ยุคสมัยที่ไม่เหมือนเดิม
เมื่อวานนี้ นักทฤษฎีฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงแห่งยุคสมัย รองลงมาจากอัลแบร์ต ไอน์สไตน์ เป็นชาวอังกฤษชื่อ สตีเฟน ฮอว์กกิ้ง ได้เสียชีวิตลงด้วยสิริอายุ 76 ปีในเมืองเคมบริดจ์
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
เมื่อวานนี้ นักทฤษฎีฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงแห่งยุคสมัย รองลงมาจากอัลแบร์ต ไอน์สไตน์ เป็นชาวอังกฤษชื่อ สตีเฟน ฮอว์กกิ้ง ได้เสียชีวิตลงด้วยสิริอายุ 76 ปีในเมืองเคมบริดจ์
ถือเป็นการตายที่หนักกว่าเคลื่อนภูเขา แต่เป็นการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยก็ว่าด้วย
ฮอว์กกิ้งมีความสำคัญจากการเผยแพร่ความรู้และคำอธิบายทางด้านทฤษฎีฟิสิกส์ร่วมสมัยที่ยากและเต็มไปด้วยตัวเลขซับซ้อนให้คนทั่วไปได้ซึมซับและเข้าถึงหลักการสำคัญของทฤษฎีที่ไอน์สไตน์และนักทฤษฎีฟิสิกส์ต่อๆ มา ทำให้ยุ่งยากเกินจะเข้าถึงได้
โดยเฉพาะผลงานที่ทำให้เขาโด่งดังและเป็นที่รู้จักว่าด้วยทฤษฎีหลุมดำที่มีการปล่อยรังสี (ซึ่งปัจจุบันมีชื่อว่า รังสีฮอว์กกิ้ง หรือ รังสีเบเคนสไตน์-ฮอว์คิง) และทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป ยุคหลังไอน์สไตน์ โดยเฉพาะทฤษฎีเกี่ยวกับภาวะเอกฐานเชิงความโน้มถ่วงในกรอบของทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป ที่ทำงานร่วมกับโรเจอร์ เพนโรส และการทำนายเชิงทฤษฎีที่ว่าหลุมดำ
จุดเริ่มต้นความมีชื่อเสียงของฮอว์กกิ้ง เริ่มต้นใน ค.ศ. 1965 (พ.ศ. 2508) ขณะที่กำลังทำงานวิจัยสำหรับดุษฎีนิพนธ์ปริญญาเอกว่าด้วยจักรวาลวิทยา ฮอว์กกิ้งได้อ่านรายงานของนักคณิตศาสตร์และนักฟิสิกส์ ชื่อ โรเจอร์ เพนโรส ซึ่งเสนอทฤษฎีที่เกี่ยวกับชะตากรรมของดวงดาวและการเกิดขึ้นของหลุมดำ โดยมีข้อเสนอว่า ดวงดาวที่ระเบิดอยู่ภายใต้แรงโน้มถ่วงของตัวเอง จะมีปริมาตรเป็นศูนย์ และมีความหนาแน่นเป็นอนันต์ อันเป็นสภาพที่นักฟิสิกส์เรียกว่า ซิงกูลาริตี้ (singularity) ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือหลุมดำ ซึ่งไม่ว่าแสงหรือวัตถุใดๆ ก็หนีออกมาไม่ได้
หลังจากนั้น ในปี ค.ศ. 1970 ฮอว์กกิ้งและเพนโรสก็ได้ร่วมกันเขียนรายงานที่สรุปว่าทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์นั้นกำหนดให้เอกภพต้องเริ่มต้นในซิงกูลาริตี้ ซึ่งปัจจุบันนี้รู้จักกันว่า บิ๊กแบง และจะสิ้นสุดลงที่หลุมดำ
พร้อมกันนั้น ฮอว์กกิ้งยังได้เสนอเพิ่มเติมว่า หลุมดำไม่ควรจะเป็นหลุมดำแห่งการทำลายล้างเสียทีเดียว หรือมีลักษณะเป็นสุญญากาศโดยสมบูรณ์อย่างที่นักวิทยาศาสตร์ยุคก่อนหน้าเชื่อ แต่ควรจะมีสสารหนึ่งในรูปของรังสี ซึ่งสามารถแผ่จนสามารถฝ่าพ้นแรงโน้มถ่วงของหลุมดำออกมาได้บ้าง โดยเริ่มที่วัตถุจำนวนมหาศาลนับพันล้านตัน แต่มีความหนาแน่นสูง คือกินเนื้อที่ขนาดเท่าโปรตอน (เรียกวัตถุเหล่านี้ว่าหลุมดำจิ๋ว หรือ mini black hole) ซึ่งมีแรงโน้มถ่วงและมวลมหาศาล แต่สุดท้ายหลุมดำนี้ก็จะระเหิดหายไป การค้นพบนี้ถือเป็นงานชิ้นเยี่ยมชิ้นหนึ่งของฮอว์กกิ้ง
