PTTEP ตบหัวที่ศาลา ขอขมาในส้วม

ตอนที่กระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้อินโดนีเซียฟ้องบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP และบริษัท PTTEP Australasia (Ashmore Cartier) Pty Ltd ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ในคดีต่อศาลในประเทศอินโดนีเซีย เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลในแหล่งมอนทารา ประเทศออสเตรเลีย เป็นจำนวนเงินประมาณ 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 6.5 หมื่นล้านบาท เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2560 ...เป็นข่าวใหญ่ทั่วโลก


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

ตอนที่กระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้อินโดนีเซียฟ้องบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP และบริษัท PTTEP Australasia (Ashmore Cartier) Pty Ltd ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ในคดีต่อศาลในประเทศอินโดนีเซีย เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลในแหล่งมอนทารา ประเทศออสเตรเลีย เป็นจำนวนเงินประมาณ 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 6.5 หมื่นล้านบาท เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2560 …เป็นข่าวใหญ่ทั่วโลก

ไม่ใช่ใหญ่เพราะมูลค่าฟ้องร้องค่อนข้างสูงมากกว่า 6 หมื่นล้านบาทเท่านั้น แต่ยังใหญ่เพราะทำเอาราคาหุ้น PTTEP และแม่อย่าง PTT ออกอาการเสียศูนย์ไปหลายวัน

ยามนั้นนักวิเคราะห์หุ้นขวัญอ่อน….พากัน “ขนแขน สแตนด์อัพ” …แนะให้ขายกันเป็นทิวแถว…ให้เหตุผลว่าเป็นเพราะผู้บริหารของ PTTEP ดื้อไม่ยอมตั้งสำรอง…ก็ว่ากันเข้าไป

ล่าสุดวานนี้ PTTEP รายงานข่าวในตอนค่ำว่า ศาลแขวงกลางแห่งกรุงจาการ์ตาได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากรัฐบาลอินโดนีเซียได้ขอถอนฟ้อง ….โดยให้เหตุผลว่าจะแก้ไขคำฟ้อง

ข่าวดังกล่าว ถ้าไม่ใช่ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” มีโอกาสลงตะกร้า หรือไม่ก็หน้าหลังสุด….เข้าข่าย “ตบหัวกลางศาลา….ขอขมาในห้องส้วม”…เป๊ะทีเดียวเชียว!!!

โดยข้อเท็จจริงแล้ว การฟ้องร้องของรัฐบาลอินโดนีเซียในกรณีน้ำมันรั่วจากแหล่งมอนทาราในเขตสัมปทานที่ออสเตรเลียนั้น ค่อนข้างช้ามาก เพราะเหตุการณ์มันเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2552 แล้ว

เหตุร้ายดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2552 ที่เกิดการระเบิดของแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติขึ้นที่แหล่งขุดเจาะน้ำมันมอนทารา นอกชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือประเทศออสเตรเลียออกไป 250 กม. ในเขตน่านน้ำของออสเตรเลีย เป็นเหตุให้มีน้ำมันดิบและก๊าซรั่วไหลออกมาในทะเลเป็นจำนวนมาก

แหล่งขุดเจาะดังกล่าว ถือว่าใหญ่มากทีเดียว คิดเป็นผลผลิตร้อยละ 70 ของการผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสท (Condensate) ของประเทศออสเตรเลียทีเดียว

เจ้าของแท่นขุดเจาะดังกล่าวเป็นของบริษัท ปตท.สผ. ออสตราเลเซีย (PTTEPAA) บริษัทลูกของ PTTEP ที่ไปดำเนินงานในต่างประเทศ

หลังเหตุเกิดขึ้นและผ่านไป PTTEPAA ได้ส่งผ่านบทบาทการทำความสะอาดคราบน้ำมันให้หน่วยงานความปลอดภัยทางทะเลของออสเตรเลีย (the Australian Maritime Safety Authority: AMSA) จัดการ ด้วยวิธีการล้อมคราบน้ำมันและดูดกลับรวมถึงฉีดสารเคมี (ยกเว้นการเผาที่ไม่ได้ทำ) โดยใช้เวลาในการระงับเหตุทั้งหมด 74 วัน มีน้ำมันดิบรั่วไหลออกมาเฉลี่ยวันละประมาณ 400 บาร์เรลต่อวัน รวมแล้วประมาณ 4 ล้านลิตร คราบน้ำมันที่แพร่กระจายไปในทะเลกินพื้นที่ถึง 90,000 ตารางกิโลเมตร…. นับว่าเป็นเหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งที่เลวร้ายที่สุดของประเทศออสเตรเลีย

ต่อมา ในรายงานของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง (The Montara Inquiry Commission’s Report) ได้นำเสนอต่อสาธารณะในเดือนพฤศจิกายน 2553 ระบุว่า “การที่บริษัท PTTEP ติดตั้งแนวกั้นในบ่อน้ำมันเพื่อป้องกันการรั่วไหลเพิ่มเติมนั้นดำเนินการอย่างไม่เพียงพอ และยังไม่ได้ติดตั้งแนวกั้นอันที่สองที่จำเป็นต้องทำอีกด้วย” 

