ดอกจูดาสและค่าโง่ทางธุรกิจ

คำตัดสินของศาลฎีกาไทยเมื่อวานนี้ เป็นการปิดฉากคำฟ้องอันยืดเยื้อยาวนานเกือบ 11 ปี ของ นายศิวะ งานทวี และบริษัท ไทย-ลาว ลิกไนต์ (ประเทศไทย) หรือ TLL ในปี 2550 ต่อจำเลยที่เป็น 3 บริษัทในกลุ่ม บมจ.บ้านปู (BANPU) ที่ให้ยื่นคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เกือบทั้งหมด ยกเว้นส่วนที่ให้แก้ไขจากเดิมเล็กน้อย คือ มีคำสั่งให้กลุ่ม BANPU ชดใช้ค่านำข้อมูลสัมปทานเหมืองถ่านหินของโรงไฟฟ้าหงสาของนายศิวะไปใช้เป็นมูลค่า 1.5 พันล้านบาท พร้อมอัตราดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องในเดือน กรกฎาคม 2550 


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

คำตัดสินของศาลฎีกาไทยเมื่อวานนี้ เป็นการปิดฉากคำฟ้องอันยืดเยื้อยาวนานเกือบ 11 ปี ของ นายศิวะ งานทวี และบริษัท ไทย-ลาว ลิกไนต์ (ประเทศไทย) หรือ TLL ในปี 2550 ต่อจำเลยที่เป็น 3 บริษัทในกลุ่ม บมจ.บ้านปู (BANPU) ที่ให้ยื่นคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เกือบทั้งหมด ยกเว้นส่วนที่ให้แก้ไขจากเดิมเล็กน้อย คือ มีคำสั่งให้กลุ่ม BANPU ชดใช้ค่านำข้อมูลสัมปทานเหมืองถ่านหินของโรงไฟฟ้าหงสาของนายศิวะไปใช้เป็นมูลค่า 1.5 พันล้านบาท พร้อมอัตราดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องในเดือน กรกฎาคม 2550

คดีดังกล่าวย้อนความเดิมไปไกลนับช่วงปี 2535-2536 โดย TLL ที่มีนายศิวะถือหุ้นใหญ่และบริหาร ได้ทำสัญญากับรัฐบาล สปป.ลาว ทำเหมืองถ่านหินในจังหวัดหงสา จัดตั้งบริษัท หงสา ลิกไนต์ (ประเทศลาว) หรือ HLL ขึ้นในปี 2537 โดยมีทางการ สปป.ลาวร่วมถือหุ้นด้วย และปีเดียวกันนั้นก็มีการทำข้อตกลงในการจัดสร้างโรงไฟฟ้าขึ้น ให้สิทธิ TLL ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ด้วยเงินลงทุนของ TLL เอง และบริหารโรงไฟฟ้าตามระยะสัมปทาน โดยใช้ถ่านหินที่ขุดได้จากเหมืองของ HLL

บังเอิญข้อตกลงทั้ง 2 ดังกล่าว พบอุปสรรคในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งในไทย ระหว่างปี 2540-2543 ส่งผลให้ TLL ไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนได้เพียงพอ อีกทั้งเงินลงทุนต่างๆ (การสำรวจ ซื้อเครื่องมือ ก่อสร้างถนนไปเหมืองถ่านหิน เจรจาขายไฟฟ้าล่วงหน้าให้กับรัฐบาลไทย และทุนก่อสร้างโรงงาน) ก็เริ่มร่อยหรอลงไป ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ กลายเป็น “4 ปีอันสูญเปล่า”

นายศิวะ และ TLL ดิ้นรนหาพันธมิตรร่วมทุน โดยเชื้อเชิญให้กลุ่ม BANPU เข้าร่วมลงทุนต่อในปี 2547 แต่ด้วยสาเหตุไม่เปิดเผย กลับต่อมามีเหตุให้ต้องมีเรื่องตัด BANPU ออกจากการร่วมทุนโครงการในปี 2549

ต่อมาในปีเดียวกัน ทางการ สปป.ลาว ไม่ยอมทนความล่าช้าที่นานกว่า 8 ปี จึงได้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรไปทาง TLL แสดงความกังวลว่า TLL อาจไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทำกันไว้ได้ (PDA) แต่ TLL ก็วางเฉย เป็นเหตุให้ สปป.ลาว ได้ยกเลิกข้อตกลง PDA ในวันที่ 5 ตุลาคม 2549 และต่อมาก็ได้ยกเลิกสัญญาเหมืองแร่กับ HLL ด้วย

หลังจากยกเลิกสัญญากับ TLL และ HLL เพียง 3 เดือน สปป.ลาวได้เข้าทำข้อตกลงในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหินอีกครั้งกับ BANPU โดยมีทางการของลาวถือหุ้นร่วมด้วย 20%

