สรรพากร กับ บัญชีเล่มเดียว
เมื่อวานนี้ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ออกมาบอกว่า ได้ส่งหนังสือเวียนไปยังสถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกแห่ง แจ้งแนวนโยบาย ธปท. เรื่องการทำธุรกรรมด้านสินเชื่อ การลงทุนในหลักทรัพย์ และการขายสินทรัพย์ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ได้ปรับปรุงใหม่ โดยกำหนดให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจเพิ่มความสำคัญต่อบัญชีและงบการเงินที่ลูกค้าแสดงต่อกรมสรรพากรในการยื่นภาษีเงินได้ ให้ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญใช้พิจารณาความสามารถการชำระหนี้และระดับความเสี่ยงของลูกค้า ที่จะสะท้อนศักยภาพการดำเนินงานและการขยายธุรกิจมาร่วมพิจารณา
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
เมื่อวานนี้ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ออกมาบอกว่า ได้ส่งหนังสือเวียนไปยังสถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกแห่ง แจ้งแนวนโยบาย ธปท. เรื่องการทำธุรกรรมด้านสินเชื่อ การลงทุนในหลักทรัพย์ และการขายสินทรัพย์ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ได้ปรับปรุงใหม่ โดยกำหนดให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจเพิ่มความสำคัญต่อบัญชีและงบการเงินที่ลูกค้าแสดงต่อกรมสรรพากรในการยื่นภาษีเงินได้ ให้ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญใช้พิจารณาความสามารถการชำระหนี้และระดับความเสี่ยงของลูกค้า ที่จะสะท้อนศักยภาพการดำเนินงานและการขยายธุรกิจมาร่วมพิจารณา
โดยแนวนโยบายใหม่นี้มีผลบังคับใช้สำหรับสินเชื่อที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจอนุมัติหรือทบทวนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป เพื่อส่งเสริมให้บริษัทจัดทำบัญชีและงบการเงินสะท้อนสภาพที่แท้จริงของกิจการมากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในการเพิ่มประสิทธิภาพระบบจัดเก็บภาษีเงินได้
มาตรการออกคำสั่งทางอ้อมผ่านธนาคารเฉพาะกิจ เพื่อให้ไปสร้างเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อแก่ SME ที่มีมูลค่าธุรกิจ โดยระบุว่าถึงเงื่อนไขว่า หากลูกหนี้ธุรกิจที่มีเงินรายได้ปีละไม่เกิน 500 ล้านบาท (ไม่รวมรายได้จากการขายสินทรัพย์) ของสถาบันการเงินมีงบการเงินที่ยื่นต่อกรมสรรพากรแล้ว ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจนำงบการเงินดังกล่าวมาใช้พิจารณาทบทวนความสามารถชำระหนี้ของลูกหนี้รายดังกล่าว ซึ่งโดยตรงหรือโดยนัย มีความหมายว่า ให้ลูกค้าธนาคารต้องทำการจัดทำ “บัญชีเล่มเดียว” (ยกเว้นกรณีบริษัทที่จัดตั้งใหม่และยังไม่จัดส่งงบการเงินให้กรมสรรพากร)
คำสั่ง ธปท. ดังกล่าวไม่ใช่ปฏิบัติการเข้มงวดเป็นพิเศษ หรือเป็นมาตรการจำเพาะ เนื่องจากเป็นภารกิจที่ ธปท.ถูกกฎหมายกำหนดมาตั้งแต่ปี 2558 แล้ว เป็นไปตามพระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ที่มีผลบังคับตั้งแต่ต้นปี 2562 ไป
เจตนาที่ต้องการให้ธุรกิจ SME ทั่วประเทศใช้ระบบ “บัญชีเล่มเดียว” เขียนไว้สวยหรู 2 ประการพร้อมกันคือ 1) เพื่อให้ระบบการจัดเก็บภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น 2) สนับสนุนให้มีการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงของกิจการ ซึ่งหากไม่ดำเนินการจะส่งผลให้รัฐต้องสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษี อันจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ
