3 เส้านโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ
คำเตือนเชิงลบที่มาก่อนกาล และไม่มีใครใส่ใจมากนักของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจระดับโลกที่เกิดขึ้นมา 7 ปี อย่างเชื่องช้าจะยังคงดำเนินต่อไปในอีก 2 ปีข้างหน้า แต่เมล็ดพันธุ์แห่งความเสื่อมทรุดจะปรากฏชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
คำเตือนเชิงลบที่มาก่อนกาล และไม่มีใครใส่ใจมากนักของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจระดับโลกที่เกิดขึ้นมา 7 ปี อย่างเชื่องช้าจะยังคงดำเนินต่อไปในอีก 2 ปีข้างหน้า แต่เมล็ดพันธุ์แห่งความเสื่อมทรุดจะปรากฏชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ
จนเริ่มสู่ระดับต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์
เหตุผลหลักของกองทุนการเงินระหว่างประเทศคือการหดตัวของการค้าโลก อันเนื่องจากสงครามการค้าที่มีคู่ปะทะสำคัญที่ปีกกล้าขาแข็งไม่ยิ่งหย่อนกันมากนัก คือ สหรัฐฯและจีน ซึ่งจะทำให้ชาติต่างๆ พากันสร้างมาตรการปกป้องตัวเองทางการค้า การลงทุน และการเคลื่อนย้ายทุนตามไปด้วย (ดูตารางประกอบ)
คำเตือนของกองทุนการเงินฯอาจจะไม่ถูกต้องเสียทั้งหมด แต่สมควรพึงสดับรับฟังเพื่อทบทวนปัจจัยเสี่ยงที่ถ่วงรั้งเศรษฐกิจโลกในอนาคตในภาพรวมจากผู้กำกับดูแลเสถียรภาพของตลาดการเงินโลกมายาวนานนับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง
คำถามที่หลายคนในตลาดทุนอยากรู้ล่วงหน้า (แม้จะยังไม่มีคำตอบชัดเจน) คือ
- สงครามการค้าจะบานปลายไปสู่สงครามการเงิน หรือจะถูกจำกัดวงเอาไว้จนสามารถ “หมูไป ไก่มา” ได้
- สงครามการค้าจะส่งผลต่อตลาดทุนของโลกที่มีปริมาณเงินท่วมล้นโลกในทางบวกหรือลบ
- สงครามการค้าจะส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ของโลกมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะผลกระทบต่อชาติกำลังพัฒนาทั้งหลายที่พึ่งพาสินค้าโภคภัณฑ์เป็นรายได้เข้าประเทศเป็นหลัก
คำตอบที่ชัดเจนในทางเศรษฐกิจยังไม่มี แต่ผู้รู้เรื่องราวทางด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองมีคำแนะนำที่น่าสนใจว่า ตัวแปรสำคัญจากนี้ไปยังคงต้องจับตากระบวนทัศน์ของผู้ที่มีบทบาทกำหนดนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯเป็นหลัก
ความสำคัญของนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯนั้นเกิดจากข้อเท็จจริงที่ว่า รัฐบาลกลางของสหรัฐฯซึ่งเป็นสมาพันธรัฐ ที่ถูกจำกัดอำนาจไว้ที่การกำหนด 3 นโยบาย คือ นโยบายทางทหารในระดับโลก นโยบายต่างประเทศ และนโยบายการเงินการคลัง ซึ่งว่าไปแล้วขมวดปมสำคัญที่นโยบายต่างประเทศ
นักศึกษาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ระบุว่า ตลอดยุคสมัยประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯกว่า 200 ปี พบว่านโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯแต่ละยุคสมัยไม่ได้หยุดนิ่งตายตัว แต่เป็นไปตามแรงเหวี่ยงของผลประโยชน์ของยุคสมัย โดยถือว่าเป็น “สามเส้าของนโยบายต่างประเทศ” ได้แก่ 1) โดดเดี่ยวตนเองจากความวุ่นวายในยุโรป (รู้จักดีในชื่อลัทธิมอนโร) 2) การร่วมเป็นพันธมิตรกับชาติยุโรป และ พันธมิตรทางทหารตามสถานการณ์ 3) การใช้มาตรการฝ่ายเดียวตามที่เห็นว่าเป็นผลประโยชน์ของสหรัฐฯเอง
หากพิจารณาตามเงื่อนไขเวลาของนโยบายแล้ว จะเห็นว่านับจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งแรกเป็นต้นมา สหรัฐฯใช้นโยบายต่างประเทศอย่างที่ 2 และ 3 สลับกันไปมา ด้วยเหตุผล คือ บทบาทของสหรัฐฯในเวทีโลกได้เพิ่มขึ้นมาในฐานะมหาอำนาจที่ต้องสร้างสันติภาพแบบอเมริกัน (Pax Americana) ขึ้นมา
ในช่วงสงครามเย็นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ท่าทีในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯยังคงเป็นไปอย่างที่กล่าวมา โดยละทิ้งลัทธิมอนโรเกือบจะสิ้นเชิง ยกเว้นในส่วนของเขตอิทธิพลในอเมริกาเหนือและใต้ที่ยังจะไม่ยอมให้มหาอำนาจอื่นใดเข้ามาย่างกรายเป็นอันขาด
นั่นหมายความว่า เสาหลักของนโยบายต่างประเทศอเมริกันยังคงเป็นสามเส้าต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง
ดังนั้นการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะผลิตชุดนโยบายต่างประเทศที่สร้างปฏิบัติการย้อนแย้งกันไปมา เช่น หาทางเจรจาคืนดีกับเกาหลีเหนือ กีดกั้นอิทธิพลทางทหารของรัสเซียในตะวันออกกลางโดยมีซีเรียเป็นสนามประลองสำคัญ หรือเปิดฉากทำสงครามการค้ากับจีน ซึ่งใช้ท่าทีสองเส้าของนโยบายร่วมมือพันธมิตร และการใช้มาตรการฝ่ายเดียว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ หรือเพี้ยน หรือแสดงอหังการแบบอเมริกันที่เกินเลย
เพียงแต่ผลลัพธ์ของการใช้นโยบายต่างประเทศ ไม่มีสูตรสำเร็จว่าจะสัมฤทธิผลมากน้อยแค่ไหน เพราะเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ยากจะกำหนดล่วงหน้าได้ทั้งหมด
ความเสื่อมถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯนับแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เป็นต้นมา จนพิมพ์ธนบัตรท่วมโลก ตามมาด้วยตัวเลขหนี้สาธารณะทำนิวไฮเรื่อยๆ และหนี้ต่างประเทศที่พอกพูนจนกระทั่งค่าดอลลาร์สูงเกินจริง และเริ่มเสื่อมถอยลงต่อเนื่อง ทำให้นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯในการรักษาผลประโยชน์ของตนเองมีขีดจำกัดมากกว่าปกติ
ขีดจำกัดดังกล่าวทำให้เมื่อเปรียบเทียบกับจีน จะเห็นได้ว่า จีนมีข้อจำกัดน้อยกว่าสหรัฐฯมาก และทำให้จีนมีความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ในการทำสงครามเศรษฐกิจมากกว่า
สำหรับ “สงครามยืดเยื้อ”
สามเส้าของนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯจากนี้ไป จึงค่อนข้างเปราะบางอย่างมาก เพราะแค่ประคองตัวให้รอดก็ยากพอสมควรแล้ว เรื่องจากเปิดเกมรุกเหมือนในอดีต น่าจะเป็นแค่ “รุกเพื่อถอย” มากกว่า