อปท. Vs หมาบ้า (& สตง.)
กรมปศุสัตว์ประกาศเขตโรคพิษสุนัขบ้าระบาด 13 จังหวัด เฝ้าระวังอีก 42 จังหวัด กรมควบคุมโรคชี้ว่าหนักกว่าปีก่อน 2 เท่า พร้อมยอมรับ สาเหตุหนึ่งมาจาก สตง.ทักท้วงองค์กรปกครองท้องถิ่นว่าไม่มีอำนาจหน้าที่ใช้งบซื้อวัคซีนฉีดหมาแมวชาวบ้านฟรี
ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง
กรมปศุสัตว์ประกาศเขตโรคพิษสุนัขบ้าระบาด 13 จังหวัด เฝ้าระวังอีก 42 จังหวัด กรมควบคุมโรคชี้ว่าหนักกว่าปีก่อน 2 เท่า พร้อมยอมรับ สาเหตุหนึ่งมาจาก สตง.ทักท้วงองค์กรปกครองท้องถิ่นว่าไม่มีอำนาจหน้าที่ใช้งบซื้อวัคซีนฉีดหมาแมวชาวบ้านฟรี
อันที่จริงยังมีสาเหตุอื่น เช่น หมาแมวจรจัดเพิ่มมากกว่า 3.4 แสนตัว หลังมีกฎหมายเอาผิดคนทารุณสัตว์ แต่กลับไม่มีงบ ไม่มีหน่วยงานดูแลสัตว์จรจัด มีแต่จับคนเข้าคุก
กระนั้น สตง.ก็เป็นประเด็นหลัก เพราะ อปท.ฉีดวัคซีนอยู่ดีๆ โดนทักท้วงว่าไม่มีอำนาจ เป็นอำนาจหน้าที่กรมปศุสัตว์ต่างหาก ทำให้ อปท.หยุดชะงัก หวาดผวากันทั้งประเทศ
อดีตผู้ว่า สตง.อ้างว่า ที่ทักท้วงเพราะ อปท.มักซื้อวัคซีนจำนวนมาก ไร้คุณภาพ ราคาแพง ใช้ไม่หมด ไม่มีที่จัดเก็บ ทำให้เสื่อมคุณภาพ ฯลฯ แต่ประเด็นไม่ใช่อย่างที่ท่านพูดเลยครับ ที่มันเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมา ก็เพราะเมื่อปี 2557 สตง.ไปตรวจเทศบาลตำบลสุรนารี นครราชสีมา แล้วชี้ว่าเทศบาลเบิกงบไปฉีดวัคซีนโดยไม่มีอำนาจ เมื่อไม่มีประกาศจากกรมปศุสัตว์ จะฉีดวัคซีนฟรีให้ชาวบ้านไม่ได้
คือมันไม่ใช่ปัญหา อปท.ทุจริตหรือบกพร่อง แต่ สตง.ฟันฉับว่าทำไม่ได้ ต่อให้ทำโดยสุจริต มัธยัสถ์ รัดกุม ก็ยังผิด เพราะไม่มีอำนาจ แม้ไม่ติดคุกก็ถูกสอบวินัยถูกเรียกให้ชดใช้เงิน
สตง.จับผิดแล้วยังร่อนหนังสือแจ้ง อปท.ทุกแห่ง ให้หยุดหมด จนกรมปศุสัตว์ยื่นกฤษฎีกาตีความเมื่อเดือนเมษายน 2559 ชี้ว่า อปท.มีอำนาจ เทศบาลตำบลสุรนารีไม่ผิด เพราะทำตามที่กรมปศุสัตว์ กรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือ
กระนั้น ผลตีความก็ไม่ได้ปลดล็อก เพราะ อปท.เข็ดขยาด ใครจะอยากเสี่ยง สตง.ไม่ได้เปิดไฟเขียวซักหน่อย ก็ยังไล่ตรวจอยู่ว่าซื้อคุ้มไหม เหมาะไหม ฯลฯ อยู่เฉยๆ ปลอดภัยกว่า
พิษสุนัขบ้าไม่ใช่เรื่องเดียวที่ อปท.เผชิญภัย สตง. แล้วกระทบต่อประชาชน เมื่อปลายปีที่แล้ว อปท.ก็โวยเรื่องภัยหนาว ซึ่งกระทรวงการคลังบ้าจี้ตามรายงาน สตง. ให้แก้ไขหลักเกณฑ์ซื้อเครื่องกันหนาว จากอากาศต่ำกว่า 15 องศาติดต่อกัน 3 วัน เป็น 8 องศาติดต่อกัน 3 วัน
เข้าใจนะครับ เกิดทุจริตจัดซื้อผ้าห่มมาก แต่กำหนดซะขนาดนั้น อปท.เหนืออีสานก็ประชดว่าให้ชาวบ้านหนาวตายก่อนรึไง
มีอีกหลายเรื่องที่ อปท.เคยบริการประชาชนแต่ทำไม่ได้ เช่น เทศบาลรังสิตเคยใช้รถพยาบาลฉุกเฉินบริการผู้ป่วยติดเตียง แต่พอมี พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน ก็บอกไม่ใช่อำนาจหน้าที่ การจัดงานต่างๆ เช่นวันเด็ก แจกของขวัญจับรางวัลไม่ได้ (แต่ทหารทำได้) จัดอบรมฝึกอาชีพ เลี้ยงอาหารไม่ได้ (แต่ไทยนิยมมีงบเลี้ยงอาหาร 2 พันกว่าล้าน)
พูดอย่างนี้ไม่ใช่มอง สตง.แต่ด้านลบ เพียงยกเป็นเยี่ยงอย่าง ของทัศนะปราบโกงที่ผิดเพี้ยน ซึ่งเป็นคล้ายกันแทบทุกองค์กร ข้อแรก คือทัศนะจ้องจับแต่นักการเมือง แล้วข้าราชการล่ะ (โกงเงินคนจนต่างจากแจกผ้าห่มตรงไหน) ข้อสอง ทัศนะไม่เชื่อมั่นการกระจายอำนาจ ไม่เชื่อว่า อปท.ยิ่งใกล้ชิดประชาชน ยิ่งตรวจสอบง่าย ข้อสาม มุ่งปราบโกงโดยกางกฎระเบียบ จู้จี้จุกจิก ซึ่งมักไปขวางประสิทธิภาพ คนอยากทำงานกลับทำไม่ได้ คนโกงก็ลอดช่องได้อยู่ดี
ข้อสี่ สตง.และองค์กรต่างๆ ไม่ยักตรวจสอบอำนาจปัจจุบันได้ แม้มีบางกรณีที่ดูกล้าหาญ เช่น สตง.ตรวจการจัดซื้องานวิจัยของกองทัพบก แต่ลงท้ายก็เงียบไป ขณะที่การจัดซื้ออาวุธ ซื้อเรือดำน้ำ สตง.ก็ตีตรารับประกันความโปร่งใส นี่ต่างหาก เรื่องใหญ่