เขื่อนไซยะบุรี ช.การช่าง
ผมไปเยี่ยมชมเขื่อนไซยะบุรีในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเมื่อต้นเดือนนี้มาครับ ขณะนี้เป็นช่วงปลายระยะก่อสร้างแล้วครับ
ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์
ผมไปเยี่ยมชมเขื่อนไซยะบุรีในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเมื่อต้นเดือนนี้มาครับ ขณะนี้เป็นช่วงปลายระยะก่อสร้างแล้วครับ
คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปีนี้ และดำเนินการทดสอบระบบต่างๆ เป็นเวลาร่วมปี ก่อนเปิดการจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ซึ่งกำหนดเอาไว้ในวันที่ 29 ต.ค. 2562
เขื่อนนี้ไม่มีอ่างเก็บน้ำ แต่จะสร้างเป็นแบบฝายน้ำล้น (Run-of-River) กั้นกลางแม่น้ำโขง ความยาว 820 เมตร กำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 1,285 เมกะวัตต์
น่าจะถือเป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ และใช้เงินลงทุนเป็นมูลค่าสูงที่สุดถึง 135,000 ล้านบาท
เขื่อนที่แล้วของ ช.การช่าง ซึ่งดำเนินการโดย บริษัท ซีเค พาวเวอร์ เช่นเดียวกับไซยะบุรี คือ เขื่อนน้ำงึม 2 ซึ่งเป็นเขื่อนแบบมีอ่างเก็บน้ำ ก็ยังมีกำลังผลิตไฟฟ้าแค่ 615 เมกะวัตต์
เทคโนโลยีที่ใช้ในการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีล้วนเป็นเทคโนโลยีระดับโลกที่มีบริษัทที่ปรึกษาชำนาญการจากทั่วโลกมาวางแผนออกแบบให้ทั้งสิ้น
อาทิ พอยรี่ จากฟินแลนด์, เอเอฟ-คอนซัลต์ จากสวิตเซอร์แลนด์, กองปานี นาซิอองนาล เดอ โรน จากฝรั่งเศส และทีมกรุ๊ป จากประเทศไทย
เขื่อนกั้นแม่น้ำไรน์ในยุโรปเป็นอย่างไร เขื่อนไซยะบุรีก็ทำได้ไม่แตกต่างกันเลย สามารถปรับระดับน้ำให้เรือสามารถวิ่งผ่านเขื่อนไปได้ทั้งขาขึ้นขาล่อง
นอกจากนี้ยังมีทางบันไดปลาให้ปลาผ่านเขื่อนขึ้นไปได้ทั้งทวนน้ำและตามน้ำ เหมือนลิฟต์ยกให้ปลาอย่างไงอย่างงั้นเลย และยังมีช่องไหลผ่านตะกอนเพื่อความสบายใจของประเทศเพื่อนบ้านทางตอนใต้แม่น้ำโขง คือ กัมพูชา และเวียดนาม
ไปเห็นไซต์งานก่อสร้างก่อนเปิดเขื่อนเต็มระบบมาแล้ว เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจกับบริษัทก่อสร้างคนไทยอย่าง ช.การช่าง ที่สามารถทำงานระดับเวิลด์คลาสได้
ที่ตั้งเขื่อนไซยะบุรีอยู่ห่างจากหลวงพระบางไปทางตอนใต้ประมาณ 80 กม. ใช้เวลาเดินทางโดยรถราว 2 ชั่วโมง ไม่ถึงกับโหดนักเพราะเป็นถนนลาดยาง แต่ทางแคบ รถสวนกันและบางตอนเป็นทางภูดอย
กระแสไฟฟ้าจากเขื่อนจะจ่ายเข้าไทย 95% และรัฐวิสาหกิจลาว 5% สายส่งพาดเข้าไทยทาง อ.ท่าลี่ จ.เลย ระยะทางประมาณ 200 กม. ราคาจำหน่ายไฟฟ้าหน่วยละ 2.20 บาท
ปีหนึ่งผลิตไฟฟ้าได้ 7,370 ล้านหน่วย ก็เท่ากับ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ มีรายได้ประมาณปีละ 16,000 ล้านบาท คาดว่าน่าจะมีรายได้ตลอดอายุสัมปทาน 31 ปีรวมทั้งสิ้นประมาณ 500,000 ล้านบาท
นั่นหมายถึงตั้งแต่ปลายปีหน้าเป็นต้นไป เขื่อนผลิตไฟฟ้าแห่งนี้จะปั่นกระแสไฟฟ้าเป็นเม็ดเงินราววันละ 40 ล้านกว่าบาท
บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ มีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ ซีเค พาวเวอร์ 30%, นที ซินเนอร์ยี่ 25%, รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว 20%, บริษัทผลิตไฟฟ้า 12.5%, BMCL 7.5% และบริษัทพีที 5%
งานนี้ช่วยส่งเสริมฐานะ สปป.ลาว ให้มีฐานะเป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” สูงเด่นยิ่งขึ้น ตามเข็มมุ่งประเทศ และสร้างรายได้เข้าประเทศ
ประเทศไทยเองก็เกิดความมั่นคงทางด้านพลังงาน โดยเอกชนก็ได้รับผลตอบแทนตามสมควรจากการลงทุนตามสมควร
เหนืออื่นใดก็คือคุณูปการความร่วมมือแห่งบ้านพี่เมืองน้องสองฝั่งโขง