เฮ ‘ค่าโง่’ ไม่รอศาล?

“เฮกันทั้งประเทศ” หลังศาลปกครองมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ กรมควบคุมมลพิษไม่ต้องชดใช้ “ค่าโง่คลองด่าน” 9 พันกว่าล้านให้กิจการร่วมค้า NVPSKG โฆษกไก่อูคุยฟุ้ง รัฐบาลปกติทำอย่างนี้ไม่ได้นะ เพราะอาจถูกกดดันจากหลายฝ่าย


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

“เฮกันทั้งประเทศ” หลังศาลปกครองมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ กรมควบคุมมลพิษไม่ต้องชดใช้ “ค่าโง่คลองด่าน” 9 พันกว่าล้านให้กิจการร่วมค้า NVPSKG โฆษกไก่อูคุยฟุ้ง รัฐบาลปกติทำอย่างนี้ไม่ได้นะ เพราะอาจถูกกดดันจากหลายฝ่าย

เดี๋ยวๆ ใครกดดันใคร เห็นมีแต่กระแสกดดันไม่ให้จ่ายทั้งนั้น คนดีคนซื่อ สื่อ ภาคประชาสังคมแห่กดดันรัฐบาลไม่ยอมให้จ่ายตามศาลพิพากษา กระทั่งสามารถขอพิจารณาใหม่

ซึ่งพอศาลปกครองกลางสั่งใหม่ ว่าไม่ต้องจ่าย ก็เฮกันใหญ่ โดยไม่รอฟังศาลสูงสุดอีกชั้น เห็นกระแสแล้วก็เหนื่อยแทนศาล ถ้าตัดสินตามกฎหมายมีหลักการมีเหตุผล แต่ผลออกมาไม่ถูกใจสังคม อาจโดนก่นยับ ว่าไม่รักษาผลประโยชน์ชาติ

คดีคลองด่านมีปมกฎหมายที่ต้องเข้าใจตรงกัน 2 ชั้น ชั้นแรกคือศาลจะใช้อำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ ต้องเข้าข่าย พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ มาตรา 40 วรรค 3 คืออนุญาโตฯ วินิจฉัยไม่อยู่ในขอบเขตสัญญา วินิจฉัยเกินคำขอ หรือองค์ประกอบอนุญาโตฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำชี้ขาดนั้นขัดต่อความสงบเรียบร้อยศีลธรรมอันดี เป็นต้น

พูดง่ายๆ คือศาลไม่มีอำนาจตัดสินใหม่ แค่มีอำนาจ review เชิงกระบวนการ บางคดีแม้ศาลไม่เห็นด้วย แต่ถ้ากระบวนการไม่มีปัญหา ก็ต้องว่าตามนั้น

อ้าว คุณไปทำสัญญากันไว้แบบนั้นทำไมล่ะ สัญญาว่าเมื่อมีข้อพิพาทจะตั้งอนุญาโตฯ ชี้ขาด ไม่ต้องฟ้องศาลรอคำพิพากษา เมื่อชี้แล้วจะไม่ยอมรับได้ไง เว้นแต่อนุญาโตฯ มีนอกมีใน

ซึ่งคดีนี้ ฝ่ายกรมควบคุมมลพิษไม่ยอมตั้งอนุญาโตฯ แต่ศาลแพ่งก็ตั้งให้ ตั้งอดีตรองประธานศาลฎีกา โดยศาลฎีการับรองอีกชั้น จะไม่ยอมรับได้ไง

ประเด็นนี้ตอนขึ้นศาลครั้งแรก ทั้งศาลปกครองกลางและศาลสูงสุด จึงยืนยันว่ากระบวนการอนุญาโตฯ ชอบด้วยกฎหมาย เพิกถอนไม่ได้

ประเด็นต่อมาคือ แม้คดีนี้เป็นมหากาพย์ทุจริต ทั้งเรื่องจัดซื้อที่ดินและการประมูล จนศาลตัดสินจำคุกวัฒนา อัศวเหม และอดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ แต่ประเด็นพิพาทเป็นเรื่องกรมควบคุมมลพิษไม่จ่ายค่าก่อสร้าง งวดที่ 55,56,57,58 อ้างว่าสัญญาเป็นโมฆะ ทั้งที่ก่อสร้างไปแล้ว 98% กิจการร่วมค้าฯ จึงร้องอนุญาโตฯ

ซึ่งศาลเข้าไป review แล้วพบว่าอนุญาโตฯ ชี้ว่ากรมควบคุมมลพิษผิดสัญญา จึงสั่งจ่ายค่างวดคงค้างพร้อมค่าเสียหาย ก็มีเหตุผลนี่ครับ ค้างค่างวดแล้วจะไม่จ่ายได้ไง ศาลจึงเพิกถอนไม่ได้ แต่กระแสสังคมกลับโวยวาย

ที่จริงนักกฎหมายหลายคนแม้แต่วิษณุ เครืองาม ตอนนั้นก็เข้าใจ มันคนละเรื่องกัน ศาลให้จ่ายค่าก่อสร้างที่ติดหนี้เขา พร้อมค่าเสียหาย แต่ความเสียหายทั้งโครงการ รัฐต้องไปฟ้องไล่เบี้ยจากคนทุจริต ผู้ร่วมมือ หรือใครก็ตามที่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

ซึ่งอาจรวมบริษัทในกิจการร่วมค้าด้วย เพราะกรมควบคุมมลพิษก็ฟ้องวัฒนาและ 6 บริษัทฐานร่วมกันฉ้อโกง ศาลชั้นต้นตัดสินว่าผิด แต่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง ศาลฎีกาเลื่อนอ่านคำพิพากษาไปต้นเดือน พ.ค.

แต่กระแสสังคมก็รุกเร้า ให้กรมควบคุมมลพิษยกคดีวัฒนา คดีอดีตอธิบดี มาเป็นเหตุฟื้นคดีในศาลปกครอง พอศาลยกก็เฮกันใหญ่ โดยไม่รอศาลสูงสุด ซึ่งอย่างที่ไล่เรียงให้ฟัง คำตัดสินครั้งแรกก็มีหลักการเหตุผล ฉะนั้นก็ต้องรอฟังอย่างมีเหตุผล ไม่ใช่เอากระแสคนดีเป็นใหญ่

Back to top button