PTT กับจำนวน 28,563 ล้านหุ้น

วันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา ถือเป็นวันประวัติศาสตร์อีกครั้งของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)​ หรือ  PTT จากการที่ผู้ถือหุ้นบริษัทได้อนุมัติในการประชุมสามัญ ให้มีการแตกพาร์ 1 ต่อ 10 หุ้น จากราคาเดิมหุ้นละ 10 บาท เป็นหุ้นละ 1 บาท แม้ว่าจะมีการคาดหมายว่าจะแตกพาร์กันจริงๆ ยังไม่เกิดขึ้นทันที ต้องรอเวลาจนถึงช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่จะถึง


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

วันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา ถือเป็นวันประวัติศาสตร์อีกครั้งของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)​ หรือ  PTT จากการที่ผู้ถือหุ้นบริษัทได้อนุมัติในการประชุมสามัญ ให้มีการแตกพาร์ 1 ต่อ 10 หุ้น จากราคาเดิมหุ้นละ 10 บาท เป็นหุ้นละ 1 บาท แม้ว่าจะมีการคาดหมายว่าจะแตกพาร์กันจริงๆ ยังไม่เกิดขึ้นทันที ต้องรอเวลาจนถึงช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่จะถึง

ภายหลังจากการเปลี่ยนราคาพาร์ใหม่แล้ว PTT จะมีจำนวนหุ้นอยู่ที่ 28,562,996,250 หุ้น จากเดิมมีจำนวน 2,856,299,625 หุ้น และจะมีทุนจดทะเบียนจำนวน 28,562,996,250 บาท รวมถึงมีทุนที่ออกและชำระแล้ว จำนวน 28,562,996,250 บาท

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นใหม่ หลังจากเคยมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดมาแล้วเมื่อปี 2544 หรือกว่า 16 ปีเศษ ที่ทำให้ PTT เปลี่ยนฐานะจากรัฐวิสาหกิจปกติ กลายเป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ที่เรียกได้ว่าเป็นตำนานของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจครั้งใหญ่สุดของประเทศ

จากความพยายามแปรรูปรัฐวิสาหกิจอันแสนเข็ญและยาวนาน จากอดีตที่ก่อตั้งมาด้วยขีดจำกัดของทุนระยะแรกภายใต้กฎหมายการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย 2521 (เกิดจากการโอนกิจการซึ่งมีขนาดเล็กมาก 2 หน่วยงาน โดยมีทรัพย์สินและทุนแล้วมีมูลค่าขณะนั้น เพียงแค่ 400 ล้านบาท) เพื่อให้กลายสภาพเป็นบริษัทมหาชน ภายใต้กฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของบริษัทน้ำมันแห่งชาติของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่ดำเนินการในลักษณะคล้ายคลึงกัน ภายใต้โมเดลแบบอังกฤษในปี 2544

ก่อนหน้าปี 2544 การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ที่ไม่เคยมีทุนจดทะเบียน ได้ถูกจัดตั้งขึ้นเป็นบริษัท โดยมีทุนเริ่มต้น 20,000 ล้านบาท และมีหุ้นจำนวน 2,000 ล้านหุ้น ก่อนที่จะมีการเตรียมความพร้อมเพื่อขายหุ้นให้นักลงทุน 853 ล้านหุ้น (โดยยังคงมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจต่อไป)

หลังจากการแต่งตัวเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ การกระชับกิจการด้านพลังงานและปิโตรเคมีมาอยู่ใต้ร่มธงของ PTT เริ่มผลิดอกออกผลเต็มที่ในช่วงราคาน้ำมันตลาดโลกเป็นขาขึ้นยาวนานตั้งแต่ช่วงปี 2546-2558 ส่งผลให้รายได้และกำไรของบริษัทในเครือข่ายทำสถิติขาขึ้นใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นหนึ่งในเสาหลักของตลาดหลักทรัพย์ไทยโดยปริยาย

ช่วงหนึ่งที่โดดเด่นสุดคือช่วงที่ PTT มีมาร์เก็ตแคปติดอันดับ ต่ำกว่า 100 ของ Fortune Global 500 จนเกือบเทียบเคียงกับยักษ์ใหญ่ เปโตรนาส ของมาเลเซียได้เลย

