ปัจจัยกดกำไรแบงก์
นักวิเคราะห์จากโบรกฯหลายแห่ง ต่างคาดการณ์ตรงกันว่าในปี 2561 กำไรของหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะปรับลง ปัจจัยหลักๆ มาจากการปรับลดค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) ที่เพิ่งจะเป็นข่าวกันไป
ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร
นักวิเคราะห์จากโบรกฯหลายแห่ง ต่างคาดการณ์ตรงกันว่าในปี 2561 กำไรของหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะปรับลง
ปัจจัยหลักๆ มาจากการปรับลดค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) ที่เพิ่งจะเป็นข่าวกันไป
ตัวเลขกำไรที่ผ่าน การดีดลูกคิดออกมามีความน่าสนใจแบบนี้ครับ
หากเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง กำไรจะปรับลง 2-3% เช่น ไทยพาณิชย์ กสิกรไทย และกรุงไทย
ส่วนแบงก์กรุงเทพ หรือ BBL ต้องดูความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายเก็บค่าธรรมเนียมอีกครั้ง เพราะเท่าที่ประกาศออกมายังจำกัดอยู่เพียงบางธุรกรรม และกำหนดช่วงเวลาเอาไว้
ธนาคารที่มีขนาดรองลงมา เช่น แบงก์กรุงศรีกำไรน่าจะปรับเพิ่มจากปี 2560 ได้
แบงก์ทีเอ็มบีจะมีกำไรเพิ่มจากปีก่อนหน้าได้เช่นกัน
ธนาคารขนาดกลางทั้ง 2 ไม่ได้รับผลกระทบจากการลดค่าฟี โดยเฉพาะทีเอ็มบี
นั่นเพราะทีเอ็มบีเขาใช้นโยบายเรื่องฟรีค่าธรรมมานานแล้วกว่า 9 ปี หรือตั้งแต่สมัย “บุญทักษ์ หวังเจริญ” เข้าทำหน้าที่ซีอีโอใหม่ๆ และใช้เรื่อยมากระทั่งปัจจุบัน
สัปดาห์ก่อนหุ้นทีเอ็มบีราคาปรับลงอย่างหนัก
นักลงทุนต่างวิตกว่าทีเอ็มบีจะได้รับผลกระทบจากการทำสงครามค่าฟีของ 4 ธนาคารขนาดใหญ่
ทว่าทั้งผู้บริหารทีเอ็มบี และนักวิเคราะห์มองตรงกันว่า ทีเอ็มบีไม่ได้รับผลอะไร
และราคาหุ้นที่ปรับตัวลงเป็นโอกาสในการเข้าซื้อ เพราะราคาที่เป็น Consensus อยู่มากกว่า 3.00 บาท ประกอบกับกำไรปีนี้น่าจะขึ้นไปถึงระดับ 1 หมื่นล้านบาทได้
ส่วนธนาคารพาณิชย์อื่นๆ เช่น TBANK, TISCO และ KKP จะมีกำไรออกมาเป็นบวกได้ในปีนี้
และไม่ได้รับผลกระทบจากเรื่องของค่าฟีมากนัก
โบรกฯต่างๆ มองกันว่า กำไรของหุ้นธนาคารที่จะได้รับผลกระทบจากค่าฟีที่หายไป จะเริ่มเห็นผลตั้งแต่ไตรมาส 2/2561 ไปจนถึงสิ้นปี 2561
และกำไรจะเริ่มกลับมาเป็นบวกได้ในปี 2562 หลังจากต้นทุนทางการเงินด้านต่างๆ ลดลง
เช่น ต้นทุนจากการปิดสาขา ต้นทุนจากการทำการตลาด และต้นทุนทางการเงินอื่นๆ
ก่อนหน้านี้ที่จะมีเรื่องสงครามค่าฟี
หุ้นในกลุ่มธนาคารมีปัจจัยกดดันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
เรื่องแรกจะเกี่ยวกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือทางการเงิน (IFRS 9)
มีการวิเคราะห์เริ่มจากธนาคารขนาดใหญ่ 4 แห่ง คือ KBANK, KTB, BBL และ SCB
ธนาคาร 4 แห่งนี้มีอยู่ 1 แห่งที่น่าจะต้องตั้งสำรองฯมากสุดตามมาตรฐาน IFRS9 คือ กรุงไทย หรือ KTB
ล่าสุด KTB มี Coverage Ratio อยู่ประมาณ 121%
ตัวเลขนี้ถือว่าต่ำสุดในบรรดาแบงก์ขนาดใหญ่ และยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มธนาคารที่อยู่ประมาณ 140% จึงมีความเป็นไปได้ที่ KTB อาจจะต้องสำรองเพิ่มขึ้นในปีนี้
ส่วน KBANK กับ SCB อาจจะมีตั้งสำรองเพิ่มบ้าง แต่ไม่น่าจะสูง
ขณะที่ BBL เป็นธนาคารที่มีเงินกองทุนมากสุด Coverage Ratio มากกว่า 180% และสถานการณ์หนี้เสียเริ่มนิ่ง หรือผ่านจุดสูงสุดไปแล้วตั้งแต่ปี 2560
BBL จึงเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวที่มีโอกาสโชว์กำไรในปีนี้เป็นบวกได้
ส่วนธนาคารขนาดกลางและเล็ก เช่น TCAP จะมีสินเชื่อรถยนต์ดีขึ้นตามยอดขายรถยนต์ปีนี้กลับมาสดใส
TMB จะได้รับประโยชน์จากค่าธรรมเนียมจาก FWD
เช่นเดียวกับ TISCO นอกจากสินเชื่อรถยนต์ที่ดีขึ้น ก็จะมีรายได้จากพอร์ตสินเชื่อจากสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดเข้ามาบันทึกได้เต็มปี
ธนาคารทั้ง 3 แห่งยังต่างมีเงินกองทุนในระดับสูงและเพียงพอต่อการรับมือกับ IFRS9
นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมกำไรปีนี้ จะออกมาสวย
แต่สำหรับไทยพาณิชย์ หรือ SCB นอกจากเรื่องของค่าธรรมเนียมที่จะหายไปก็ยังมีรายจ่ายด้าน Digital Transformation ส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น เราจึงเห็นราคาหุ้นของ SCB ยังไม่ไปไหน
ปีนี้จึงยังไม่ใช่เป็นปีของแบงก์ขนาดใหญ่โดยเฉพาะ SCB, KTB และ KBANK
ส่วนแบงก์ขนาดกลางและเล็ก
ก็ยังคงเติบโตโดดเด่นจากปี 2560