พาราสาวะถี
หากจะมองการร่วมประชุมกับกกต.ของ 55 พรรคการเมืองเก่าเป็นเพียงแค่พิธีกรรม เพื่อให้กกต.ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 ก็ไม่ผิดนัก โดยมีความหวังของพรรคการเมืองเป็นตัวเรียกแขก เพราะรู้ทั้งรู้ การพูดคุยที่เกิดขึ้นท้ายที่สุดก็หาคำตอบอะไรไม่ได้ ดังที่ ศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต.บอกเรื่องที่พรรคการเมืองขอส่วนใหญ่ต้องเป็นการตัดสินใจของผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งก็คือคสช.นั่นเอง
อรชุน
หากจะมองการร่วมประชุมกับกกต.ของ 55 พรรคการเมืองเก่าเป็นเพียงแค่พิธีกรรม เพื่อให้กกต.ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 ก็ไม่ผิดนัก โดยมีความหวังของพรรคการเมืองเป็นตัวเรียกแขก เพราะรู้ทั้งรู้ การพูดคุยที่เกิดขึ้นท้ายที่สุดก็หาคำตอบอะไรไม่ได้ ดังที่ ศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต.บอกเรื่องที่พรรคการเมืองขอส่วนใหญ่ต้องเป็นการตัดสินใจของผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งก็คือคสช.นั่นเอง
เวทีที่เกิดขึ้นจึงเป็นเพียงการเปิดพื้นที่ให้พรรคการเมืองได้ระบาย หากใช้ภาษาทางการที่สวยหรูก็คือการเปิดโอกาสให้สะท้อนภาพปัญหารวมทั้งข้อเสนอแนะเพื่อนำเสนอไปยังผู้มีอำนาจในการดำเนินการกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ ที่จำเป็น ตามกรอบของคำสั่งคสช.ที่เป็นตัวกำกับอยู่เหนือกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งมีบทสรุปง่ายๆกันอยู่แล้วว่า เมื่อไม่ปลดล็อกให้ทำกิจกรรม การขยับขับเคลื่อนอื่นใดก็ไร้ความหมาย
สิ่งที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สะท้อนซึ่งก็ตรงกับที่ ภูมิธรรม เวชยชัย มองนั่นก็คือ คำสั่งคสช.ที่ 53/2560 นั้น มีผลให้ยุบสาขาพรรคการเมืองทุกพรรค เพราะการจะตั้งสาขาพรรคการเมืองได้จะต้องทำโดยที่ประชุมใหญ่ แต่กฎหมายระบุว่า การจะประชุมใหญ่ของพรรคได้จะต้องมีสาขาพรรค สิ่งที่ยกตัวอย่างมานี้ เป็นการชี้ให้เห็นว่าการออกกฎหมายหรือคำสั่งคสช.นั้นไม่มีความรอบคอบแต่อย่างใด
จะว่าไปแล้วหากย้อนกลับไปตรวจสอบในหลายๆ เรื่อง ก็จะเห็นภาพไม่ว่าจะเป็นคำสั่งคสช.บางเรื่อง กฎหมายบางฉบับ มันเป็นการเร่งรีบออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าหรือไม่ก็เป็นไปตามธงที่ตั้งไว้ พอสุดท้ายเมื่อบังคับใช้ไปแล้วถึงเห็นว่าเป็นปัญหา แล้วค่อยมาตามล้างตามเช็ดกันภายหลัง หากเป็นรัฐบาลปกติ คงถูกโจมตีจนต้องพิจารณาตัวเองไปแล้ว
แต่เมื่อเป็นรัฐบาลที่มาจากปลายกระบอกปืน การใช้อำนาจเด็ดขาดที่มีอยู่แก้ตัวจึงไม่จำเป็นที่จะต้องกลัวว่าจะมีใครหน้าไหนกล้าวิพากษ์วิจารณ์ ดังเช่น ความพยายามที่จะแก้ปัญหาชีวิตของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ที่กำลังเป็นอยู่เวลานี้ หากมีความรอบคอบก็ต้องหาข้อยุติกันตั้งแต่ชั้นกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย
ไม่ใช่ปล่อยผ่านจนมาถึงสนช.ยกมือเห็นชอบแล้ว คนที่เขียนรัฐธรรมนูญถึงส่งจดหมายทักท้วงไปเพื่อให้นำร่างกฎหมายดังกล่าวส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ในเมื่อเห็นอยู่แล้วว่าสิ่งนั้นเป็นปัญหาและถือว่าเป็นเรื่องใหญ่เพราะอาจจะขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งผู้ยกร่างย่อมรู้ดี แต่เหตุไฉนจึงปล่อยผ่าน แล้วค่อยมาเสนอแนะภายหลัง ด้วยเหตุนี้มันจึงทำให้คนอดสงสัยไม่ได้ว่า มีเบื้องหลังเบื้องลึกอะไรอยู่หรือเปล่า
เอาเข้าจริงสิ่งที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ อธิบายหลังเกิดกระแสข่าว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตีกลับร่างกฎหมายเลือกตั้งส.ส.คืนให้สนช.เพื่อส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยมีการแจกแจงเรื่องระยะเวลา 5 วันหลังรับร่างและ 20 วันระหว่างรอนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ทั้งนายกฯและสนช.มีสิทธิ์ที่จะเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่กลายเป็นว่าพอฟัง สมชัย ศรีสุทธิยากร มองอีกมุมของกฎหมายก็ชวนให้คิดกันอยู่ไม่น้อย
