EFORL หน้าเฟะเพราะศัลยกรรม
งบการเงินล่าสุด (แม้จะช้าไปถึง 3 สัปดาห์) สิ้นงวดปี 2560 ของ บริษัท อี ฟอร์ แอล เอม จำกัด (มหาชน) หรือ EFORL ที่มีตัวเลขขาดทุนสุทธิบักโกรก 1,163.13 ล้านบาท หรือขาดทุนต่อหุ้น 0.0762 บาท ...ไม่สำคัญเท่ากับข้อเท็จจริงที่ว่าส่วนผู้ถือหุ้นล่าสุดติดลบไปแล้ว 95.56 ล้านบาท
แฉทุกวันทันเกมหุ้น
งบการเงินล่าสุด (แม้จะช้าไปถึง 3 สัปดาห์) สิ้นงวดปี 2560 ของ บริษัท อี ฟอร์ แอล เอม จำกัด (มหาชน) หรือ EFORL ที่มีตัวเลขขาดทุนสุทธิบักโกรก 1,163.13 ล้านบาท หรือขาดทุนต่อหุ้น 0.0762 บาท …ไม่สำคัญเท่ากับข้อเท็จจริงที่ว่าส่วนผู้ถือหุ้นล่าสุดติดลบไปแล้ว 95.56 ล้านบาท
นั่นหมายความว่า การที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปลดเครื่องหมาย SP ให้กลับมาซื้อขายวานนี้หลังจากส่งงบการเงินแล้ว เป็นปรากฏการณ์ชั่วคราวเท่านั้น….หุ้นบริษัทที่มีส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ จำต้องถูกขึ้นเครื่องหมาย SP อีกครั้งภายในเร็ววัน…ตามกติกา
ข้อดีของการแจ้งงบการเงินสิ้นงวดปี 2560 ของ EFORL มีเรื่องเดียวเท่านั้นคือ ความคลุมเครือก่อนหน้าที่ฝ่ายบริหารของบริษัทนำโดยนายธีรวุทธ์ ปางวิรุฬรักษ์ ซีอีโอ และผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของ EFORL พยายามเก็บงำเอาไว้ถูกเปิดโปงออกมา….แม้จะไม่ถึงกับหมดเปลือก…ก็สะท้อนให้เห็นความเน่าเฟะดุจหญิงสาว (อยาก) สวย ที่หน้าเน่าเฟะหลังศัลยกรรม
อย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ ความเละเทะหมดสภาพของฐานะการเงินบริษัท “ลูกล้างลูกผลาญ” ที่ชื่อ “วุฒิศักดิ์ คลินิก อินเตอร์ กรุ๊ป” (WCIG) ซึ่ง EFORL ถือหุ้นทางอ้อมผ่านบริษัท ดับบลิวซีไอ โฮลดิ้ง จำกัด (WCIH) อันเป็นบริษัทย่อยที่ EFORL ถือหุ้นอยู่มากกว่า 50% หลังจากที่มีการยื้อ ไม่ยอมรายงานธุรกรรมว่าด้วยการขายทรัพย์สิน และการให้สิทธิ์แฟรนไชส์ของ WCIG ….ตามที่เคยแจ้งเลื่อนต่อตลาดฯ หลายครั้ง ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561…จนถึง 7 มีนาคม 2561
ที่เหลือจากข้อดีข้อเดียวข้างต้น ล้วนแต่บ่งบอกอนาคตทางลบทั้งสิ้น….เรียกว่าหาดีไม่ได้กันเลยทีเดียว
รายงานของผู้สอบบัญชีและผู้บริหารบ่งบอกเอาไว้ชัดเจนยิ่ง
