ใบอนุญาตไปสวรรค์พลวัต2015

การแถลงข่าวเพื่อระงับการออกอากาศสถานีโทรทัศน์ดิจิตอล ช่องไทยทีวี และโลก้า ของกรรมการบริหาร บริษัท ไทยทีวี จำกัด เมื่อวานนี้ แทนที่จะทำให้ทางลงของบริษัทดังกล่าวง่ายดายยิ่งขึ้น และได้รับความเห็นใจจากประชาชนทั่วไป กลับดูเหมือนว่า จะพลาดเป้าไปเสียทั้งหมด และไม่มีประโยชน์อะไรเลย


การแถลงข่าวเพื่อระงับการออกอากาศสถานีโทรทัศน์ดิจิตอล ช่องไทยทีวี และโลก้า ของกรรมการบริหาร บริษัท ไทยทีวี จำกัด เมื่อวานนี้ แทนที่จะทำให้ทางลงของบริษัทดังกล่าวง่ายดายยิ่งขึ้น และได้รับความเห็นใจจากประชาชนทั่วไป กลับดูเหมือนว่า จะพลาดเป้าไปเสียทั้งหมด และไม่มีประโยชน์อะไรเลย

การระงับออกอากาศ โดยอ้างเหตุผล ขอเลิกใบอนุญาต และการประกอบกิจการ เพื่อจะไม่ต้องจ่ายเงินค่าใบอนุญาตส่วนที่เหลือ สำหรับช่องไทยทีวี 1,328 ล้านบาท และช่องโลก้า อีก 648 ล้านบาท หลังจากที่จ่ายงวดแรกไปแล้ว 50% ของค่าใบอนุญาต มองหาเหตุผลอื่นใดไม่ได้เลย นอกจากการ “เบี้ยว” เพื่อตัดขาดทุน หลังจากที่ทำตามแผนธุรกิจแล้ว ไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย

ถือเป็นบทเรียนที่ส่งผลตามมาต่อวงการโทรทัศน์ดิจิตอล ถึงขั้นที่นายบัณฑูร ล่ำซำ แห่งธนาคารกสิกรไทย ต้องออกโรงมาแถลงข่าวฉุกเฉินว่าลูกค้าของธนาคารที่ทำธุรกิจดังกล่าว ไม่มีปัญหาด้านการเงินและใบอนุญาต เพราะต้องการสกัดกั้นข่าวลือที่จะแพร่กระจายไปก่อน เนื่องจากการได้ใบอนุญาตในการประมูลเมื่อ 2 ปีก่อน ต้องมีธนาคารเป็นผู้ให้การรับรองด้วยแบงก์ การันตี  ซึ่งคือการปล่อยเงินกู้รูปแบบหนึ่งเท่านั้น

ปัญหาของไทยทีวี ที่เริ่มปรากฏนับตั้งแต่วันครบกำหนดชำระค่าประมูลทีวีดิจิตอล งวดที่ 2 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2558 ซึ่งปรากฏว่ามีผู้ประกอบการทีวีมาชำระแล้วทั้งหมด 22 ช่อง จาก 24 ช่อง ขาดเพียงในส่วนของบริษัท ไทยทีวี จำกัด เจ้าของช่องไทยทีวี และโลก้า ที่ขาดการชำระเงินจำนวน 288.472 ล้านบาท โดยผู้ประกอบการที่ชำระเงินแล้ว ได้ทำจดหมายขอสงวนสิทธิ์ในการฟ้องร้องทางกฎหมายเพื่อให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ (กสท.) เยียวยาด้วย ซึ่งผลสรุปในช่วงต่อไป จะกลายเป็นมาตรฐานการบอกเลิกสัญญาระหว่างผู้รับใบอนุญาตและหน่วยงานรัฐ

ต่อมาก็มีรายงานข่าวว่า นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือ “เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล” ผู้บริหารสูงสุดของบริษัทดังกล่าว ได้ตัดสินใจที่จะไม่จ่ายค่าใบอนุญาตทีวีดิจิตอล โดยมีข้ออ้างว่า มีผลประกอบการขาดทุนร่วม 300 ล้านบาท โดยมีการเปิดเผยว่ามีความเป็นไปได้ที่เจ้าตัวจะเลิกการทำทีวีดิจิตอลและหันไปทำทีวีดาวเทียมเช่นเดิม

ข่าวสารดังกล่าว แม้จะมีความชัดเจนว่า แท้จริงแล้วธุรกิจนี้มีปัญหาเพียงแค่บริษัทเดียวเท่านั้น ไม่ได้เป็นไปตามกระแสข่าวลือก่อนหน้าว่า จะมีผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลหลายต่อหลายช่องยืนยันที่จะไม่จ่ายค่าสัมปทานในครั้งนี้

ก่อนหน้านี้ นางพันธุ์ทิพา ออกมายอมรับว่า เธอคาดการณ์ผิด ธุรกิจนี้ไม่ได้สวยหรูอย่างที่คาดไว้ เพราะขาดทุนไปแล้ว 300 ล้านบาท หลังจากที่ควักเงินลงทุนไปประมาณ 1 พันล้านบาท แบ่งเป็น ค่าใบอนุญาตประมูลคลื่นทีวีดิจิตอล 400 ล้านบาท ค่าลงทุนผลิตละคร 200 ล้านบาท ที่เหลือเป็นค่า content อื่นๆ และค่าบริหาร

