พาราสาวะถี

บอกมาโดยตลอดประเด็นปลดล็อกพรรคการเมืองทำกิจกรรมที่คสช.ใช้บรรทัดฐานคำว่าสงบเรียบร้อยมาเป็นตัวชี้วัด คำถามคืออะไรคือความสงบ หากหมายถึงต้องไม่มีกลุ่มใดๆ เคลื่อนไหว นักการเมืองต้องไม่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ถ้าเช่นนั้นคงไม่มีทางที่จะได้เห็นพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรม เพราะทุกอย่างมันอยู่ที่การตีความของผู้มีอำนาจทั้งสิ้น


อรชุน

บอกมาโดยตลอดประเด็นปลดล็อกพรรคการเมืองทำกิจกรรมที่คสช.ใช้บรรทัดฐานคำว่าสงบเรียบร้อยมาเป็นตัวชี้วัด คำถามคืออะไรคือความสงบ หากหมายถึงต้องไม่มีกลุ่มใดๆ เคลื่อนไหว นักการเมืองต้องไม่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ถ้าเช่นนั้นคงไม่มีทางที่จะได้เห็นพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรม เพราะทุกอย่างมันอยู่ที่การตีความของผู้มีอำนาจทั้งสิ้น

ทางที่ดีควรจะเปลี่ยนจากคำว่าสงบเรียบร้อย เป็นเมื่อผู้มีอำนาจหรือคณะเผด็จการคสช.พอใจและสบายใจเมื่อไหร่ค่อยมาคุยกันน่าจะดีกว่า อย่างที่ สุริยะใส กตะศิลา ตั้งข้อสังเกตล่าสุด เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจที่สัญญาณปลดล็อกพรรคการเมืองและการกำหนดวันเลือกตั้งยังไม่มีใครคาดการณ์ได้ เดิมทีหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าปลดล็อกพรรคการเมืองน่าจะเริ่มเดือนมิถุนายนนี้ แต่ถึงตอนนี้น่าจะเป็นไปได้ยากแล้ว

แม้ตลาดการเมืองจะเริ่มคึกคัก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะเดินสู่การเลือกตั้งโดยไม่มีปัญหาอุปสรรคใดๆ จะมีความชัดเจนก็ต่อเมื่อคสช.ยกเลิกคำสั่งห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม และห้ามชุมนุมเกิน 5 คนเท่านั้นถึงจะเห็นโรดแมปภาพรวมการเมืองได้อย่างชัดเจน นอกจากต้องรอ การปลดล็อกคำสั่งห้ามทำกิจกรรมพรรคการเมืองแล้ว เรื่องการตีความ ร่างกฎหมายที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง 2 ฉบับของศาลรัฐธรรมนูญ ก็ต้องลุ้นเหมือนกันว่าจะออกมาในแนวใด จะกระทบโรดแมปหรือไม่

ด้วยเหตุนี้กระมัง เสนาะ เทียนทอง ที่เปิดบ้านพักที่อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว รับการอวยพรวันเกิดครบรอบ 84 ปี จึงกล้าฟันธงว่า ไม่เชื่อว่าจะเกิดการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า เพราะยังมีอะไรหลายอย่างขาดตกบกพร่อง เลือกตั้งมาก็จะทำให้เกิดปัญหาวุ่นวาย เนื่องจากรัฐธรรมนูญยังไม่เรียบร้อยยังบกพร่องหลายเรื่องสำคัญ

สิ่งที่น่าสนใจในมุมของผู้อาวุโสทางการเมืองคือ ข้อกังวลเกี่ยวกับการใช้มาตรา 44 เพราะอาจจะมีผลย้อนหลังในอนาคตได้ อย่างที่บอกไว้หลายครั้งอย่าลืมว่าก่อน ระหว่างและหลังการเลือกตั้งจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ มาตรายาวิเศษยังคงมีผลบังคับใช้ ดังนั้น ฤทธิ์เดชที่มีจึงอาจถูกหยิบมาใช้เมื่อไหร่ก็ได้ ตรงนี้แหละที่แม้จะมีเลือกตั้งก็ใช่ว่าทุกอย่างจะสามารถเดินได้ตามครรลองที่ควรจะเป็น

ตราบใดที่อำนาจของคนๆ เดียวยังมีเหนือกว่ากฎหมายปกติ นั่นเท่ากับว่าการจะตัดสินเรื่องหนึ่งเรื่องใดขึ้นอยู่กับความพอใจของคนๆ นั้น แม้ตามพิธีกรรมจะบอกว่าการใช้อำนาจของหัวหน้าคสช.นั้น ต้องผ่านความเห็นชอบของคสช. กรณีการสั่งปลด สมชัย ศรีสุทธิยากร พ้นความเป็นกกต.ก็เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า อำนาจวิเศษนี้ยึดเหตุยึดผลเป็นหลักหรือยึดเสถียรภาพของผู้มีอำนาจเป็นสำคัญ