ในรายงานของผู้สอบบัญชีของสำนักงานแกรนท์ ธอนตัน ระบุว่า การรับรองงบโดยไม่มีเงื่อนไข แม้จะเกิดผลขาดทุนจำนวนมากจากการด้อยค่าที่เกิดจากเงินลงทุนในบริษัทย่อยทางอ้อม (WCIG) ที่ประกอบธุรกิจให้บริการด้านความงาม เพราะ…บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัทย่อยทางอ้อมดังกล่าวให้มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น
นัยสำคัญของผู้สอบบัญชีที่ทำการประเมินในรายงานประกอบด้วย
- การบันทึกค่าเผื่อสินค้าล้าสมัยจำนวน 11.72 ล้านบาท
- การบันทึกด้อยค่าความนิยม 1,335.00 ล้านบาท จากค่าความนิยมเดิมลงมาเหลือเพียง 85 ล้านบาทและบันทึกด้อยค่าของเงินลงทุนในธุรกิจ WCIG อีก 1,376.00 ล้านบาท โดยอาศัยสมมติฐานเฉพาะที่เกี่ยวกับการประมาณการกระแสเงินสดรับและจ่ายในอนาคตที่ได้ ว่าจะได้รับหรือออกไป
อีกด้านหนึ่งในรายงานสรุปผู้บริหาร นายธีรวุทธ์ ยอมรับว่า รายได้จากการขายและบริการของ EFORL ปี 2560 ที่ลดลง 33% เหลือเพียง 2,474 ล้านบาท แยกออกเป็นรายได้จากการขาย (ซึ่งไม่ใช่รายได้หลัก) ที่ลดลง 11% แต่รายได้หลักจากการให้บริการลดลงไปมากถึง 60% โดยเฉพาะส่วนที่เป็นธุรกิจบริการความงาม
รายได้จาก WCIG ที่ลดลง มาจาก WCIG มีการเปลี่ยนรูปแบบโครงสร้างธุรกิจ จากเดิมที่บริหารงานสาขาด้วยตัวเอง เป็นรูปแบบขายสิทธิแฟรนไชส์ ทำให้ต้องจัดประเภทการรับรู้รายได้ตามมาตรฐานรายงานทางการเงิน….แต่ที่มีความหมายเชิงลบมากที่สุดคือ ส่งผลต่อการประเมินมูลค่าธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ
ผลการประเมินเชิงลบเกิดขึ้นเมื่อมีการบันทึกด้อยค่าค่านิยม และสินทรัพย์ไม่มีตัวตน (สิทธิในการขยายกิจการในต่างประเทศ) มากถึง 1,858 ล้านบาท ในงบการเงินรวม …ในงบเฉพาะกิจการ ต้องบันทึกการด้อยค่าเงินลงทุนในบริษัทย่อยทางอ้อม 1,376 ล้านบาท
แม้นายธีรวุทธ์จะให้เหตุผลปลอบประโลมใจว่า การบันทึกด้อยค่าและตั้งสำรองดังกล่าว “เป็นไปตามมาตรฐานทางบัญชีในเรื่องหลักความระมัดระวัง….” หากสามารถแก้ไขทำให้ผลการดำเนินงานกลับมาดีขึ้น จะไม่มีอีกต่อไป…ก็ไม่มีความหมายอะไรเลย
เหตุผลเพราะ คำปลอบใจ ไม่สามารถตอบคำถามได้ว่า จะกลับมาทำกำไรได้อย่างไร …ลำพังรายได้และกำไรขั้นต้นจากการขายและบริการเครื่องมือแพทย์ ไม่มากหรือสามารถประคองการขาดทุนที่ “เตี้ยลง…สาละวัน” ของธุรกิจบริการความงามที่ล้างผลาญเงินหน้าตักทุกเมื่อเชื่อวัน
คำพูดของนายธีรวุทธ์ที่บอกในรายงานว่า “คาดว่าการเจรจาหาพันธมิตร พร้อมผู้บริหารชุดใหม่ จะเข้ามาปลุกกระแสธุรกิจความงามของวุฒิศักดิ์ (WCIG) ให้กลับมายืนในแถวหน้าอีกครั้ง” …..คนที่เคยอ่าน “แฉทุกวันฯ” ใน “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ฉบับวันที่ 14 มีนาคม 2561 คงหัวร่องอหาย…เพราะใครก็รู้ว่าเนื้อร้ายที่ทำให้ WCIG มีสภาพ “กลุิ่นตุๆ ในหลุมดำ” นั้น ใครเป็นต้นเหตุ และยากแค่ไหนที่จะฟื้นตัวได้