เส้นทางอันสวยหรูถึงขั้นที่มีมาร์เก็ตแคปปัจจุบันใหญ่มากถึง 1.4 ล้านล้านบาท ของ PTT ทำให้นักลงทุนขนาดใหญ่และสถาบันทุกราย ไม่สามารถละเว้นการถือหุ้นนี้ในพอร์ตของการลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้เลย ผลลัพธ์ที่ตามมาคือราคาหุ้นที่สูงลิ่วจนรายย่อยเริ่มถอยห่างออกไป และยังมีผลให้สภาพคล่องหรือฟรีโฟลต ของหุ้นต่ำกว่าระดับ 15% ที่ต้องหาทางแก้ไข

แม้ว่าในช่วง 16 ปีเศษนี้ เส้นทางธุรกิจของ PTT จะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป แต่ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายเรื่องที่บั่นทอนการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ 3 เรื่องใหญ่ คือ 1) ปฏิบัติการรณรงค์ “ทวงคืน ปตท.” อันยืดเยื้อยาวนานหลายปีต่อเนื่องผ่านข้อกล่าวหาทั้งจริงและเท็จ (แต่เท็จมากกว่า) 2) ขนาดธุรกิจที่ใหญ่เกินจะทำเฉพาะภายในประเทศ ทำให้การดิ้นรนออกไปแสวงการลงทุนใหม่ในต่างประเทศหลายรายการของบริษัทในเครือข่าย เกิดมีข่าวลบปะปนเข้ามาส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ในระดับที่มีนัยสำคัญ แต่นั่นก็เป็นเพียงเส้นทางที่เลี่ยงได้ยาก

หากมองย้อนหลังกลับไป 16 ปีเศษของ PTT ในฐานะบริษัทจดทะเบียนมหาชน จะเห็นว่าภาษีธุรกิจที่จ่ายให้รัฐ รวมกับเงินปันผล โดยเฉลี่ยปีละนับแสนล้านบาทแล้ว บริษัทน้ำมันแห่งชาติ (โดยพฤตินัย) อย่าง PTT มีภาษีมากกว่าบริษัทปกติ

การแตกพาร์ในราคาใหม่ที่จะเริ่มในเดือนพฤษภาคมนี้  แม้จะมีจุดเด่นหลัก 2 ข้อชัดเจนคือ ทำให้หุ้น PTT ซื้อง่ายขายคล่องกว่าเดิมอีกหลายเท่าเพราะราคาไม่สูงจนปีนไม่ถึง และทำให้ปริมาณซื้อขายของตลาดหุ้นไทยโดยรวมเพิ่มทวีคูณมากขึ้น ยากที่ตลาดหุ้นในอาเซียนอื่นจะตามได้ทัน แต่ปริศนาว่า ทิศทางการเคลื่อนตัวของราคา PTT หลังเทรดพาร์ใหม่ จะสามารถนำเอาไปเทียบเคียงกับการแตกพาร์ของ AOT ที่เคยทำให้เห็นเป็นตัวอย่างมาแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา  หรือในอดีตหุ้นที่ตัวเล็กกว่าอย่าง TASCO หรือ BEAUTY เคยทำมาให้เห็นแล้วว่าเมื่อแตกพาร์แล้ว ยังสามารถเป็นขาขึ้นแรงกว่าเดิม ยังคงรอท้าทายอยู่ เนื่องจากอาจไม่มีสูตรสำเร็จเสมอไป

เหตุผลหลัก คือ โดยขนาดและปริมาณหุ้นที่จะเพิ่มมากกว่าเดิม 10 เท่า อาจจะไม่ได้ทำให้ราคาหุ้นของ PTT วิ่งแรงหรือซิ่งแบบติดจรวด แต่การที่หุ้นมีราคา “เข้าถึงได้” ทำให้กลุ่มนักลงทุนรายย่อยจำนวนมากสามารถซื้อขายหุ้นชั้นดีอย่าง PTT ในวงกว้างขึ้น ด้วยราคาที่ต่ำลง น่าจะเปิดทางให้กลุ่มใหม่ที่เป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยเป็นผู้ขับเคลื่อนราคาให้ PTT ได้ดีกว่า “ขาใหญ่”​ หรือกองทุน หรือต่างชาติ ในกลุ่มแคบๆ อีกต่อไป

PTT ในอนาคตจะเป็นหุ้น “ไข่ห่านทองคำ” หรือ “พิมพ์นิยม” แค่ไหน เป็นเรื่องควรรอคอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2562 ที่มีโครงสร้างเป็นบริษัทโฮลดิ้งเต็มตัว

Back to top button