พาราสาวะถี
คงเห็นแล้วว่าเป็นเผือกร้อนที่ไปแตะพรรคการเมืองเรื่องสัตยาบันเลื่อนเลือกตั้งอีก 3 เดือน หากต้องการให้สนช.ยื่นร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ที่ สมชาย แสวงการ เลขานุการวิปสนช.โยนหินถามทาง วันนี้เมื่อนักข่าวไปถาม พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.จึงได้รับคำตอบกลับมาว่า เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับตนและไม่ควรพูด
อรชุน
คงเห็นแล้วว่าเป็นเผือกร้อนที่ไปแตะพรรคการเมืองเรื่องสัตยาบันเลื่อนเลือกตั้งอีก 3 เดือน หากต้องการให้สนช.ยื่นร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ที่ สมชาย แสวงการ เลขานุการวิปสนช.โยนหินถามทาง วันนี้เมื่อนักข่าวไปถาม พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.จึงได้รับคำตอบกลับมาว่า เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับตนและไม่ควรพูด
น่าขีดเส้นใต้สิ่งที่พรเพชรบอกว่าไม่ควรพูดคือหมายถึงเฉพาะตัวเองหรือรวมไปถึงสมชายด้วย ไม่ว่าจะสื่อถึงอะไร ความเห็นของ วิษณุ เครืองาม ต่อกระบวนการของสนช.น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง หากจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างกฎหมาย ควรจะยื่นให้แล้วเสร็จในคราวเดียวกัน ไม่ทำหลายขยัก เชื่อว่าศาลจะใช้เวลาการพิจารณาไม่นาน และไม่น่าจะถึง 3 เดือนตามที่สมชายคาดการณ์
ไม่รู้ว่าเป็นเพราะวิษณุเห็นข้อบกพร่องในสิ่งที่มีชัยได้ทักท้วงไปหรือไม่ แม้ทางสนช.ยืนยันว่าสิ่งที่ห่วงว่าจะเป็นปัญหาในร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.นั้นเป็นแค่กระพี้ แต่ดูท่าทีของรองนายกฯฝ่ายกฎหมายไม่น่าจะใช่เช่นนั้น ถึงขั้นที่บอกว่า ตอนนี้เนื้อไม่ได้กินหนังไม่รอง อย่าเพิ่งเอากระดูกมาแขวนคอ แต่จำเป็นต้องแขวนก็จะแขวน
นี่เป็นการพูดถึงเรื่องร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. หากมองในมุมของนักกฎหมายย่อมเข้าใจได้ว่า ถ้าไม่ยื่นตีความเสียให้สิ้นสงสัย เพราะยังมีประเด็นที่สุ่มเสี่ยงว่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ เกิดมีใครไปยื่นในระหว่างที่กำลังดำเนินกระบวนการตามโรดแมป “ภาวะล้มทั้งยืน” อย่างที่มีชัยแสดงความเห็นไว้ย่อมเป็นไปได้สูง ซึ่งนั่นจะทำให้ท่านผู้นำมีปัญหา ถูกมองด้วยสายตามที่เคลือบแคลงว่ามีเบื้องหลังอะไรหรือเปล่า
ในจังหวะที่ดูเหมือนว่าองคาพยพและเครือข่ายของเผด็จการคสช.ต้องการจะเลือกตั้งอย่างเต็มที่ แต่ยังมีข้อทักท้วงและความห่วงใยซึ่งไม่ใช่จากฝ่ายตรงข้าม หากแต่เป็นจากประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเอง ที่สวมหัวโขนอีกใบคือสมาชิกคสช. ที่กลัวว่าจะเสียของสูญเปล่าจากเรื่องการกำจัดระบอบทักษิณ กลับกลายจะเป็นการเสียของเพราะความชุ่ยจากองคาพยพของตัวเองไปเสียฉิบ
ไม่เข้าใจสาเหตุที่สนช.เลือกจะยื่นตีความเฉพาะร่างกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. มิหนำซ้ำ ยังปล่อยให้คนสำคัญของสนช.อย่างสมชายมาโยนขี้ให้นักการเมืองอีกต่างหาก แต่หากมองไปยังเสียงวิจารณ์จากฝ่ายการเมือง อันหมายถึงพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะที่เป็นคนกันเอง การกระตุกแรงๆ ของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ น่าจะช่วยให้เห็นภาพ
