความรู้สึกของผู้บริโภคฟื้นตัว รวมทั้งกระแสเวิลด์อีเวนต์ ทำให้ประเมินอุตสาหกรรมโฆษณากลับมาเติบโต 7.6% มีมูลค่า 1.19 แสนล้านบาท โดยที่กลุ่มสื่อทีวี ยังครองส่วนแบ่งงบโฆษณาสูงสุดสัดส่วน 60%  จะมีมูลค่า 71,000 ล้านบาท เติบโต  8.4% โดยทีวีทุกประเภทจะกลับมาเติบโตได้  ประกอบด้วย ฟรีทีวีรายเดิม (ช่อง 3, 5, 7, 9) มูลค่า 43,000 ล้านบาท เติบโต 5%, ทีวีดิจิทัล 25,000 ล้านบาท เติบโต 14.5% เคเบิลและทีวีดาวเทียม 3,000 ล้านบาท เติบโต 11.4% หลังจากปี 2560 มีตัวเลขติดลบ

ตัวเลขประเมินของสื่อทีวีดิจิทัลที่ค่อนข้างสูง และสูงเกินกว่าสื่ออินเทอร์เน็ต (ใช้ข้อมูลจาก สมาคมโฆษณาดิจิทัลประเทศไทย) ที่ประเมินปีนี้จะมีมูลค่า 12,465 ล้านบาท เติบโต 11.8% ชี้ให้เห็นว่า ไม่เข้าข่ายเป็นธุรกิจขาลงที่ต้องเข้าไปโอบอุ้มแต่อย่างใด เพราะยังถือว่าเป็นสื่อที่แข็งแกร่งจากอัตราการเข้าถึงครัวเรือนไทยทั่วประเทศ 100%  ซึ่งถูกขับเคลื่อนโดย “ทีวีดิจิทัล” ที่มีเรตติ้งรวม 4.9 ในปีที่ผ่านมา ขณะที่ฟรีทีวีรายเดิมเรตติ้งรวมอยู่ที่ 4.0 เนื่องจาก ทีวีดิจิทัล ช่องใหม่ในกลุ่มผู้นำ มีคอนเทนต์ที่โดดเด่นและดึงดูดผู้ชม ส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาในกลุ่มนี้เติบโตในปีที่ผ่านมาต่อเนื่องปีนี้

ข้อเรียกร้องของสมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ที่ยังไม่ได้รับการสนองตอบจากรัฐบาลและกสทช. อาทิ 1) การขอพักการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต เป็นเวลา 5 ปี (ทางกสทช. ได้เสนอความเห็นต่อรองเหลือ 3 ปี) 2) การให้กสทช. ช่วยรับผิดชอบค่าบริการโครงข่ายทีวีดิจิทัล (กสทช. ได้เสนอให้ลดค่าบริการของโครงข่ายลงร้อยละ 50 เป็นเวลา 3 ปี แต่ผู้ประกอบการเห็นว่าที่ผ่านมาได้ชำระค่าเช่าโครงข่ายมาแล้วจำนวนหนึ่งซึ่งน่าจะคุ้มกับการลงทุนของผู้ให้บริการโครงข่ายแล้วจึงไม่น่าที่จะต้องชำระอีก 3) การขอให้ผู้ประกอบการคืนใบอนุญาตได้ (ยังไม่ได้ข้อยุติ) ล้วนแล้วแต่มีอุปสรรคทั้งสิ้นเพราะเดิมไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขที่ต้องได้รับความช่วยเหลือ

นี่คือที่มาของข้อเสนอที่จะให้ใช้ยาสารพัดนึกในการโอบอุ้ม ซึ่งพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ยอมรับว่า หากมีความจำเป็นก็อาจจะต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อออกมาตรา 44 ให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกิจต่อไปได้ ก่อนครบกำหนดชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตครั้งต่อไปในเดือนพฤษภาคม 2561

หากมีการใช้มาตรา 44 จริง อาจจะช่วยให้สื่อทีวีดิจิทัลซื้อเวลาต่ออายุหายนะให้เนิ่นนานไปได้ แต่ในแง่หลักการแล้วถือเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน เพราะตอนที่เข้าประมูลใบอนุญาตนั้น ไม่เคยมีเอกชนรายใดบอกว่าเงื่อนไขของกสทช. “โหดเกิน” แต่อย่างใดเลย

เรื่องนี้กระทั่ง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ยังอ้ำอึ้งยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะการช่วยเหลือต้องไม่เป็นการเอื้อประโยชน์เอกชนฝ่ายเดียว จนกลายเป็นสองมาตรฐาน เพราะอดีตมีผู้ประกอบการหลายรายไม่ร่วมประมูลเนื่องจากกติกาบางอย่าง แต่ขณะนี้อาจมีการลดหย่อนกติกาลง จึงทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มที่ไม่ได้เข้าประมูลอาจจะไม่พอใจต่อมาตรการของรัฐบาลได้

บทพิสูจน์อนาคตของทีวีดิจิทัล จึงเป็นโจทย์ยากพอสมควร เนื่องจากตอนที่เข้าทำธุรกิจนั้น ทุกคนพูดถึงความรุ่งโรจน์ แต่เมื่อไม่สามารถทำได้ ก็จะให้รัฐแบกภาระแทน ซึ่งยากจะให้สังคมยอมรับว่าถูกต้อง และเป็นธรรม

สื่อที่ยอมรับความไม่เป็นธรรมเพราะมีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง จะเอ่ยถึงความเป็นธรรมไปทำไมกัน

ตอนจะรวย ไม่ร้อง แต่ตอนท้องกิ่ว เรียกให้ช่วย ถือเป็นพล็อตนิยายน้ำเน่าที่ไม่น่าชื่นชม

Back to top button