จีน-สหรัฐฯและส้นเท้าอะคีลีส
วันอังคารที่ผ่านมา นักลงทุนในตลาดหุ้นนิวยอร์กพากันตีความเชิงบวกว่า คำกล่าวของสี จิ้นผิง ในงานประชุม WEF Asia หรือ BOAO FORUM FOR ASIA ANNUAL CONFERENCE 2018 (BFA) ที่เมืองโป๋อ่าว (ซึ่งจีนวางตนเองเป็นทางเลือกของดาวอส) ทำให้ราคาหุ้นและดัชนีตลาดทะยานบวกแรงปิดเหนือแนวต้านเส้น 20 วันได้สดสวย คำถามคือการตีความดังกล่าวถูกต้องแค่ไหน
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
วันอังคารที่ผ่านมา นักลงทุนในตลาดหุ้นนิวยอร์กพากันตีความเชิงบวกว่า คำกล่าวของสี จิ้นผิง ในงานประชุม WEF Asia หรือ BOAO FORUM FOR ASIA ANNUAL CONFERENCE 2018 (BFA) ที่เมืองโป๋อ่าว (ซึ่งจีนวางตนเองเป็นทางเลือกของดาวอส) ทำให้ราคาหุ้นและดัชนีตลาดทะยานบวกแรงปิดเหนือแนวต้านเส้น 20 วันได้สดสวย คำถามคือการตีความดังกล่าวถูกต้องแค่ไหน
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,408.00 จุด พุ่งขึ้น 428.90 จุด หรือ +1.79% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,656.87 จุด เพิ่มขึ้น 43.71 จุด หรือ +1.67% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,094.30 จุด เพิ่มขึ้น 143.96 จุด หรือ +2.07%
คำตอบในเบื้องต้น คือ พวกเขามองว่าการประนีประนอมกำลังช่วยยืดสงครามการค้าออกไปให้ช้าลง ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 400 จุดเมื่อคืนนี้ (10 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนคลายความวิตกเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน หลังจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ส่งสัญญาณความพร้อมในการเปิดกว้างให้ต่างชาติเข้าถึงตลาดจีนมากขึ้น พร้อมกับให้คำมั่นว่าจีนจะปรับลดภาษีนำเข้ารถยนต์ โดยถ้อยแถลงดังกล่าวช่วยหนุนหุ้นกลุ่มรถยนต์ของสหรัฐฯพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่ง
นอกจากนี้ ปธน.สี จิ้นผิง ยืนยันว่าจีนจะปรับปรุงสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนสำหรับนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งจะเพิ่มการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทต่างชาติ
ถ้าพิจารณาแบบ “ตัดตอน” ถือว่าการตีความไม่ผิดที่ว่าความเคลื่อนไหวของผู้นำจีนทำให้ข้อพิพาทด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนเริ่มคลี่คลายลง เสริมด้วยท่าทีของโดนัลด์ ทรัมป์ได้ระบุว่า “ผมขอขอบคุณเป็นอย่างมากสำหรับ ปธน.สี จิ้นผิง ที่ได้กล่าวเกี่ยวกับการลดภาษีนำเข้ารถยนต์ รวมทั้งการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา และการถ่ายโอนเทคโนโลยี เราจะสร้างความคืบหน้าที่ยิ่งใหญ่ไปด้วยกัน”
มองในเชิงกลยุทธ์ การตีความถือว่าหากถูกแค่บางส่วน เพราะข้อความที่ สี จิ้นผิง พูดเอาไว้มีมากกว่านั้น เนื่องจากสะท้อนว่านักลงทุนใช้มุมมองที่แคบในการตีความจนมองข้ามกลยุทธ์ “สงครามยืดเยื้อ” ที่จีนใช้อยู่อย่างชำนาญ เนื่องจากกลยุทธ์ที่จีนเลือกใช้ในสงครามการค้ายามนี้คือ “ถอยในรุก”
คำกล่าวที่มีความหมายของ สี จิ้นผิง ประกอบด้วย
- ช่วง 40 ปีที่ผ่านมา GDP ของจีน ขยายตัวราว 9.5% ต่อปี ส่วนการค้าของจีนขยายตัว 14.5% ต่อปี และขณะนี้ประชาชนชาวจีน มีความเป็นอยู่ดีขึ้น จนกล่าวได้อย่างภาคภูมิใจว่า การปฏิรูปและเปิดกว้างของจีน ไม่ใช่แค่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของประเทศเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลต่อประเทศทั่วโลก
- จีนพร้อมปรับลดภาษีนำเข้ารถยนต์ และภาษีนำเข้าสินค้าประเภทอื่นๆ ในปีนี้ รวมทั้งจะเริ่มขยายการนำเข้าสินค้าที่มีศักยภาพด้านการแข่งขัน
- จีนไม่ได้แสวงหาการเกินดุลการค้า จีนตั้งใจเพิ่มการนำเข้า และหวังว่าประเทศที่พัฒนาแล้วจะยุติการคุมเข้มด้านการค้า
- จีนพร้อมปรับปรุงสภาพแวดล้อม เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ จะเปิดกว้างให้ต่างชาติ เข้าถึงตลาดจีนได้มากขึ้น จะออกมาตรการเพื่อให้นักลงทุนต่างชาติ เพิ่มวงเงินลงทุนในธุรกิจธนาคาร ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจประกัน
