รัสเซีย : ใหญ่เกินกว่าจะถูกบล็อค
เมื่อปีที่แล้ว บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ภายใต้การนำของท่านประธานฯ ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และ เทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ นำคณะสื่อมวลชนอาวุโสเดินทางไปดูงานที่ประเทศเม็กซิโก
ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์
เมื่อปีที่แล้ว บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ภายใต้การนำของท่านประธานฯ ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และ เทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ นำคณะสื่อมวลชนอาวุโสเดินทางไปดูงานที่ประเทศเม็กซิโก
ได้รับบทเรียนที่มีคุณค่าอเนกอนันต์ แต่เป็นบทเรียนด้านกลับ ที่รัฐบาลเม็กซิโกดำเนินนโยบายพลังงานชาตินิยมที่ผิดพลาด
หลงทางไปตั้ง 80 ปี จากประเทศที่มีแหล่งสำรองปิโตรเลียมติดอันดับโลก ก็เลยต้องกลายเป็นประเทศยากจนในทวีปอเมริกาเหนือไป
เพราะเงินทุนก็ไม่มา เทคโนโลยีก็ไม่มี เลยทำให้นึกเปรียบเทียบไปยังเวเนซุเอลา ที่ NGO สาย “ทวงคืน ปตท.” ยกย่องเชิดชูโมเดลเวเนซุเอลานักหนา
แต่บัดนี้ต้องกลายเป็นบ้านเมืองกลียุคเพราะความยากจนไปแล้ว ทั้งที่ยังคงมีแหล่งสำรองน้ำมันระดับต้นๆของโลก และ NGO ก็หุบปากสนิทแต่นั้นมา ไม่พูดถึงโมเดล เวเนซุเอลากันอีกเลย
แล้วก็ไปหาเรื่องเล่นงาน ปตท.เรื่องอื่น และการเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ต่อไป
สำหรับปีนี้ การดูงานมาที่สหพันธรัฐรัสเซีย ประเทศที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก ใหญ่กว่าประเทศไทยสัก 25 เท่า และมีแหล่งปิโตรเลียมสำรองทั้งน้ำมันและก๊าซในระดับเลขตัวเดียวของโลก
น้ำมันเป็นอันดับ 8 ก๊าซธรรมชาติเป็นอันดับ 2 รองจากอิหร่าน และถ่านหินเป็นอันดับ 3 ของโลก
ผมว่าน่าจะเป็นผู้ผลิตปิโตรเลียมด้วยเทคโนโลยีระดับสูงได้สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลกด้วยซ้ำ
การดูงานคราวนี้เข้มข้นมากถึง 8 หน่วยงาน อาทิ บริษัทรอสเนฟท์ ซึ่งเข้าใจผิดมานานว่า “แก๊สพรอมเนฟท์” เป็น ปตท.หมายเลข 1 ของรัสเซีย
แต่ที่ไหนได้ “รอสเนฟท์” นี่แหละ ใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่มเลย ครบวงจรทั้งการผลิต จำหน่าย และการออกไปลงทุนต่างประเทศทั่วโลก
แก๊สพรอมฯ ก็ไป กระทรวงพลังงานรัสเซีย ไปพบกับ นายอนาโตลี ยานอฟสกี้ รัฐมนตรีช่วยฯผู้เฉลียวฉลาดปราดเปรียว
เขายังได้ฝากแง่คิดคำคมถึงสถานการณ์ปิดล้อมรัสเซีย (แซงค์ชั่น) โดยโลกตะวันตกว่า “การคว่ำบาตรไม่ใช่อุปสรรค เพราะรัสเซียรู้ตัวดีว่ากำลังทำอะไรอยู่ ไม่มีใครหยุดเราได้นอกจากตัวเอง”
ครับ สหรัฐฯและโลกตะวันตกก็ประกาศคว่ำบาตรรัสเซียมาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งแล้ว แต่รัสเซียก็รอดตัวมาได้ทุกที ของดีก็อยู่ที่การเป็นมหาอำนาจทางพลังงาน ที่ยุโรปทั้งทวีปต้องพึ่งพา และการมีตลาดส่งออกใหม่ทางเอเชียตะวันออกนี่แหละ
มหาวิทยาลัยน้ำมันและก๊าซ ซึ่งคุณเทวินทร์ตั้งใจจะเอาแบบอย่างที่ดีมาแลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยรวมทั้งโรงเรียนกำเนิดวิทย์ด้วย
มหาวิทยาลัยเหมืองแร่แห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก นี่ก็โอฬารตระการตามาก เปิดการเรียนการสอนมาตั้งแต่ ค.ศ. 1773 หรือ พ.ศ. 2316 สมัยกรุงธนบุรีโน่น ก่อนรัชสมัยรัตนโกสินทร์เสียอีก
คนรัสเซียสมัยนั้นก็มีมหาวิทยาลัยประสิทธิประศาสน์วิทยาการกันแล้ว
ปัจจุบันเปิดสอนอยู่ 7 คณะ ได้แก่ ธรณีวิทยา, น้ำมันและก๊าซ, เหมืองแร่, วิศวกรรมศาสตร์, วิศวะเครื่องกล, พลังงาน เคมี และโลหะวิทยา
ในตัวมหาวิทยาลัยเองก็ยังมีพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ที่สวยที่สุดในโลก
ศูนย์สร้างสรรค์สโคลโคโวที่มอสโคว์ นี่ก็เปรียบเสมือนซิลิคอน วัลเลย์ ของรัสเซียเลยทีเดียว ทุ่มทุนสร้างกันถึง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
มีมหาวิทยาลัยสโคลเทค ที่เน้นไปยังเทคโนโลยี 4 กลุ่ม ได้แก่ พลังงาน, ไอที, อุตสาหกรรม และไบโอเมดิคัล
นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางสตาร์ท-อัพ พร้อมทั้งบริษัทผู้ผลิตนวัตกรรม บริษัทอุตสาหกรรมที่จะนำเทคโนโลยีไปใช้ บริษัทร่วมลงทุนหรือเวนเจอร์ แคปปิตอล และมหาวิทยาลัยที่ผลิตมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตดังกล่าว
ตอนประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศสงครามสั่งสอนรัฐบาลซีเรียแถมพกด้วยการคว่ำบาตรรัสเซีย ผมก็ยังนึกอยู่ว่าก็คงจะเป็นแค่พิธีกรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น เดี๋ยวก็ผ่านเลยไปได้แบบชิลๆ
เพราะ 1.ยุโรปก็ยังต้องยืมจมูกรัสเซียหายใจในเรื่องพลังงาน 2.ยิ่งทำให้รัสเซียหันทิศทางนโยบายมาทางตะวันออก หรือ “ลุ๊ค อีสต์” มากขึ้นโดยเปิดเส้นทางพลังงานกับมหาอำนาจจีนและญี่ปุ่น ซึ่งนับวันก็ยิ่งเห็นความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
รัสเซียยิ่งใหญ่เกินกว่าที่ใครจะมาปิดล้อมได้ ก็ถูกแล้วที่บริษัทน้ำมันแห่งชาติอย่าง ปตท.จะริเริ่มบริบทใหม่แห่งความร่วมมือกับมหาอำนาจพลังงานที่ใครก็มิอาจปฏิเสธได้