PACE กับ SCB

ข่าวการขาย “ตึกมหานคร” ของ บมจ.เพซ ดีเวลลอปเมนท์ หรือ PACE ให้กับกลุ่มคิง เพาเวอร์ ได้รับทราบข่าวมาก่อนหน้านี้มาเป็นระยะบ้างแล้ว


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

ข่าวการขาย “ตึกมหานคร” ของ บมจ.เพซ ดีเวลลอปเมนท์ หรือ PACE ให้กับกลุ่มคิง เพาเวอร์ ได้รับทราบข่าวมาก่อนหน้านี้มาเป็นระยะบ้างแล้ว

เพียงแต่ว่าต้องรอการแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ก่อนก็เท่านั้น

ทบทวนกันอีกครั้งว่า การซื้อ-ขายกันครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการขายหุ้น

ทว่าเป็นการขายสินทรัพย์

โดยเป็นสัญญาซื้อสินทรัพย์บริษัทลูกของเพซฯ คือ บริษัท เพซ โปรเจค วัน จำกัด และบริษัท เพซ โปรเจค ทรี จำกัด

ทั้ง 2 บริษัทลูกของเพซฯ ได้ดูแลสินทรัพย์ที่ประกอบไปด้วย ธุรกิจโรงแรม จุดชมวิว อาคารรีเทลคิวบ์ และส่วนด้านหน้า

มูลค่าการซื้อขายต่างน่าจะรับทราบกันไปแล้วคือ 1.4 หมื่นล้านบาท

หากจำกันได้ ก่อนหน้านี้ กลุ่มเพซฯ พยายามขายสินทรัพย์ออกไป โดยเจรจากับกลุ่มแสนสิริ

แม้ต่อมาดีลดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ

แต่การแก้ปัญหาของเพซฯ ไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น มิเช่นนั้นแล้วหนี้ที่มีมูลค่านับหมื่นล้านบาท จะกลายเป็นหนี้เสียทันที

ว่ากันว่าแนวทางแก้ไขปัญหาของเพซฯ จะอยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB ในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของเพซฯ

ส่วนตัวนั้น เคยมีโอกาสนั่งจับเข่าคุยกับผู้บริหารของไทยพาณิชย์

แม้จะไม่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับดีลต่างๆ อะไรมากนัก

แต่เขาก็บอกว่า ธนาคารได้พยายามหาทางออกให้กับลูกหนี้อยู่อย่างใกล้ชิด

คือมีแผน 1 แผน 2 หรือแผนต่างๆ รองรับไว้แล้ว

เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้ “อาทิตย์ นันทวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของแบงก์ไทยพาณิชย์ ก็ออกมายืนยันว่า หุ้น PACE ยังไม่ได้ถูกจัดชั้นเป็นหนี้เสีย

และธุรกิจ PACE ยังมีความสามารถในการทำธุรกิจอยู่

ปัจจุบันมียอดโอนห้องของโครงการมหานครสูงถึง 60% จากเป้าหมายที่ 70%

สำหรับบริษัทเพซฯ นั้น ธุรกิจของเขาเพิ่งได้รับการเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นกว่า 3,000 ล้านบาท และจากธนาคารไทยพาณิชย์ในวงเงินอีก 200 ล้านบาท

และบวกกับการตัดขายสินทรัพย์บางส่วนออกไป จะทำให้เพซฯ มีสภาพคล่องมากขึ้น

ทำให้ความกังวลเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้เบาบางลงไป

แต่การขายสินทรัพย์ออกไปครั้งนี้ ยังไม่ได้หมายความว่า เพซฯ แก้ปัญหาได้แบบเบ็ดเสร็จ สะเด็ดน้ำแล้ว

และทางไทยพาณิชย์เองก็ยังวางใจไม่ได้เกี่ยวกับสถานะของลูกหนี้รายนี้

มีประเด็นที่น่าสนใจหลังเกิดดีลนี้นั่นคือ สินทรัพย์ที่เพซฯ ขายออกไปนั้น คือสินทรัพย์ที่สร้างรายได้เป็นหลักให้กับกลุ่มเพซฯ

เมื่อไม่มีสินทรัพย์กลุ่มดังกล่าวแล้ว จึงเกิดคำถามว่า แล้วต่อไปเพซฯ จะเอารายได้ (ที่ดี) มาจากตรงไหน

สินทรัพย์ที่ทำรายได้ระดับสูงอาจจะไม่มีเหลือ

ขณะที่โครงการมหาสมุทร ก็ยังไม่ได้เป็นรูปเป็นร่าง หรือสร้างรายได้อะไรมากนัก

ส่วนธุรกิจ DEAN & DELUCA ก็ต้องดูว่าจะมีใครมายอมซื้อในราคาสูงหรือไม่

ผลลัพธ์ต่อความกังวลเรื่องนี้นั้น สะท้อนได้จากราคาหุ้นของ PACE ที่ขยับขึ้นมาเพียงเล็กน้อยในช่วง 3 วันก่อนหน้านี้ และมีการขายทำกำไรกันออกมาเมื่อวานนี้

ล่าสุดราคาหุ้นยังคงอยู่ระดับ 0.56 บาทต่อหุ้น

มีคำถามตามมาว่า เพซฯ ได้อะไร และเสี่ยงอะไรบ้างจากดีลที่ว่านี้

คำตอบก็คือ ได้สภาพคล่องเข้ามาเพิ่ม แต่เสียสินทรัพย์ที่ดีออกไป

ส่วนไทยพาณิชย์ก็จะลดความกังวลเกี่ยวกับเพซฯ ลงได้บ้างว่าจะเป็นหนี้เสียหรือไม่

และรวมถึงมีความเป็นไปได้อีกด้วยว่า ไทยพาณิชย์อาจจะได้ลูกค้าหรือลูกหนี้รายใหม่เข้ามา

ชื่อว่า “คิง เพาเวอร์”

Back to top button