เจตนารมณ์ดังกล่าวระบุไว้ในมาตรา 8 ว่า เป็นภาระหน้าที่ร่วมกันของกระทรวงการคลังและ ธปท.ให้ดำเนินการที่จำเป็น เพื่อให้สถาบันการเงินที่อยู่ในกำกับดูแล ใช้บัญชีและงบการเงินที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแสดงต่อกรมสรรพากรในการยื่นรายการภาษีเงินได้เป็นหลักฐานในการทำ ธุรกรรมทางการเงินและการขออนุมัติสินเชื่อกับสถาบันการเงิน
ส่วนจะบอกว่ามัดมือชก หรือไม่ ก็คงต้องอาศัยจินตนาการพอสมควร ระหว่างสุดขั้วของข้อสรุป “บัญชีเดียว มีแต่ได้” กับ “บัญชีเดียว มีแต่เสีย”
ในด้านของ “ขาเชียร์” ก็ออกมายืนยันสนับสนุนว่า การที่ภาครัฐขอให้ SME จัดทำบัญชีชุดเดียว และต้องเข้าระบบให้ถูกต้อง ฟังแล้วเหมือนจะโหดร้ายกับหลายๆ SME ที่ไม่เคยเน้นเรื่องภาษีเลย แต่ที่แท้จริงแล้ว ธุรกิจจะได้ประโยชน์จากมาตรการบัญชีเล่มเดียว นับแต่ 1) โปรแกรมบัญชีที่ทางรัฐจัดให้แบบฟรีๆ 2) ระบบการจัดทำบัญชีสะดวกขึ้นและมาตรฐานเดียวกัน ช่วยให้การขอเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ที่เคยทำได้ยาก มีความสะดวกขึ้น
อีกด้านหนึ่ง คนที่ทำธุรกิจ SME ที่คุ้นชินกับระบบ “บัญชีหลายเล่ม” ที่คุ้นเคยกับประสบการณ์ซึ่งส่งผ่านกันต่อมา คือระบบ “บัญชี 2 เล่ม” กับ “บัญชี 3 เล่ม” ก็ยังคงยึดมั่นกับทัศนคติเก่าว่า นอกจากการเสียภาษีเพิ่มขึ้นแล้ว ไม่มีอะไรที่สมควรทำการเปลี่ยนแปลงเลย
ในทางปฏิบัติ คือ ระบบจัดทำบัญชีในภาคธุรกิจจะมีอย่างน้อยสุด 2 เล่ม คือ การทำบัญชีที่ตรงกับความเป็นจริงเล่มหนึ่ง ไว้ดูเอง กับอีกเล่มคือลงรายการไม่ตรงกับความเป็นจริง เอาไว้เสียเสียภาษี หรือหลบเลี่ยงภาษี
ส่วนระบบบัญชี 3 เล่ม มีความซับซ้อนมากขึ้นไปอีก เพราะเล่ม 1) เป็นบัญชีกิจการที่ทำตามความเป็นจริงของกิจการ ทั้งรายรับและรายจ่าย เพื่อการบริหารกิจการอย่างแท้จริง และเป็นบัญชีที่ใช้ในการขอสนับสนุนการเงินจากสถาบันการเงิน 2) เป็นบัญชีตามมาตรฐานการบัญชี พ.ร.บ.บัญชี 2543 โดยนำข้อมูลจากข้อ 1.มาจัดทำและปรับปรุงให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. (ใช้ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์) 3) เป็นบัญชีที่จัดทำตามประมวลรัษฎากร คือต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายภาษี ซึ่งมีข้อปฏิบัติและข้อห้ามอีกมากมายตามความต้องการของสรรพากร
ประเด็นปัญหา คือ การจัดทำบัญชีหลายเล่มจำเป็นต้องใช้บุคคลที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด มีผู้สอบบัญชีซึ่งมีทั้ง TA และ CPA รับรองมาตรฐาน แต่ทั้งคนทำและผู้สอบบัญชีก็ไม่สามารถรับรองได้ว่าบัญชีที่เป็นผู้ทำ/ผู้สอบ เมื่อสรรพากรตรวจสอบแล้วจะไม่มีความผิดหรือรับรองได้ว่าถูกต้องไม่ถูกประเมินเพิ่มเติม แค่ทำตามหน้าที่ในฐานะที่เป็นผู้มีคุณสมบัติที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น
ความลักลั่นดังกล่าว ทำให้เกิดความพยายามให้ภาคธุรกิจจัดทำบัญชีเล่มเดียวขึ้นมา โดยมีการกำหนดเงื่อนไขสำหรับบริษัทหรือนิติบุคคล ทั้งที่เข้าข่ายขึ้นทะเบียน หรือได้รับยกเว้น ไม่ต้องทำบัญชีเล่มเดียว
ในมุมของคนเก็บภาษี คือ เจ้าหน้าที่รัฐ เป็นความสะดวกอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ในมุมของผู้ประกอบการถือว่าการลงบัญชีที่ส่งสรรพากรกับบัญชีที่ดูกันภายในเลขจะไม่ตรงกันเป็นเรื่องปกติ เพราะขึ้นกับวิธีบันทึกบัญชี หรือจัดตำแหน่งตัวเลขใหม่ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี ไม่ได้ถึงขนาดมีเจตนาหลบเลี่ยงหรือโกงตัวเลข
มุมมองที่ต่างกันเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่จะมีผลลัพธ์อย่างไร เป็นอีกประเด็นที่แยกออกไปต่างหาก