ใครทุบหุ้น TMB

เป็นอีกประเด็นร้อนที่ท้าทายความสามารถของตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงาน ก.ล.ต. กับกรณีที่มีการปล่อยข่าวเพื่อ “ทุบหุ้น” แบงก์ทีเอ็มบี หรือ TMB


ลูบคมตลาดทุนธนะชัย ณ นคร

เป็นอีกประเด็นร้อนที่ท้าทายความสามารถของตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงาน ก.ล.ต.

กับกรณีที่มีการปล่อยข่าวเพื่อ “ทุบหุ้น” แบงก์ทีเอ็มบี หรือ TMB

เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้

เมื่อมีคน (ที่ไม่ทราบว่าเป็นใคร) ออกมาปล่อยข่าวว่า แบงก์ทีเอ็มบี อาจเผชิญหนี้เสียกับบริษัทแห่งหนึ่งที่ทำเอกสารปลอมมายื่นขอกู้เงินกว่า 3,400 ล้านบาท

และมารู้กันภายหลังว่าบริษัทแห่งนั้นคือ บริษัท เอพีเอส คล็อค ซีสเต็มส์ จำกัด

ราคาหุ้นของทีเอ็มบีได้ปรับลงอย่างแรงตั้งแต่วันอังคารที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยลงมาเหลือ 2.88 บาท ลดลง 0.06 บาท

วันต่อจากนั้นราคาได้ปรับลงมาตลอด และลงมาแรงสุดคือวันที่ 15 มี.ค. 2561 ด้วยการลงไปต่ำสุด 2.68 บาท ก่อนที่จะขึ้นมาปิดตลาด 2.78 บาท แต่ก็ยังลดลง 0.06 บาท

ราคาหุ้นที่ลงมาแถวๆ 2.68–2.70 บาท เป็นช่วงเวลาราวๆ 14.55–15.00 น. ของวันที่ 15 มี.ค. 2561

และพบว่าในราคาและช่วงเวลาดังกล่าวมีแรงซื้อเข้ามาอย่างมาก กระทั่งมูลค่าการซื้อขายของวันนั้นพุ่งขึ้นมาเป็น 2,035 ล้านบาท ในช่วงของการปิดตลาด (2.78 บาท)

เหตุที่ราคาร่วงแรงเพราะมีการตอกย้ำกับข่าวลือว่า ทีเอ็มบีกำลังมีปัญหากับหนี้เสียก้อนใหญ่จริงๆ

ทำให้ในช่วงเย็นวันเดียวกัน “ปิติ ตัณฑเกษม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร(CEO) ทีเอ็มบี ต้องทำหนังสือออกมาเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง

พร้อมระบุว่า ข่าวดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานาน หรือ 6-7 ปีก่อนหน้านี้

หรือตั้งแต่ปี 2554-2556 และเงินกู้ดังกล่าวปล่อยร่วมกับหลายธนาคาร

ขณะที่ในส่วนของทีเอ็มบีมีความเสียหายเพียง 600–800 ล้านบาท และตั้งสำรองหนี้ฯเต็มจำนวนไปหมดแล้ว

ราคาหุ้น TMB ในวันที่ 15 มี.ค.จึงถือว่าเหวี่ยงค่อนข้างมาก

มีคำถามว่า บุคคลใดเป็นผู้ปล่อยข่าว

ว่ากันว่าเรื่องนี้ดูไม่ยาก เพราะสามารถย้อนไปดูคำสั่งซื้อของวันที่ 15 มี.ค.ได้ และที่ผ่านมาทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงาน ก.ล.ต.ก็จับมาเชือดได้หลายครั้ง

การปล่อยข่าวเพื่อทุบหุ้นแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยมากในตลาดหุ้นไทย และหลายแห่งทั่วโลก

ยิ่งในยุคที่โซเชียลมีการเผยแพร่ข้อมูลไปรวดเร็วมาก และยากต่อการหาแหล่งต้นตอ

ทำให้มีคำแนะนำไปถึงนักลงทุนว่า ก็จะต้องตรวจสอบข้อมูลกันให้ดีๆ และไม่ควรจะตื่นตูมไปตามกระแสข่าว

ทีเอ็มบีนั้น เพิ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงบุคคลในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารจาก “บุญทักษ์ หวังเจริญ” มาเป็น “ปิติ ตัณฑเกษม”

ชื่อของ “ปิติ” มีการตอบรับที่ดีจากบุคคลในแวดวงตลาดทุนและนักวิเคราะห์

ทีเอ็มบียังได้ประกาศจ่ายเงินปันผล 0.06 บาทต่อหุ้น สำหรับงวดผลประกอบการปี 2560 และจะขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 23 เม.ย. 2561

มุมมองนักวิเคราะห์จากโบรกฯต่างๆ เห็นพ้องว่าทีเอ็มบีเป็นหุ้นเด่นสุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์

แนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 1/2561 และทั้งปี 2561 จะออกมาสวยงาม หรือมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท

เงินกองทุนอยู่ระดับสูงและมากกว่าที่แบงก์ชาติกำหนดไว้

Coverage Ratio เฉลี่ย 145% อยู่ในระดับสูงเช่นกัน หรือพอๆ กับค่าเฉลี่ยของกลุ่มธนาคาร และปีนี้อาจไม่มีตั้งสำรองหนี้ฯพิเศษเพิ่ม จากแนวโน้ม NPL ลดต่ำลงเหลือ 2.3-2.5%

ราคาเป้าหมายของทีเอ็มบีที่โบรกฯต่างๆ ให้ไว้ต่ำสุด 3.05 บาท และสูงสุด 3.60 บาท

ทีเอ็มบีมีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 41,647.86 ล้านบาท

และมีจำนวนหุ้นจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ จำนวน 43,839.85 ล้านหุ้น และมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือกระทรวงการคลัง 25.92% และกลุ่มไอเอ็นจีอีก 25.02%

หุ้นมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 1.21 แสนล้านบาท

ล่าสุดมีคำยืนยันจาก “รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์” ประธานบอร์ดทีเอ็มบีว่า กระทรวงการคลังยังไม่มีแผนขายหุ้นออกไป

สาเหตุก็เพราะราคาหุ้นในกระดานยังต่ำกว่า 3.80 บาท ที่เป็นต้นทุนของคลัง และหากขายออกไปในราคาต่ำกว่านี้ จะทำให้มีปัญหาตามมา

ทีเอ็มบียังมีแผนที่จะซื้อหุ้นแบงก์หรือสถาบันการเงินอื่นเข้ามาเพิ่มเติมด้วย

เป้าหมายก็คือให้แบงก์มีขนาดติด 1 ใน 5 ของแบงก์ขนาดใหญ่ของประเทศในอนาคต

ทว่าราคาหุ้นของทีเอ็มบีกลับวิ่งลงมาในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา สวนกลับทิศทางที่สดใสของธนาคาร

ผสมกับข่าวเก่าที่ถูกปล่อยออกมา ทำให้ราคาหุ้นปรับลง

เชื่อว่ามีกลุ่มคนทุบเอาของแน่ๆ

Back to top button