คำฟ้องต่อศาลแพ่งของนายศิวะ และ TLL มี 2 ประเด็นรวมกัน เรียกค่าเสียหาย 56,000 ล้านบาท คือ กล่าวหาว่า 1) เครือ BANPU กับพวกฯ ทำการหลอกลวง โดยเข้าร่วมทำสัญญาร่วมทุนกับนายศิวะกับพวกฯ เพื่อประสงค์จะได้ข้อมูลสัมปทานเหมืองถ่านหิน รวมทั้งรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ที่เมืองหงสา สปป.ลาว และ 2) ได้ใช้สิทธิไม่สุจริตในข้อมูลจากการร่วมลงทุนก่อสร้าง และแผนพัฒนาไฟฟ้าและเหมืองถ่านหินที่เป็นความลับของ TLL ไปใช้ประโยชน์

ศาลแพ่งชี้ขาดว่า ข้อแรก BANPU ไม่ผิด แต่ผิดในข้อหลังในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลลับทางธุรกิจโดยไม่สุจริต ต้องชดใช้ค่าเสียหาย 31,740 ล้านบาท

กลุ่ม BANPU ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งต่อมาศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาตามหนังสืออ้างอิง บป.0957/145 ลงวันที่ 9 กันยายน 2557 กลับคำสั่งศาลชั้นต้น แต่ฝ่ายนายศิวะและ TLL ยื่นฎีกาต่อ ซึ่งคำตัดสินของศาลฎีกาดังกล่าว ทำให้ BANPU ชดใช้ค่าเสียหายต่ำกว่าคาด และต่ำกว่าข้อเรียกร้องของนายศิวะ และ TLL มาก

หากมองข้ามประเด็นเรื่องผลกระทบต่อราคาหุ้นของกลุ่ม BANPU ไป จะเห็นได้ว่านี่เป็นอีกครั้งที่ศาลยุติธรรม นำเอาต้นทุนของ “ข้อมูลลับทางธุรกิจ” (Confidential Business Information) มาประเมินอย่างต่างกันลิบลับ

กุญแจสำคัญของประเด็นดังกล่าว ตำรากฎหมายว่าด้วยข้อมูลลับทางธุรกิจ ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า ในการเริ่มเจรจาธุรกิจนั้นย่อมมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันเป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ตามหากคู่เจรจา เห็นว่าจำเป็นต้องให้ข้อมูลสำคัญที่ลับมากของกิจการเพื่อตีค่าการลงทุนและความเสี่ยง อาจกำหนดให้คู่เจรจาเข้าทำสัญญารักษาความลับ (Non Disclosing Agreement (NDA) หรือ Confidentiality Agreement (CA)) 

สาระสำคัญของกฎหมายก็เพื่อป้องกันในกรณี “ดีลล่ม” เพราะเนื้อหาของ NDA หรือ CA จะกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของฝ่ายผู้รับข้อมูล (Receiving Party) โดยเมื่อได้รับการเปิดเผยข้อมูลลับจากผู้ให้ข้อมูล (Disclosing Party) แล้วนั้น Receiving Party จะต้องเก็บข้อมูลนั้นเป็นความลับห้ามมิให้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อบุคคลภายนอก หรือนำความลับนั้นไปใช้ประโยชน์ที่อาจจะสร้างความเสียหายต่อผู้เปิดเผยได้

กติกาป้องกัน “ทรยศต่อความลับจัดชั้น” นี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นหลักกฎหมายที่มีพัฒนาการมานับแต่ “กฎหมาย 12 โต๊ะ” ในสมัยโรมัน ที่ใช้กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างนายทาสกับทาส ในกรณีที่การที่ทาสที่ถูกขายไปเกิด “ลิ้นยาว” (ในกรณีที่ลิ้นไม่ถูกตัดไปเสียก่อน) ถูกนายทาสใหม่ที่เป็นคู่แข่งนายทาสเดิมล่อลวงให้เปิดเผยข้อมูลอันเป็นความลับทางธุรกิจของนายทาสเดิม

ต่อมาในอังกฤษ หลักกฎหมายได้ถูกพัฒนาเป็นหลักการละเมิดความไว้วางใจ (Breach Of Confidence) และพัฒนาเพิ่มเติมมาเข้มข้นขึ้น เพื่อให้เกิดพันธกรณีที่ชัดเจน ระหว่างผู้ให้ข้อมูลและผู้รับข้อมูล (โดยสามารถใช้สลับกับคำว่า “ความลับทางการค้า” (Trade Secrets)

กรณีของคำพิพากษาศาลฎีกากรณีนายศิวะ งานทวี และ TLL กับกลุ่ม BANPU เป็นบทเรียนของการละเมิด “ข้อมูลลับทางธุรกิจ” ที่ไม่เกิดขึ้นบ่อย แต่มีความหมายยิ่งต่อผู้บริหารที่คิดผลักดันธุรกิจให้โตทางลัดทุกคน   

นั่นเพราะ ดอกจูดาส สามารถเบ่งบานได้เสมอในวงการธุรกิจ

Back to top button