จะว่าไปแล้วเรื่องดังกล่าวก็เกิดเสียงวิจารณ์มานับตั้งแต่ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญไปบัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาลที่ยังคงอำนาจเด็ดขาดของหัวหน้าคสช.ไว้ ทั้งๆ ที่เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้ไปแล้ว ทุกอย่างควรจะดำเนินการด้วยกฎหมายปกติ แน่นอนว่ากองเชียร์ท่านผู้นำย่อมยกมือหนุนว่าหัวหน้าคณะรัฐประหาร จำเป็นต้องมีเครื่องมือที่เด็ดขาดไว้จัดการปัญหาชีวิต (ของคณะเผด็จการ)

น่าเสียดายที่เสียงทักท้วงทั้งหลายไม่ดังพอ จึงทำให้ประเทศไทยต้องเดินกันไปในบริบทแบบนี้ อย่างที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้สัมภาษณ์ถึงข้อคำถามเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณา 2 ร่างกฎหมายที่อยู่ในมือของศาลรัฐธรรมนูญ จะเกิดเป็นภาวะกดดันหรือจะมีการขอให้เร่งรัดเพื่อไม่ให้กระทบต่อโรดแมปเลือกตั้งได้หรือไม่

คำตอบของอภิสิทธิ์น่าขีดเส้นใต้ สภาวการณ์เช่นนี้จะไม่เป็นผลดีต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ภาวะปัจจุบันขณะนี้ความอึมครึม ความไม่แน่นอนยังมีปรากฏทุกเวลา ความไม่ชัดเจน ในเรื่องการขจัดผลประโยชน์ที่ซับซ้อน ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนติงมาตลอดว่า ถ้าอยากจะปฏิรูปการเมืองต้องช่วยกันทำให้เรื่องแบบนี้หมดไป ไม่ใช่มาทำเสียเอง

เป็นการกระแทกหมัดตรงเข้าหน้าผู้มีอำนาจแบบเต็มๆ ถ้าจะพูดเรื่องธรรมาภิบาลต้องไม่มีสิ่งเหล่านี้ ไม่เช่นนั้นก็ไม่ควรพูด ทั้งนี้ ขณะที่กระบวนการทำงานขององค์กรอิสระจะได้รับผลกระทบจากอำนาจที่ไม่ปกติหรือไม่ เหมือนอย่างที่มีการมองกันมาโดยตลอดก่อนหน้านี้  ขณะนี้องค์กรอิสระก็ได้รับผลกระทบหลายองค์กรแล้วจากการเขียนกฎหมายลูกและการใช้มาตรา 44

อย่างไรก็ตาม แม้จะถูกวิจารณ์หนักหน่วงเพียงใด เมื่อไปค้นหาคำตอบจากผู้มีอำนาจย่อมรู้กันอยู่แล้วว่าจะกลับมาแบบไหน หนักหน่วงรุนแรงและต้องเป็นไปในลักษณะพร่ำพรรณนาถึงความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายพิเศษเพื่อไว้จัดการพวกที่ถูกตีตราว่าจ้องจะป่วนเมือง รวมไปถึงบรรดานักการเมืองและพรรคการเมือง ที่ถูกประทับเครื่องหมายต้นทุนต่ำไว้ตั้งแต่วันแรกที่คณะเผด็จการคสช.เข้ามามีอำนาจแล้ว

ไม่ว่ากติกาจะเป็นอย่างไร มีอุปสรรคขนาดไหน แต่พรรคการเมืองเก่ายังคงต้องเดินหน้ากันตามกติกาเท่าที่พอจะทำได้ ไฮไลต์คงอยู่ที่การเปิดให้สมาชิกพรรคยืนยันตัวตนกับหัวหน้าพรรค ซึ่งทั้งประชาธิปัตย์และเพื่อไทยต่างถูกจับตาเป็นพิเศษ เพราะจะเป็นการตรวจเช็คเพื่อวัดใจว่า ใครจะอยู่ ใครจะแยกตัวไปตั้งพรรคใหม่หรือเข้ากับพรรคการเมืองใด

ยืนยันมาแล้วจากอภิสิทธิ์ในส่วนของพรรคเก่าแก่ บรรดาแกนนำของกปปส.ยังอยู่ครบ จะมีเพียงแค่ ธานี เทือกสุบรรณ น้องชายของสุเทพเท่านั้นที่แยกไปตั้งพรรคมวลมหาประชาชนฯ เพื่อเปิดทางให้พี่ชายได้บัญชาการ วัดฐานมวลชนว่ายังมีเหลือเท่าใด ขณะเดียวกันอภิสิทธิ์ก็เล่นบทห้าวเป้งด้วยการประกาศสมาชิกพรรคยังสนับสนุนหัวหน้าพรรคเป็นนายกฯอยู่แล้ว ส่วนใครที่จะออกนอกแถวให้ไปทางเลือกอื่น ไม่ต้องมาที่นี่

ฟากของพรรคเพื่อไทย พรุ่งนี้เปิดให้สมาชิกเข้ารดน้ำขอพรผู้ใหญ่ของพรรคเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ใครเข้าร่วม ใครไม่มาเพราะเหตุใดต้องมีคำอธิบาย แต่การส่งสัญญาณจากคนแดนไกลมั่นใจว่าจะชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ แม้จะออกตัวว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ก็น่าจะพอทำให้สมาชิกที่คิดจะเปลี่ยนสีเสื้อต้องคิดหนัก รอดูว่าบรรยากาศที่พรรคนายใหญ่จะคึกคักเพียงใด

Back to top button