การยกเลิกจ่ายค่าใบอนุญาตเอาดื้อๆ อย่างที่ไทยทีวีทำดังกล่าว เป็นพฤติกรรมที่ง่ายเกินไป คิดจะทำก็ประมูลสู้ คิดจะเลิกก็เบี้ยวกันง่ายๆ ทั้งที่น่าจะรู้ว่าผิดเงื่อนไขในการออกใบอนุญาตที่กำหนดเอาไว้ ซึ่งเรื่องนี้ ทาง กสทช.จะเร่งดำเนินการส่งหนังสือแจ้งเตือนไปยังไทยทีวี ให้มาชำระเงินดังกล่าว พร้อมทั้งต้องรับเบี้ยปรับในอัตรา 7.5% ต่อปี โดยที่หากครบ 1 ปี ยังไม่ดำเนินการชำระเงินค่าประมูลงวดที่ 2 กสทช.จะเสนอเรื่องให้ กสท. ดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

กสทช.ย้ำว่า กรณีที่ทางบริษัท ไทยทีวี จะขอคืนใบอนุญาตทีวีดิจิตอลเนื่องจากไม่ต้องการดำเนินการต่อแล้ว สามารถดำเนินการได้ แต่เงินค่าประมูลซึ่งถือเป็นภาระค่าสัมปทานนั้น ต้องชำระให้ครบเต็มจำนวนตามที่ได้มีการเสนอราคามา โดยมีข่าวว่าในเบื้องต้น กสทช.ได้ติดต่อนางพันธุ์ทิพา เพื่อขอทราบรายละเอียดกรณีที่ไม่นำเงินมาชำระค่าประมูล ซึ่งอีกฝ่ายได้แจ้งว่าไม่ขอตอบคำถามในเรื่องนี้

หลังจากนั้นก็ปล่อยให้ผู้บริหารคนอื่นๆ ออกมาแถลงข่าววานนี้เพื่อระงับการถ่ายทอดออกอากาศ

บทเรียนที่เกิดขึ้นกับไทยทีวี ไม่อาจถือได้ว่าเป็นปัญหาของธุรกิจทั้งระบบก็จริง แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งคำถามในธุรกิจนี้ ว่า เอาเข้าจริงแล้ว ใบอนุญาตที่ทุกคนประมูลสู้กันมานั้น ไม่ได้สามารถเป็น “ใบอนุญาตไปสวรรค์” เสมอไป

เมื่อเดือนธันวาคม 2556 การประมูลใบอนุญาตสัมปทานของโทรทัศน์ดิจิตอล  ซึ่งมีการแบ่งออกเป็นใบอนุญาตโครงข่าย (Mux) ในกิจการใช้คลื่นความถี่อายุ 15 ปี ให้ผู้ประกอบการ 4 ราย ประกอบด้วย บมจ.อสมท, ไทยพีบีเอส, กรมประชาสัมพันธ์ และกองทัพบก ช่อง 5 กับใบอนุญาตช่องรายการ 24 ช่อง อายุใบอนุญาต 15 ปี เช่นกัน ปรากฏว่ามีผู้สนใจเข้าแข่งขันเพื่อแย่งชิงใบอนุญาตกันล้นหลาม

หลังจากนั้นสังคมไทยก็ได้เห็นการแข่งขันที่เข้มข้นในแวดวงโทรทัศน์ยุคใหม่ ด้วยยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ที่แต่ละค่ายนำมาใช้ เพื่อแย่งชิงฐานผู้บริโภคให้มากที่สุด เพื่อขึ้นแท่นผู้นำอย่างยั่งยืน

แล้วความชัดเจนก็เริ่มเกิดขึ้น หลังจากการแย่งตัวพนักงาน การลงทุนใหม่ๆ พร้อมกับแสดงวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร รวมทั้งการกู้เงิน หรือระดมทุน เพื่อสร้างความช่ำชองในการผลิตสินค้าทางด้านสื่อ

ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ในการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน จะต้องมีความแข็งแกร่งทางด้านการบริหารจัดการ โดยผสมผสานความสามารถทางการตลาดและการเงินเข้าด้วยกัน เพราะโครงการลงทุนมีเดิมพันมหาศาล หากทำอะไรที่เกินตัวหรือสุ่มเสี่ยง อาจพลาดได้ง่าย

หากมองจากภาพรวมผลประกอบการโทรทัศน์ดิจิตอล จะพบว่า ในช่วง 1 ปีที่ดำเนินการมา เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์หลายสำนักเคยประเมินเอาไว้ว่า ในช่วง 1 ปีแรก จะยังไม่น่าสนใจ เพราะเป็นการดำเนินธุรกิจที่ต้องใช้เวลา และมีความสามารถในการทำกำไรยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระแสตอบรับของผู้บริโภค

บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นที่ทำโทรทัศน์ดิจิตอลพากันกำไรลดหรือขาดทุนกันให้เห็นเป็นระยะๆ ต้องหาทางใช้วิศวกรรมการเงินช่วยกันจ้าละหวั่น ทั้งเพิ่มทุน ออกตราสารหนี้ หรืออื่นๆ เพราะปัญหาหลักสำคัญคือ รายได้ยังไม่มากพอประทังรายจ่ายในช่วงลงทุนเปิดดำเนินการได้มากเพียงพอ กลายเป็น “ทุกขลาภ” และแพร่สะพัดเป็นข่าวลือที่รบกวนการดำเนินงานให้เห็น พร้อมกับการคาดเดาว่า ใครจะเป็นรายแรกที่ต้องล้มลงไป เดินหน้าต่อไม่ได้

ไทยทีวี เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของรูปธรรมที่เกิดขึ้น เมื่อใบอนุญาตสัมปทาน กลายเป็นใบอนุญาตไปนรกภูมิ

Back to top button