นายธีรวุทธ์เองก็ยอมรับโดยปริยาย (ไม่ได้บอกตรงๆ แต่ละไว้ในฐานที่เข้าใจ) ว่า WCIG กำลังเป็นธุรกิจในช่วงอิ่มตัว หรือ “ขาลง” เพราะภาวะการแข่งขันที่รุนแรง จาก 1) พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากการดูแลผิวพรรณอย่างค่อยเป็นค่อยไป สู่การทำศัลยกรรมเพื่อเห็นผลเร็วขึ้น 2) มีผู้ลงทุนในธุรกิจความงามมากขึ้น ทั้งที่เป็นคลินิกเสริมความงาม โรงพยาบาลเฉพาะทาง ศูนย์ผิวพรรณในโรงพยาบาล ศูนย์ศัลยกรรมความงาม และศูนย์ชะลอวัยที่มีอุปกรณ์และบุคลากรคล้ายกัน ทำให้เกิดสงครามราคาตามมา
ที่ร้ายไปกว่านั้น ความวุ่นวายที่ยังไม่มีทีท่าจะจบลงง่ายๆ ทั้งใน WCIG และ WCIH ที่ส่งผลให้การฟื้นกิจการของ WCIG ที่ “ท่าดีทีเหลว” ในช่วงแรกของปี 2559 …ต้องชะงักงันจากปัจจัยหลายด้าน นับแต่
- ยอดตัวเลขหนี้ WCIG ที่เคยแจ้งไว้ 500 ล้านบาท โผล่พรวดมาเป็น 1,100 ล้านบาทกะทันหัน ทำให้ผู้บริหารมืออาชีพต้องโบกมือลากะทันหันให้คนที่เหลืออยู่จัดการ “ตามมีตามเกิด”
- ยังมีการบิดเบี้ยวในคำมั่นสัญญา ต่อทั้งทีมงานและตัว ดร.สุรเกียรติ เสถียรไทย ที่ไปเชื้อเชิญมาช่วยแก้ปัญหา จน ดร.สุรเกียรติ ทนไม่ไหว จำต้องลาออกจากตำแหน่งประธานของ WCIG กลางคัน และออกจากตำแหน่งประธานกรรมการ WCIH เมื่อต้นปีนี้ ในขณะที่ทีมงานก็จำต้องยกทีมลาออกจาก WCIH ในเดือนมีนาคมนี้หมาดๆ
- WCIH ไม่สามารถเพิ่มทุนได้ เพราะผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงินที่ครบกำหนดชำระต้นปี 2560 จำนวน 150 ล้านบาท (ตามหลัง EFORL ที่ไม่สามารถชำระคืนตั๋วแลกเงิน 200 ล้านบาท ในเดือนมกราคม 2560) และทางเลือกในการเพิ่มทุนอีก 1,500 ล้านบาท (โดยบางส่วนจะเป็นการแปลงหนี้เป็นทุน) ของ WCIG เพื่อลดสัดส่วนหนี้สินต่อทุน หรือดี/อี ลงให้ต่ำกว่าระดับปัจจุบันที่ 8 เท่าเศษ ถูกดึงมาเรื่อย จนล่าสุดชะงักงัน เพราะเรื่องลุกลามถึงขั้นขึ้นศาลไปแล้ว ทำให้ความหวังฟื้นกิจการของทั้ง WCIG และ EFORL….แสนเข็ญยิ่งขึ้น
ตัวเลขล่าสุดที่ EFORL มีส่วนผู้ถือหุ้นติดลบไปเรียบร้อย ยิ่งทำให้สถานการณ์ “ผ่าทางตัน” ยากแสนสาหัสกว่าเดิมหลายเท่า
ยามนี้ คำว่า “เข็นครกขึ้นภูเขา” ยังน้อยเกินไปสำหรับปัญหาอนาคตของ EFORL…หรือใครจะเถียง ขอให้ยกมือขึ้น
อิ อิ อิ