พาราสาวะถี
ปกติช่วงสงกรานต์อันถือเป็นเทศกาลสาดน้ำ สถานการณ์การเมืองมักจะหยุดนิ่ง เว้นวรรคและพักผ่อนไปกับคนส่วนใหญ่ด้วย แต่ปีนี้กลายเป็นว่าสงครามน้ำลายของนักการเมืองกลับเข้มข้นผิดปกติ หรือเป็นเพราะเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้พ่นน้ำลายจึงอาศัยจังหวะเทศกาลที่มีโอกาสได้พล่ามกันเป็นต่อยหอย แต่หากเป็นการพูดจาที่น่าฟังก็อีกเรื่อง พอเป็นการสาดโคลนกันไปมา ประชาชนที่เบื่อหน่ายท่วงทำนองแบบนี้ต่างส่ายหน้ากันเป็นแถว
อรชุน
ปกติช่วงสงกรานต์อันถือเป็นเทศกาลสาดน้ำ สถานการณ์การเมืองมักจะหยุดนิ่ง เว้นวรรคและพักผ่อนไปกับคนส่วนใหญ่ด้วย แต่ปีนี้กลายเป็นว่าสงครามน้ำลายของนักการเมืองกลับเข้มข้นผิดปกติ หรือเป็นเพราะเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้พ่นน้ำลายจึงอาศัยจังหวะเทศกาลที่มีโอกาสได้พล่ามกันเป็นต่อยหอย แต่หากเป็นการพูดจาที่น่าฟังก็อีกเรื่อง พอเป็นการสาดโคลนกันไปมา ประชาชนที่เบื่อหน่ายท่วงทำนองแบบนี้ต่างส่ายหน้ากันเป็นแถว
ปกติธรรมดาถ้าเป็นวิวาทะหรือการปะฉะดะกันทางการเมือง จะเป็นเรื่องของสองพรรคใหญ่เป็นด้านหลัก แต่วันนี้บ้านเมืองปกครองด้วยอีกฝ่ายที่เดิมทีเข้าใจว่าอยู่ข้างพรรคหนึ่งพรรคใด แต่พอจะขอเป็นใหญ่ด้วยพรรคที่ตั้งและสนับสนุนเอง มันจึงทำให้ต้องกลายเป็นอีกหนึ่งแนวรบของนักการเมืองใหญ่อย่างช่วยไม่ได้ เข้าตำรา 3 ก๊กการเมืองไทยในยุค 4.0 พอดิบพอดี
ประชาธิปัตย์ที่ ชวน หลีกภัย ไปปักหลักที่ตรังบ้านเกิด สรรเสริญเยินยอการบริหารงานของรัฐบาลคสช.ว่าไม่ลำเอียง ไม่เลือกปฏิบัติ สร้างโน่นทำนี่ให้พี่น้องปักษ์ใต้ผิดกับรัฐบาล ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่แบ่งพรรคแบ่งภาคชัดเจน ถือเป็นการเรียกแขกที่ย่อมถูกตอบโต้จากคนของพรรคนายใหญ่ทันควัน งานนี้ไม่มีอะไรให้ต้องคิดมาก หากไปด่าคสช.แล้วชมพรรคคู่แข่งนั่นสิจะเป็นเรื่องแปลก
อย่างที่รู้กันฐานเสียงอันแข็งแกร่งของพรรคเก่าแก่คือภาคใต้ โดยมีเป้าหมายรองและทำคะแนนได้เป็นกอบเป็นกำคือกทม. ในฐานะหัวขบวนหลักหรือถูกเรียกว่าเป็น “ขั้นเทพ” ในการเรียกคะแนนจากคนใต้ นายหัวชวนจะไปเล่นบทอื่นไม่ได้ นอกจากต้องด่าทักษิณยำยิ่งลักษณ์ให้เละเท่าไหร่ยิ่งดี ยิ่งมีข่าวและการยืนยันว่า สุเทพ เทือกสุบรรณ จะตั้งพรรคกปปส.มาแข่งแย่งคะแนน ยิ่งต้องเร่งทำคะแนนตุนกันไว้แต่เนิ่นๆ
ถ้าพรรคของเทพเทือกคือพรรคที่ใช่ของฝ่ายครองอำนาจอย่างคสช.ก็ยังพอวัดใจกันได้กับเรื่องของคะแนน แต่หากผู้มีอำนาจมีอีกพรรคมาลงแข่ง เท่ากับว่าต้องแบ่งคะแนนเป็น 3 ส่วนยังไม่นับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่ชอบใจทั้งประชาธิปัตย์และไม่ได้รักรัฐบาลเผด็จการ ผลงานเป็นที่ประจักษ์จากการเซย์โนรัฐธรรมนูญฉบับคสช.
