ปัญหารถไฮบริดโตโยต้า
รถไฮบริดที่เป็นเทคโนโลยีการทำงานร่วมกันของเครื่องยนต์ระหว่างน้ำมันกับไฟฟ้า โดยทั่วไปนั้นก็มีอยู่ 2 แบบ
ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์
รถไฮบริดที่เป็นเทคโนโลยีการทำงานร่วมกันของเครื่องยนต์ระหว่างน้ำมันกับไฟฟ้า โดยทั่วไปนั้นก็มีอยู่ 2 แบบ
แบบหนึ่งเรียกว่า “นิกเกิล-เมทัล ไฮดราย” เป็นเทคโนโลยีขั้นปฐมแรกสุดที่ไม่สามารถจะต่อยอดการพัฒนาไปสู่การเป็นรถปลั๊ก-อินหรือรถไฟฟ้า EV ใดๆ ได้เลย แถมยังไม่ใช่เทคโนโลยีสะอาดจริง เพราะยังมีการคายมลพิษตะกั่วอยู่
น่าจะถือเป็นเทคโนโลยีที่ “เอ๊าท์” ไปแล้ว
ส่วนไฮบริดอีกแบบหนึ่งนั้นก็คือ “ลิเธียม-ไอออน” เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาแล้ว แต่ต้นทุนแพงกว่า สามารถพัฒนาต่อยอดไปยังระบบปลั๊ก-อินและรถไฟฟ้า EV ได้
โตโยต้าเลือกเอาแบบนิเกิล-เมทัล ไฮดรายมาผลิตในประเทศไทยทั้งในรุ่นของพรีอุสและคัมรี่
ปัญหาสำคัญของเรื่องนี้ก็คงจะอยู่ที่ว่า แม้จะเป็นไฮบริดที่มีพัฒนาการต่ำสุดและไม่สามารถจะต่อยอดไปที่ไหนได้เลย แต่รถไฮบริดของโตโยต้าในประเทศไทยก็ยังได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ
สิทธิพิเศษการลงทุนโดยทั่วไปก็คือ การได้รับการยกเว้นภาษีเครื่องจักร และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ตลอดจนสิทธิการพำนักทำงานของคนต่างด้าว
นอกจากนั้นก็ยังทำให้ต้นทุนการแข่งขันของรถโตโยต้าในเซ็กเม้นท์ไฮบริด มีต้นทุนที่ต่ำกว่าคู่แข่งจากค่ายรถญี่ปุ่นด้วยกันหรือกระทั่งค่ายรถยุโรปด้วย แถมยังมีข่าวด้วยว่า ไฮบริดแบบ “ลิเธียม-ไอออน” โตโยต้าเอาไปใช้ที่มาเลเซีย
ข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในกระทรวงอุตสาหกรรมและบีโอไอ ต่างก็อึดอัดใจที่จะให้การส่งเสริมรถไฮบริดสายพันธุ์โบราณของโตโยต้านี้ กระทั่งแทงหนังสือคัดค้านก็มี แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรได้ ในเมื่อเป็นนโยบายการเมือง
มีข่าวด้วยซ้ำว่าระดับรองอธิบดีคนหนึ่งที่คัดค้าน ยังถูกคำสั่งย้ายออกนอกสังกัด ไม่ได้ขึ้นเบอร์ 1 ของหน่วยงานนั้น
ร่ำลือกันให้แซ่ดว่า หาก “ฟ้าเปลี่ยนสี” หรือขั้วการเมืองเปลี่ยนแปลงเมื่อไหร่ ระดับรองนายกฯที่สั่งการ หรือระดับรัฐมนตรีที่ทุบโต๊ะให้ส่งเสริมรถไฮบริดโตโยต้าสายพันธุ์โบราณ อาจจะต้องเดินขึ้นโรงขึ้นศาลเพื่อเคลียร์คดีนี้
ไม่ใช่เรื่องสนุกเลย หากฟ้าเปลี่ยนสีแล้วยังจะต้องเทียวไล้เทียวขื่อไปขึ้นโรงขึ้นศาลเหมือนนักการเมืองคนอื่นๆ
ยังคงไม่เป็นที่แน่ชัดเหมือนกันว่า การส่งเสริมรถไฮบริดแบบผิดทางเช่นนี้ เกิดเพราะความไม่รู้ไม่เข้าใจ หรือเกิดเพราะความมีนอกมีในกันแน่
แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ประเทศชาติเสียประโยชน์จากการได้เทคโนโลยีที่ “เอ๊าท์” หรือล้าสมัย ไม่สามารถจะไปพัฒนาต่อยอดใดๆ ได้แล้ว
เป็นการส่งเสริมการลงทุนแบบผิดทาง และผู้บริหารอำนาจรัฐก็หลงเหลี่ยมเอกชนอย่างไม่น่าให้อภัย