นอกจากนี้รัฐมนตรีคนหนึ่งของออสเตรเลียที่เกี่ยวข้องยังออกมาแสดงความคิดเห็นเชิงลบว่า “หาก PTTEP ซึ่งดำเนินการแท่นขุดเจาะมอนทาราและรัฐบาลท้องถิ่นนอร์ทเทอร์นเทอริทอรี (Northern Territory) ทำงานของตนอย่างเหมาะสม การระเบิดและรั่วไหลของน้ำมันออกสู่ทะเลติมอร์อย่างมหาศาลนี้จะไม่เกิดขึ้น”

ท้ายสุด เมื่อมีการประเมินความเสียหายและผลกระทบเสร็จ ทางด้าน PTTEP และ PTTEPAA ได้แสดงความรับผิดชอบ ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายไปแล้วกว่า 9.7 พันล้านบาท (ไม่รวมที่สามารถเคลมประกันได้)

การยินยอมจ่ายค่าเสียหายโดยไม่มีบิดพลิ้วชนิด “โชว์เทพ” ของ PTTEP แม้จะผ่านไปแล้วหลายปีดีดัก ก็ยังมีประเด็นทางวิชาการในข้อกฎหมายให้ถกเถียงกันในห้องเรียนหลายประเทศต่อมาจนถึงปัจจุบันว่าสมควรจ่ายหรือไม่ เพราะ…..รายละเอียดของกฎหมาย ในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความรับผิดทางแพ่งเพื่อความเสียหายอันเกิดจากมลพิษน้ำมัน ค.ศ. 1969 (CLC) และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนระหว่างประเทศเพื่อชดใช้ความเสียหายอันเนื่องมาจากมลพิษน้ำมัน ค.ศ. 1971….จะชดเชยค่าเสียหายที่เกิดจากน้ำมันรั่วจากเรือบรรทุกน้ำมันเท่านั้น ไม่รวมถึงการรั่วไหลจากแท่นขุดเจาะ ซึ่งกรณีดังกล่าว AMSA ที่ได้เข้ามาจัดการกับคราบน้ำมันไม่สามารถเบิกจ่ายค่าเสียหายจากกองทุนอนุสัญญาระหว่างประเทศฯได้ …แต่เมื่อ PTTEP ยอมตัดรำคาญ ยินดีแบกความรับผิดชอบภาระ ก็ถือว่าเป็นความดีที่เกินเลย

ยกให้พระเอกเขาคนหนึ่ง…ละกัน

เพียงแต่บทพระเอกของ PTTEP ไม่โดนใจรัฐบาลอินโดนีเซีย และติมอร์ตะวันออก…ที่มองว่า ตนเองก็ได้รับความเสียหายเช่นกัน…จ้องหาเหตุตาเป็นมันเรียกค่าเสียหายบ้าง

ประเด็นก็มีอยู่ว่า ทั้งสองประเทศ ไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับ PTTEP ได้จนถึงทุกวันนี้ เนื่องจากประเทศ…..ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เพียงพอจะเอาผิดได้ ประกอบกับแผนที่กระแสน้ำทางทะเลที่ PTTEP นำมาใช้อ้างอิง….ระบุว่า ทิศทางของกระแสน้ำในเขตมหาสมุทรบริเวณนั้นที่ไม่พัดเข้าไปในเขตน่านน้ำของทั้งสองประเทศ

ที่สำคัญหลังกรณีมอนทารา PTTEP ยังคงได้รับการอนุญาตและมีบทบาทในการลงทุนทำธุรกิจดำเนินการสำรวจและขุดเจาะก๊าซและน้ำมัน รวมถึงการเจาะหลุมใหม่เพิ่มในทะเลติมอร์คือแหล่ง Cash and Maple gas fields สำหรับโครงการ LNG มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์

ผลของการฟ้องร้องของรัฐบาลอินโดนีเซียทำให้ PTTEP จำต้องระงับลงทุนโครงการอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการศึกษาในประเทศอินโดนีเซียออกไปก่อนจนกว่าจะมีความชัดเจนและข้อยุติเรื่องคดี…ยกเว้น โครงการที่ดำเนินงานอยู่แล้วคือ Natuna Sea A โดยถือสัดส่วน 11.5% ซึ่งมีปริมาณการขายก๊าซธรรมชาติประมาณ 224 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และมีปริมาณการขายน้ำมันดิบเฉลี่ยประมาณ 1,200 บาร์เรลต่อวัน โดยคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1% ของปริมาณการขายทั้งหมดของ PTTEP ….เพราะเป็นคนละประเด็นกับโครงการมอนทารา และไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกัน

การล่าถอยของรัฐบาลอินโดนีเซีย ไม่ว่าจะชั่วคราว หรือตลอดไป….เป็นข่าวดีแน่นอนสำหรับ PTTEP แต่จะเป็นข่าวร้ายสำหรับ NGOs หรือไม่….ใครช่วยบอกที

อิ อิ อิ

Back to top button