- จะผลักดันให้มีความคืบหน้า กรณีที่จีนจะเข้าร่วมความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ (Government Procurement Agreement) ขององค์การการค้าโลก (WTO)
- จีนจะปกป้องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อช่วยยกระดับการแข่งขันให้กับเศรษฐกิจของจีน
- การทำสงครามเย็น และมุ่งเอาชนะแต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่ใช่หนทางที่ถูกต้อง มนุษยชาติจำเป็นต้องเลือกระหว่างการเปิดกว้างกับการโดดเดี่ยว และต้องเลือกระหว่างความก้าวหน้ากับการถอยหลัง
คำกล่าวตอนท้ายของสี จิ้นผิง ที่ว่า “มนุษยชาติจำเป็นต้องเลือกระหว่างการเปิดกว้างกับการโดดเดี่ยว และต้องเลือกระหว่างความก้าวหน้ากับการถอยหลัง” เป็นการซ่อนนัยของกลยุทธ์ “ถอยในรุก” ไว้ชัดเจนว่า ข้อเสนอด้วยการพร้อมปรับลดภาษีนำเข้ารถยนต์ และภาษีนำเข้าสินค้าประเภทอื่นๆ ในปีนี้ รวมทั้งจะเริ่มขยายการนำเข้าสินค้าที่มีศักยภาพด้านการแข่งขัน ไม่ได้หมายความว่าจะให้ฟรีที่คู่ค้าไม่ต้องทำอะไร แต่ใครอยากได้ต้องนั่งเจรจาแบบ “หมูไป ไก่ (ต้อง) มา” เท่านั้น
หากพิจารณาท่าทีของ สี จิ้นผิง จะเห็นได้ว่าการเจรจาและเข้าสู่สงครามการค้าครั้งนี้ จีนพร้อมจะทำ “สงครามยืดเยื้อ” เต็มที่เพราะเป้าหมายอนาคตที่ต้องการบรรลุ ไม่ใช่แค่ความไพบูลย์มั่งคั่งเฉพาะหน้า เนื่องจากมีเป้าหมายสำคัญที่พูดเอาไว้ใน ปี ค.ศ. 2015 หรือ 3 ปีก่อน ที่กำหนดยุทธศาสตร์เป็นที่ 1 ด้านเทคโนโลยี 10 ประเภทภายใต้คำขวัญ Made in China 2025 และตอกย้ำอีกครั้งในปีนี้ ที่ทำให้ยุคสมัยของ สี จิ้นผิง แตกต่างจากเหมา และเติ้ง เสี่ยวผิง ชัดเจน
ความแตกต่างนั้น คือ การยกระดับเป็นเจ้าเทคโนโลยีของโลก ใช้แนวคิดการพัฒนาใหม่ที่เน้นวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โปร่งใส และกระจายประโยชน์ โดยเน้นไปที่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) ยานยนต์ใช้พลังใหม่ (New-Energy Vehicles) เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) เครื่องบินและยานอวกาศ (Aerospace) เรือเดินสมุทรระดับสูง (High-end Shipping) อุปกรณ์เดินรถระบบรางที่ก้าวหน้า (Advanced Rail Equipment) อุปกรณ์ด้านกำลังผลิตไฟฟ้าที่ล้ำยุค (Electric Power Equipment) วัสดุสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ (New Materials (such as those used in screens and solar cells)) เทคโนโลยีสารสนเทศและซอฟต์แวร์โทรคมนาคมรุ่นใหม่ (New Generation Information Technology and Software (including integrated circuits and telecommunications devices)) และอุปกรณ์ใหม่ทางด้านเกษตร (Agricultural Machinery)
การรุกคืบของจีนเพื่อสร้างความเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 10 ถือเป็นผลประโยชน์ ความมั่งคั่ง และพลังอำนาจที่จับต้องได้ ที่สั่นคลอนความยิ่งใหญ่ของสหรัฐฯอย่างมีนัยสำคัญ
ความเป็นไปได้ที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวของจีนมีสูงมาก เพราะหลายปีมานี้บรรดานักวิทยาศาสตร์ และผู้นำธุรกิจทั่วโลกเริ่มยอมรับว่า พัฒนาการในด้านเทคโนโลยีของจีนนั้นก้าวหน้าไม่แพ้ใครในหลายด้าน ผิดกับภาพลักษณ์ที่คุ้นเคยและยังมีมุมมองเชิงลบอยู่ไม่น้อย
การบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ Made in China 2025 (ที่หมายถึงการปิดจุดอ่อน “ส้นเท้าอะคีลีส” ทางด้านเทคโนโลยี) ค่อนข้างสอดรับการประเมินบวกคาดเดาเมื่อปีก่อนของสำนักวิเคราะห์อนาคตของ PWC ที่ระบุว่า ภายใต้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ ภายในปี ค.ศ. 2050 จีนจะมีขนาดเศรษฐกิจเหนือกว่าสหรัฐฯเต็มที่ทุกด้าน
นั่นหมายความว่า ในมุมมองของจีนแล้ว สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน เป็น “สปริงบอร์ด” เพื่อไปสู่อนาคต แบบที่จีนเคยสามารถทำได้ รวมทั้งล่าสุดที่ก้าวข้ามมาแล้วอย่าง “กับดักชาติรายได้ปานกลาง” อย่างง่ายดายเกินคาดในช่วง 5 ปีมานี้