ต่อมาภายหลังรังสีที่ฝ่าข้ามหลุมดำออกมาได้ ถูกเรียกเป็นเกียรติว่า รังสีฮอว์กกิ้ง
การเผยแพร่งานวิจัยในครั้งช็อกโลกวิทยาศาสตร์ครั้งใหญ่ ทำให้ Hawking ได้รับรางวัล มีชื่อเสียง และโด่งดังอย่างมาก เขาได้รับเกียรติอยู่ในฐานะสมาชิกถาวรของราชสมาคมแห่งลอนดอนเมื่ออายุ 32 ปี และภายหลังได้รับรางวัล Albert Einstein Award รวมถึงรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย
การประสบความสำเร็จทางด้านอาชีพ ไม่ได้มาโดยเปล่าดาย แต่มีต้นทุนสูงมาก เพราะเกิดควบคู่ไปกับสภาวะร่างกายที่แย่ลงเรื่อยๆ ต้องหาคนมาช่วยดูแลเขาและผลงาน โดยเฉพาะการพูดที่แย่กว่าเดิมมาก มีเพียงแค่คนสนิทเท่านั้นที่รู้ว่าเขาหมายถึงอะไร
อาการป่วยรุนแรงไม่สามารถหยุดให้เขาทำงานได้ เมื่อมีคนประดิษฐ์โปรแกรมทดแทนเสียงพูดซึ่งอาศัยการเคลื่อนไหวของศีรษะหรือดวงตา ทำให้เขาสามารถเลือกคำศัพท์ที่ปรากฏในจอคอมพิวเตอร์และส่งต่อไปยังระบบสังเคราะห์เสียง ผลิตผลงานออกมามากมาย ทั้งงานทางวิทยาศาสตร์ที่ซับซ้อน และงานที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์
หากประมวลเอาความรู้-งานวิจัย-งานตีพิมพ์ต่างๆ ของฮอว์กกิ้งเข้าด้วยกัน จะเห็นเป็นการผสมผสานทฤษฎีที่ไม่น่าจะไปด้วยกันได้ อย่างความรู้ด้านจักรวาลวิทยา (การศึกษาในสิ่งที่ใหญ่) รวมเข้ากับกลศาสตร์ควอนตัม (การศึกษาในสิ่งที่เล็ก) จนสามารถอธิบายการเกิดขึ้นของอวกาศได้ ซึ่งกรอบมุมมองนี้ ฮอว์กกิ้งระบุว่า ช่วยให้สามารถมองโลกได้เป็น 11 มิติ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความเป็นไปได้ให้แก่มวลมนุษยชาติ และสร้างความเป็นไปได้อนาคตในการเดินทางข้ามเวลา และมนุษย์เองอาจจะไปครอบครองดาวดวงอื่นได้ในอนาคต
ความเป็นนักวิทยาศาสตร์ทำให้ฮอว์กกิ้งมีจุดยืนทางด้านความรู้ชัดเจนยิ่ง จากที่อดีต เขาเคยระบุว่า ความเชื่อของเซอร์ไอแซก นิวตัน ที่ว่าเรื่องพระเจ้าอาจจะเข้ากันได้อยู่กับทฤษฎีวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ แต่ในหนังสือชื่อ The Grand Design ในเดือนกันยายนปี 2010 เขาได้ออกมาพูดปฏิเสธความคิดที่ว่าพระเจ้าเป็นผู้ที่สร้างอวกาศ และการกำเนิดของจักรวาล หรือ Big Bang นั้นเกิดมาจากผลต่อเนื่องจากกฎทางฟิสิกส์เท่านั้น “โดยไม่ต้องพึ่งพระเจ้า เพราะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรบกวนพระเจ้าให้สร้างจักรวาลขึ้นมา”
ความเชื่อมั่นดังกล่าวทำให้เขาปฏิเสธคำเชื้อเชิญของสันตะปาปาที่ให้ไปพบที่วาติกัน เพราะเหตุผลที่ว่า “ไม่ต้องการพบกับตัวแทนของสิ่งที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีอยู่จริงหรือไม่”
การจากไปของนักวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ที่ยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัย คงทำให้ช่องว่างในการสื่อสารของคนในวงการวิทยาศาสตร์และสามัญมนุษย์ถ่างกว้างยิ่งขึ้น ซึ่งไม่ใช่ข่าวดีของเหตุผลและความรู้ แต่เป็นข่าวน่าชื่นชมสำหรับคนในแวดวงศาสนจักรและความเชื่อไร้สาระทั้งหลาย