พาราสาวะถี
จากการบ่นหากจำเป็นต้องเอากระดูกมาแขวนคอก็ต้องทำ กับประโยคล่าสุด “นายกรัฐมนตรีไม่ใช่ไปรษณีย์” ของ วิษณุ เครืองาม เป็นภาพสะท้อนอันเด่นชัดว่า ร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.นั้นมีปัญหาที่สมควรจะต้องถูกส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอย่างแน่นอน เพียงแต่เหตุใดไม่ทำให้จบในชั้นของผู้มีอำนาจพิจารณาอย่างสนช. ทำไมจึงโยนสวะมาถึงมือผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
อรชุน
จากการบ่นหากจำเป็นต้องเอากระดูกมาแขวนคอก็ต้องทำ กับประโยคล่าสุด “นายกรัฐมนตรีไม่ใช่ไปรษณีย์” ของ วิษณุ เครืองาม เป็นภาพสะท้อนอันเด่นชัดว่า ร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.นั้นมีปัญหาที่สมควรจะต้องถูกส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอย่างแน่นอน เพียงแต่เหตุใดไม่ทำให้จบในชั้นของผู้มีอำนาจพิจารณาอย่างสนช. ทำไมจึงโยนสวะมาถึงมือผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
การอ้างว่า 2 ข้อกังวลของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ทั้งการตัดสิทธิ์รับราชการของคนไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งและการให้ผู้ติดตามกาบัตรเลือกตั้งแทนคนพิการเป็นเรื่องเล็ก แม้จะมีการยื่นตีความก็ไม่ส่งผลต่อร่างกฎหมายทั้งฉบับ ตามที่ พรเพชร วิชิตชลชัย เที่ยวโพนทะนานั้น ก็ยังมีข้อกังขาอยู่ไม่น้อย เพราะแม้จะมั่นใจประธานสนช.ก็ยังมีคำว่า “แต่” โดยเรียกร้องคนที่จะยื่นร้องให้ไปร้องหลังกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษาไม่ใช่ไปร้องช่วงจัดการเลือกตั้ง
นี่กระมังที่เป็นมูลเหตุทำให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โมโหโกรธาถึงกับบอกว่ามอบหมายหน้าที่ไปให้ดำเนินการแล้วทำไมไม่ทำให้เสร็จสิ้นกระบวนความ เช่นเดียวกับท่วงทำนองของเนติบริกรประจำรัฐบาลอย่างวิษณุ ดังนั้นเมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องติดตามกันต่อว่า ประธานสนช.จะหักด้ามพร้าด้วยเข่า ส่งร่างกฎหมายส.ส.มาให้รัฐบาลพิจารณาเอง หรือเด้งเชือกนำร่างกลับไปหารือกับสมาชิกสนช.อีกรอบ
เมื่อมองแนวโน้มแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ทั้งสนช.ปัดสวะพ้นตัวส่งร่างให้ฝ่ายรัฐบาลนำไปแบกรับภาระแล้วคิดเองว่าจะต้องยื่นตีความหรือไม่ ซึ่งถ้าพิจารณามาถึงนาทีนี้กับเสียงวิจารณ์ที่ดังกระหึ่ม หากไม่อยากให้แผนการเลือกตั้งเพื่อนำไปสู่การกลับมามีอำนาจอีกกระทอกของคณะเผด็จการเกิดอาการสะดุด ยังไงก็ต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้มันรู้แล้วรู้รอดกันไปเลย
หากไม่ก็ต้องมีคำสั่งจากหัวหน้าคสช.สั่งเบรกสนช.ไม่ให้ส่งร่างกฎหมายมายังรัฐบาล โดยเป็นการสั่งการเด็ดขาดว่าให้สนช.นั่นแหละเป็นผู้ยื่นตีความเอง โดยมีโจทย์สำคัญคือ หัวหน้าคสช.ต้องไปปรึกษากับนายกรัฐมนตรี ซึ่งในทีนี้ก็คือคนๆ เดียวกัน เพราะต้องไม่ลืมว่า พรเพชรมีหมวกอีกใบคือที่ปรึกษากฎหมายหัวหน้าคสช. เช่นเดียวกับมีชัยที่มีอีกสถานะหนึ่งคือสมาชิกคสช.