สิ่งที่อดีตกกต.ชายเดี่ยวชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ที่ระบุว่าเป็นคอลัมน์ชาวบ้านอ่านกฎหมายนั้น มีประเด็นที่น่าสนใจคือ ตามมาตรา 145 ของรัฐธรรมนูญระบุว่า ร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบจากสภาแล้ว ให้นายกฯรอไว้ 5 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างกฎหมายจากรัฐสภา ถ้าไม่มีการดำเนินการตามมาตรา 148 ให้นำขึ้นทูลเกล้าฯภายใน 20 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว
โดยมาตรา 148 ระบุก่อนนายกฯจะนำร่างกฎหมายใดขึ้นทูลเกล้าฯ วงเล็บ 1 หากสนช.ไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 เห็นว่าร่างพ.ร.บ.มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญให้เสนอความเห็นต่างประธานสนช.เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญ และวงเล็บ 2 หากนายกรัฐมนตรีเห็นว่าร่างพ.ร.บ.มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ
ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ กรอบระยะเวลาตามมาตรา 148 นั้น มีเวลาดำเนินการได้กี่วัน 5 วันหรือ 5+20 วัน คำสัมภาษณ์ของพลเอกประยุทธ์เมื่อวันอังคารระบุว่า ได้รับร่างกฎหมายจากสนช.แล้วและมีเวลาถึงวันที่ 12 เมษายน หากนับย้อนหลัง 25 วัน นายกฯน่าจะได้รับร่างจากสนช.วันที่ 19 มีนาคม ซึ่งสอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ที่บอกว่าจะส่งร่างกฎหมายส.ส.ให้นายกฯวันที่ 19 มีนาคม
มุมคิดของสมชัย คือ หากนับ 5 วันคือครบกำหนดวันที่ 24 มีนาคมซึ่งเท่ากับไม่ว่าสนช.หรือนายกฯก็หมดสิทธิ์ยื่นศาลรัฐธรรมนูญแล้ว แต่หาก 25 วันก็จะครบกำหนด 12 เมษายน แปลว่ายังอยู่ในกรอบที่ยังจะลุ้นได้ว่าจะส่งหรือไม่ส่ง แต่หากกลับไปอ่านมาตรา 145 รวมกับมาตรา 148 ใหม่สรุปใจความว่าให้รอ 5 วัน หากสนช.หรือนายกฯไม่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้นำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าภายใน 20 วัน
สิ่งที่สมชัยสะกิดเตือนก็คือ เผือกร้อนจะอยู่ที่ใคร ใครยื่นร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ต่อศาลรัฐธรรมนูญก็เสี่ยงในเรื่องทำผิดรัฐธรรมนูญเอาเอง ตรงนี้จะยึดเป็นหลักเสียทีเดียวไม่ได้ เพราะถือเป็นเพียงหนึ่งความเห็น แน่นอนว่า ความหวังดีของอดีตกกต.ชายเดี่ยวคงเป็นเพียงแค่สายลมที่พัดผ่านเท่านั้น เพราะล่าสุด 27 สนช.ได้เข้าชื่อเสนอให้ประธานสนช.ส่งร่างกฎหมายส.ส.ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้ว รอเวลาแค่ว่าจะมีการส่งเรื่องไปเมื่อไหร่เท่านั้น
ขณะที่ร่างกฎหมายส.ส.ยังเป็นเครื่องหมายคำถามต่อปลายทางว่าจะเดินกันอย่างไร กลุ่มอยากเลือกตั้ง ทำท่าว่าน่าจะมีปัญหามากกว่า เพราะฟังคำให้สัมภาษณ์ของ พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบกเมื่อวันก่อน เป็นการแสดงความไม่พอใจอย่างยิ่งต่อการเคลื่อนพลจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปยังกองทัพบกเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา
กับคำพูดที่ว่า เจตนาที่แท้จริงคือย้ายมวลชนไปตามที่ต่างๆ ซึ่งได้สั่งการให้ส่วนที่รับผิดชอบด้านความมั่นคงดูแลอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัย ดูเหมือนจะหวังดี แต่พอจบที่ประโยคว่า รวมถึงกำลังตรวจสอบอยู่ว่าแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งมีใครอยู่เบื้องหลังบ้าง และดูเส้นทางการเงิน การแสดงบทบาทเข้มครั้งนี้ของผบ.ทบ.ย่อมไม่ธรรมดา จึงน่าจับตาว่าระหว่างพักยกเพื่อรอเคลื่อนไหวใหญ่ในเดือนพฤษภาคม แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งจะได้ก้าวไปถึงเป้าหมายดังว่านั้นหรือไม่