ความเห็นของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คือ ประเด็นนี้อยู่ที่ความไม่รอบคอบของสนช. ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา สนช.จะเป็นผู้สร้างปัญหาส่วนใหญ่ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ตนไม่ทราบว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ว่าแม่น้ำ 5 สายมารวมตัวกันและมีอำนาจเบ็ดเสร็จ กลับทำอะไรที่ขัดแย้งกันเอง จึงเป็นเรื่องที่น่าแปลก ก่อนที่จะตบท้ายด้วยปมที่ว่าด้วยเลือกตั้งกุมภาพันธ์ปีหน้า ซึ่งอภิสิทธิ์เห็นว่าทุกอย่างอยู่ที่หัวหน้าคสช.จะต้องใช้อำนาจให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นตามโรดแมป
ทางด้าน วิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคเก่าแก่ ฟันธงว่ากรณีนี้เป็นเหตุสร้างความเคลือบแคลงสงสัยต่อประชาชนในบทบาทโดยรวมของสนช. และยิ่งทำให้สังคมขาดความเชื่อมั่นซึ่งไม่เป็นผลดีกับใครทั้งสิ้น เพราะที่ผ่านมาฝ่ายการเมืองได้แสดงความคิดเห็นท้วงติงมาโดยตลอด บริบทเหล่านี้ ชี้ให้เห็นว่า สนช.ไม่ได้ใส่ใจสาระแห่งรัฐธรรมนูญ จนเกิดข้อครหาว่า มีใบสั่งหรือรับคำสั่งจากผู้มีอำนาจหรือไม่
ขณะที่ สาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มองต่อว่า การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความครั้งนี้ ดำเนินการโดยสนช.เอง ก็เท่ากับกลืนน้ำลายตัวเองและหมดเครดิตในการทำหน้าที่ ปรากฏการณ์นี้ทำให้สังคมมองได้ว่ามีความพยายามใช้อภินิหารทางกฎหมายเพื่อเลื่อนเลือกตั้งออกไปอีก เนื่องจากมีการพูดถึงปัจจัยที่เหนือความคาดหมาย แต่ส่งผลต่อการเลือกตั้งอยู่เป็นระยะ
ก่อนที่จะตบท้ายว่า ทางที่ดีไม่ควรเลื่อนเลือกตั้งอีก เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็จะหมดความชอบธรรมในการทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง เนื่องจากไม่สามารถควบคุมสิ่งต่างๆให้เกิดขึ้นได้ตามคำพูดของตัวเอง น่าสนใจที่คนของพรรคเก่าแก่ร้องเพลงคีย์เดียวกันว่าด้วยโรดแมปเลือกตั้งและการจ้องจะเลื่อน ทั้งๆก่อนหน้านั้นมีการแสดงความเห็นในลักษณะแทงกั๊กมาโดยตลอด
อะไรเป็นเหตุและปัจจัยหรือว่านั่นก็เป็นอีกหนึ่งเกมของการแบ่งบทกันเล่น เพราะหากนิ่งเฉยในห้วงที่คนฝ่ายประชาธิปไตยต้องการเห็นจุดยืนของพรรคการเมืองเพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งหน้า หากไม่ทักท้วงหรือพูดพาดพิงขององคาพยพของคณะเผด็จการเลย ยิ่งจะเป็นการถูกประทับตราว่า พรรคการเมืองของตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนคณะรัฐประหารและคนก็จะพาลคิดต่อไปว่า หลังการเลือกตั้งท่าทีของพรรคการเมืองนี้จะสนับสนุนใครเป็นนายกฯ
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการ ต่อความสัมพันธ์ในลักษณะอิงแอบอำนาจนอกระบอบประชาธิปไตยคือ ถ้อยแถลงของ วัชระ เพชรทอง ต่อการถูก ชัชวาลย์ อภิบาลศรี สมาชิกสนช.ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย เนื่องจากการเปิดข้อมูลทุจริตก่อสร้างรัฐสภาใหม่ที่เสี่ยแจ๊คให้สัมภาษณ์สื่อว่ามีคนอักษรย่อช. มากบารมีใหญ่กว่าประธานสนช.บัญชาการทุกกระบวนการอันเกี่ยวข้องกับโครงการรัฐสภาใหม่
แต่ที่ต้องขีดเส้นใต้ไม่ใช่ประเด็นการสาวไส้ต่อหรือการพร้อมเผชิญหน้ากับคนฟ้องในชั้นศาล แต่วัชระบอกว่าทั้งชัชวาลย์และพรเพชรต่างพากันฟ้องไปที่พรรคประชาธิปัตย์ คำถามก็คือในเมื่อเป็นเรื่องของการให้ร้ายป้ายสีกัน ทำไมต้องไปฟ้องให้พรรคเก่าแก่จัดการกับวัชระ หรือเพราะเห็นว่าเป็นคนกันเองพวกเดียวกัน
พฤติกรรมหลายอย่างเหล่านี้นี่เอง ที่ยังเป็นเครื่องหมายคำถามของสังคม แสดงความกังขาต่ออภิสิทธิ์และประชาธิปัตย์ว่า ยึดมั่นในวิถีแห่งประชาธิปไตยอย่างเด็ดเดี่ยว ยืดหยัดต่อกระบวนการในระบบรัฐสภาตามที่กล่าวอ้างมาโดยตลอด หรือรอเวลาแค่จะได้ร่วมสังฆกรรมกับอำนาจที่ทำให้พรรคตัวเองได้เป็นรัฐบาล จากนั้นค่อยผุดวาทกรรมอำพรางเพื่อไม่ให้ถูกมองว่าสมรู้ร่วมคิดกับเผด็จการ