ด้วยเหตุนี้ท่าทีของชวนจึงต้องเป็นอย่างที่เห็น แต่ที่กองเชียร์แปลกใจและพอจะเข้าใจได้คงเป็นเรื่องของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ออกมาตำหนิรัฐบาลเผด็จการอย่างรุนแรง ถึงขั้นบอกว่าผลงานเกือบ 4 ปีที่ผ่านมาล้มเหลว โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจที่ทุ่มงบประมาณไปหลักล้านล้านบาท แต่สัมผัสจับต้องอะไรไม่ได้
เหตุและปัจจัยที่ทำให้หัวหน้าพรรคเก่าแก่ต้องแบ่งบทกันเล่นกับประธานที่ปรึกษาพรรค เนื่องจากการตัดสินใจเลือกในการหย่อนบัตรครั้งหน้านั้น คนกรุงเทพฯและคนใต้น่าจะใช้วิธีคิดที่แตกต่างกัน สิ่งที่ชวนทำอยู่น่าจะเป็นคำตอบของพี่น้องภาคใต้ ไม่เอาทักษิณและยังเห็นนายหัวเป็นบุคคลขั้นเทพที่ยังคงให้ความไว้วางใจ แม้จะมีตัวเลือกอื่นมาทำให้อยากปันใจแต่ก็ตัดใจกันไม่ลง
ผิดกับพื้นที่เมืองหลวง แน่ๆ คือไม่เลือกพรรคของทักษิณ ถ้าเป็นเมื่อก่อนอาจจะไปหย่อนบัตรเทคะแนนให้พรรคประชาธิปัตย์ถล่มทลาย แต่วันนี้ไม่ใช่เพราะมีตัวเลือกอื่น อันหมายถึงทั้งพรรคของคสช.และพรรคของกปปส. ในฐานะมวลมหาประชาชนนี่สนับสนุนทั้งการชัตดาวน์และโบกมือเรียกคณะเผด็จการคสช.จึงต้องคิดกันใหม่
อีกปัจจัยที่สำคัญคือ ผู้กุมอำนาจบริหารงานกรุงเทพฯเวลานี้ไม่ใช่คนของพรรคประชาธิปัตย์เหมือนเมื่อคราวเลือกตั้งสองหนก่อนหน้าที่จะมีการรัฐประหาร นั่นหมายความว่าวิธีการอันแยบยลที่เคยใช้ได้ผลทั้งการเลือกตั้งส.ส.และเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. คราวนี้จะกลายเป็นอีกแบบ จากสถานการณ์ที่บังคับเช่นนี้ไม่มีหนทางอื่นสำหรับอภิสิทธิ์นอกเหนือจากการเดินหน้าชน
แม้จะดูสายไปในสายตาของคนรักประชาธิปไตยและช้าไปหรือไม่เห็นด้วยสำหรับกองเชียร์ประชาธิปัตย์ แต่มันไม่มีทางเลือกอื่น จากคนที่เคยเป็นมิตรวันนี้เปลี่ยนสภาพมาเป็นศัตรูมันจึงต้องสู้ทุกวิธี แต่ดูเหมือนว่าจากการที่ไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง มิหนำซ้ำ ยังต้องอาศัยอำนาจพิเศษมาดังตัวเองให้ได้ก้าวขึ้นเป็นนายกฯด้วยการไปตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ท่าทีของอภิสิทธิ์จึงถูกมองอย่างดูแคลนจากฝ่ายผู้มีอำนาจ
อย่างที่ สรรเสริญ แก้วกำเนิด คนที่มองตาก็รู้ใจ แม้เลือกที่จะไม่ตอบโต้แต่คำพูดที่ฝากไปถึงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ว่า “เข้ามาเป็นรัฐบาลให้ได้ก่อน” ถือเป็นการแทงใจดำ แต่ก็อีกนั่นแหละ การเมืองเป็นเรื่องไม่แน่นอน ไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร เมื่อเลือกตั้งยังไม่เกิดขึ้นและยังไม่เห็นการหงายไผ่ของฝ่ายต่างๆ จึงจะด่วนสรุปอะไรไม่ได้ ที่เห็นว่าทะเลาะหรือเหยียบตาปลากันบางทีอาจเป็นแค่ละครตบตาก็เป็นได้
กระนั้นก็ตาม จากสงครามน้ำลายที่เกิดขึ้น ประสานกรู้และคนที่อยู่กับการเมืองมาสารพัดรูปแบบ “เสี่ยตือ” สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา จึงต้องสะกิดเตือนนักการเมืองด้วยกันเอง ระวังไว้ให้ดี สิ่งที่สาดโคลนกันไปมาจะเข้าทางของคสช. กระทุ้งกันอย่างนี้ไม่ต้องมีอะไรให้ต้องเดา นอกเหนือจากความกังวลที่ว่า ถ้ายังมีความขัดแย้งก็ระวังโรดแมปจะไม่เป็นไปตามที่สัญญา
พอจะเข้าใจได้ หากยังไม่ลืมกันสิ่งหนึ่งที่ผู้มีอำนาจและคนที่เกี่ยวข้องต่างย้ำกันมาตลอด ทุกอย่างยังคงเป็นไปตามกรอบเวลาเดิม เว้นเสียแต่สถานการณ์จะเป็นอย่างอื่น แน่นอนว่า ความขัดแย้งหรือการโจมตีกันไปมาในลักษณะของการใช้ภาษาให้เกิดความเกลียดชังหรือเฮทสปีช ก็เป็นสิ่งที่ฝ่ายกุมอำนาจจับตามอง และพร้อมจะถูกหยิบยกมาเป็นเหตุผลในการที่จะต้องเลื่อนโรดแมปและนั่งอยู่ในตำแหน่งต่อไป
แต่ถ้าฟัง มีชัย ฤชุพันธุ์ บอกว่าหากอุกกาบาตไม่ตกใส่ประเทศไทย โรดแมปไม่มีทางเลื่อน ใครจะเชื่อก็เชื่อไป ก็ขนาดร่างกฎหมายเลือกตั้งส.ส.และลากตั้งส.ว.จากที่ทำท่าว่าจะไม่มีปัญหา ยังกลายเป็นเรื่องจนต้องถูกส่งตีความ ก็เพราะความไม่ชัดเจนจนถูกค่อนแคะว่าเป็นอาการหลงลืมของเนติบริกรชั้นครูหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ก็แสดงว่าเป็นความจงใจเพื่อให้เกิดผลอย่างหนึ่งอย่างใด เกมการเมืองภายใต้อำนาจเผด็จการยุค 4.0 เป็นเรื่องที่พลิกแพลงตลบตะแลงอยู่ตลอดเวลา