จัดพอร์ต-ปรับพอร์ตลูบคมตลาดทุน

สัปดาห์ก่อนหน้ามีงานเสวนาที่ประเด็นไม่เล็ก เป็นการจัดร่วมกันระหว่าง บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน)


ธนะชัย ณ นคร

 

สัปดาห์ก่อนหน้ามีงานเสวนาที่ประเด็นไม่เล็ก เป็นการจัดร่วมกันระหว่าง บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน)

2 ผู้บริหารที่มาร่วมพูดคุยคือ คุณไชย ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไทยประกันชีวิต

และคุณเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ของอินเด็กซ์ฯ

ทั้ง 2 คน จัดเป็นเซียนการตลาดของประเทศไทยในลำดับต้นๆ

ไฮไลต์ที่เสวนาในวันนั้น เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของคนไทย ยังขาดการ “วางแผนทางการเงิน” ให้กับตนเองได้ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

หรือบางคนไม่ได้มีการวางแผนเลย

ทว่ากลับมีการใช้จ่ายเกินตัว และหลงไปกับกระแสความฟุ้งเฟ้อ

มีการยกตัวอย่างจากคุณไชย กับคำว่า Work Hard / Play Hard ที่มีนัยว่า คนเราเมื่อทำงานหนักก็ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ อาจจะด้วยการท่องเที่ยวหรืออะไรก็แล้วแต่ครับ

แต่ทุกวันนี้ ต้องมาดูว่า ที่ Play Hard กันมากๆ นั้น เราได้ Work Hard มากเช่นกันหรือไม่

หลายคนพยายามเรียนรู้ และใช้ชีวิตแบบคนตะวันตก

แต่กลับเลือกเพียงเฉพาะด้าน Play Hard มาเท่านั้น ส่วนด้านอื่นๆ เรายังมีไม่เพียงพอ เช่น การออมทรัพย์ การวางแผนทางการเงิน การใช้ชีวิตในวัยเกษียณ

คุณไชยยกตัวอย่างเพิ่มเติมได้น่าสนใจอีกครับ

ทุกวันนี้ เทคโนโลยีทางการแพทย์ไปไกล และทันสมัยมาก ทำให้ประชากรมีชีวิตยืนยาวขึ้น และนั่นทำให้เกิดเรื่อง Die Hardest หรือ “ภาวะตายยาก”

เมื่อขาดการวางแผนทางการเงินที่ดี และตายยากด้วย

จึงมีคำถามว่า แล้วเราจะใช้ชีวิตในยามเกษียณกันอย่างไร ซึ่งจะเห็นว่าส่วนนี้ของไทยเราต่างกับประเทศตะวันตกที่จะมีสวัสดิการที่ดีในวัยเกษียณ

ผมจะยกตัวอย่างส่วนของคุณเกรียงไกรมาอีก 1-2 เรื่อง

เขาบอกว่าทุกวันนี้ Digital Marketing มาแรงมาก คนให้ความสำคัญกับ “สังคมออนไลน์” มากขึ้น

การตลาดก็พยายามดึงดูดคนเข้าไปใช้บริการ หรือซื้อสินค้าต่างๆ หรือบรรดาผู้ประกอบการก็ออกแบบสินค้ามาตอบสนองความต้องการลูกค้ามากขึ้น

หรืออย่างไลฟ์สไตล์ของคนไทยทุกวันนี้ เช่น การท่องเที่ยวก็มีมูลค่าสูงขึ้น ต้องพักหรู กินกาแฟแพงๆ

ทราบกันไหม คนไทยหลายคนกินกาแฟ 1 แก้ว ราคา 130 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เทียบเท่ากับกาแฟที่ขายในนิวยอร์ก (130 บาท) และญี่ปุ่น (135 บาท)ขณะที่ค่าครองชีพต่างกันมาก

คนไทยยังเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือกันบ่อย และราคาก็สูงลิ่ว

ฟังมาถึงตรงนี้ ผมก็เห็นด้วยครับ

อย่างมีอยู่ช่วงหนึ่งที่คนไทยแห่ไปประเทศเกาหลีกัน (ตอนนี้ก็ยังไปกันอยู่)

ทุกคนก็พยายามที่จะไปให้ได้ มีทั้งเก็บเงินหรือกู้เงินไปเที่ยวกัน

มาถึงในยุคปัจจุบัน ไลฟ์สไตล์ก็เปลี่ยนแปลงอีก เริ่มใช้เงินกันมากขึ้น จากเดิมเกาหลียังไม่พอ เพราะต้องการไปญี่ปุ่นด้วย มิเช่นนั้นจะ “ตกกระแส” ได้

จริงๆ แล้วหากใช้เงินเก็บ หรือเงินส่วนเกินจากการออมทรัพย์ ก็ไม่น่ามีปัญหา

ทว่า กลับมีการใช้เงินกู้ แล้วผ่อนจ่ายเป็นรายเดือน

ไม่เพียงเท่านั้น เวลาไปซื้อของต่างๆ ก็จะใช้บัตรเครดิตรูดซื้อสินค้าอีก ซึ่งนั่นเท่ากับว่า จะยิ่งเป็นหนี้มากขึ้นไปอีก

เมื่อเที่ยวเสร็จแล้วก็มาโพสต์ในสังคมออนไลน์ เพื่อสื่อว่า ฉันไปเที่ยวมาแล้วนะ ฯลฯ

มีหลายคนที่ใช้ไลฟ์สไตล์แบบนี้

จริงแล้ว ยังมีการยกตัวอย่างเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่อีกจำนวนมาก ที่กินหรู ดูดี ฯลฯ แต่เป็นการใช้จ่ายเกินตัว หรือเกินวัยบางคนเป็นพนักงาน แต่ใช้ไลฟ์สไตล์เหมือนผู้บริหาร

กล่าวโดยสรุปแล้ว หลายคนที่มีชีวิตแบบนี้เพราะหลงไปกับกระแสทั้งที่รู้ตัว และไม่รู้ตัว

ทางออกที่ดีคือ ต้องรู้จักการวางแผนทางการเงิน

หลายคนไม่เคยจัดทำแผนการเงินให้กับตัวเอง ก็ต้องมาเริ่มต้นจัดกันล่ะ

ส่วนบางคนที่มีการวางพอร์ต วางระบบการเงินให้กับตัวเองไว้แล้ว แต่อาจยังไม่ดีเพียงพอ ก็ต้องมาปรับกันใหม่

ประเทศไทยนั้น ไม่เหมือนกับประเทศแถวตะวันตก หรือญี่ปุ่น ที่นอกจากคนของเขาจะวางแผนการเงินมาอย่างดีแล้ว พวกเขายังมีสวัสดิการจากภาครัฐที่ดีด้วยเช่นกัน

เรามาวางแผนทางการเงินกันใหม่ดูครับ

ไม่ว่าจะเป็น การออมทรัพย์ผ่านการประกันชีวิต การซื้อกองทุนระยะยาว เช่น แอลทีเอฟ อาร์เอ็มเอฟ หรือซื้อหุ้นแบบลงทุนระยะยาว ฯลฯ

ก็เพื่อการมีชีวิตในวัยเกษียณที่ดีนั่นแหละ

 

 

 

 

 

Back to top button