ดังนั้นจึงเชื่อว่าหัวหน้าคสช.ต้องได้รับฟังข้อมูลเรื่องนี้มาทั้งจากที่ปรึกษากฎหมายและสมาชิกคสช. ที่ถือว่าทั้งคู่คือกูรูด้านกฎหมายประจำคณะเผด็จการ หลังการรับฟังแล้วพบว่าทั้งคู่มีความเห็นต่างกันอย่างสิ้นเชิง หัวหน้าคสช.ก็ต้องกลับมาสวมหมวกนายกฯแล้วก็ไปปรึกษาวิษณุที่เป็นเนติบริกรประจำรัฐบาล หากเป็นไปในบริบทนี้ ทำให้รู้สึกสงสารคนชื่อประยุทธ์อยู่ไม่น้อย เพราะไม่ว่าจะตัดสินใจด้วยหัวโขนใบใด ก็มีเรื่องให้ต้องกุมขมับทั้งสิ้น
แต่ที่สุดแล้วทางเลือกก็มีแค่ต้องตีความไม่ช่องทางใดก็ทางหนึ่งเท่านั้น คงไม่ถึงกับต้องใช้มาตรา 44 มาจัดการ ความจริงไม่อยากจะบอกเช่นนั้นแต่ช่วงนี้มีการงัดมาใช้ถี่ยิบ หลังปลด สมชัย ศรีสุทธิยากร มาตรายาวิเศษก็ถูกนำมาใช้ต่อเนื่องด้วยการเด้ง ธีธัช สุขสะอาด พ้นเก้าอี้ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย นั่นหมายความว่าหัวหน้าคสช.กำลังแก้ปัญหาการเมืองทั้งคนขวางคลองและจุดอ่อนที่ทำให้รัฐบาลต้องรับแรงกระแทกกระทั้นจากเกษตรกรโดยเฉพาะชาวสวนยางพารา
ในรายของธีธัชคงไร้แรงกระเพื่อมใดๆ เพราะถือว่ายังได้รับผลประโยชน์ต่างๆ ครบถ้วน ที่ดีกว่านั้นคือไม่ต้องมาเป็นหนังหน้าไฟคอยแบกรับภาระปัญหาที่ยากจะแก้ไขได้ไว้บนบ่าอีกต่อไป แต่สำหรับกรณีสมชัยยังคงเกิดเป็นเครื่องหมายคำถามตามมาอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่า ในส่วนของเจ้าตัวที่ได้รับผลกระทบโดยตรงไม่มีใครเดาใจได้ว่า จังหวะเคลื่อนหลังจากนี้จะเดินเกมอย่างไร
หากพิจารณาในศาสตร์ที่ว่าด้วยโหงวเฮ้งก็จะเห็นสีหน้าและแววตาของสมชัยว่าเป็นคนที่ไม่ยอมถูกเล่นงานเพียงฝ่ายเดียวเด็ดขาด เมื่อตกเป็นผู้ถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรมก็ย่อมที่จะหาทางโต้กลับอย่างหนึ่งอย่างใดให้ได้ เพียงแต่ว่าการตอบโต้นั้นไม่ใช่วิธีการแบบดิบเถื่อนหรือการใช้กำลัง หากแต่จะเป็นไปในลักษณะของผู้มีปัญญา ซึ่งว่ากันว่า การต่อสู้ที่สูญเสียเลือดเนื้อนั้น บางครั้งมันยังง่ายและจบเร็วกว่าการชิงไหว ชิงพริบกันเป็นยิ่งนัก
ขณะที่ผู้มีอำนาจเองก็คงตั้งการ์ดสูงเตรียมรับมือกับแรงกระเพื่อมที่จะเกิดจากสมชัย ในอีกด้านก็พบว่ามีแนวร่วมของอดีตกกต.ชายเดี่ยวที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันทันที ซึ่งไม่มีใครคาดเดาได้ว่า มันจะขยายวงกลายเป็นกลุ่มต่อสู้ที่ใช้มุมมองทางวิชาการ หลักการทางด้านกฎหมายมาทำให้ผู้มีอำนาจเสียรังวัดหรือไม่ ล่าสุดก็มีความเห็นของ โคทม อารียา ที่ผุดขึ้นมาอย่างน่าสนใจ
โคทมแสดงความแปลกใจเป็นอย่างมากต่อการใช้ม.44ในลักษณะเช่นนี้ และมองว่าเหตุผลที่อ้างในคำสั่งก็ไม่เพียงพอทั้งเรื่องขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือสร้างความสับสน เพราะที่ผ่านมา การพูดหรือแสดงความเห็นของสมชัยก็เป็นการให้ข้อมูลตามหน้าที่ของกกต. เท่านั้น จึงทำให้มองว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการแทรกแซงองค์กรอิสระด้วย
ไม่เพียงเท่านั้นอดีตกกต.ชุดแรกที่ถือว่าประสบความสำเร็จในแง่ของการยอมรับในการปฏิบัติหน้าที่จากประชาชน ยังให้ความเห็นต่อว่า กกต.ที่เหลืออยู่หวังว่าจะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างตรงไปตรงมา ไม่ถูกกดดัน หรือแทรกแซงอีก ในการเตรียมการเลือกตั้ง ทัศนะเช่นนี้เป็นการสะท้อนความคิดของความไม่เชื่อมั่นต่อการใช้อำนาจของคณะเผด็จการคสช.
เช่นเดียวกับ องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เห็นว่าการใช้ม.44ปลดสมชัยครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม รวมถึงยังมีความกังวลต่อไปอีกกว่า ในอนาคตอาจมีการใช้ม.44 ในระหว่างมีการจัดการเลือกตั้ง จนทำให้เกิดผลกระทบต่อความสุจริตและเที่ยงธรรมหรือไม่ด้วย นี่ไงสิ่งที่เตือนมาตลอดว่านอกจากการจะถูกนำมาใช้ถี่ยิบแล้ว การที่อำนาจวิเศษดังกล่าวยังมีอยู่ในช่วงของการเลือกตั้ง ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะเกิดอภินิหารอะไรขึ้นหรือไม่ มาถึงนาทีนี้บอกได้แค่ว่าทำใจและรอดูเท่านั้นเอง