พาราสาวะถี
ยังเป็นประเด็นให้พูดถึงอยู่ต่อเนื่องเรื่องการเดินทางมาพบ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และร่วมลงนามเอ็มโอยู 4 ฉบับกับหน่วยงานภาครัฐไทยของ แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารกลุ่มบริษัทอาลีบาบา ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซจากจีน ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ที่มองเห็นทั้งข้อดีและข้อเสีย รวมถึงข้อกังวลเรื่องการผูกขาดทางการค้า
อรชุน
ยังเป็นประเด็นให้พูดถึงอยู่ต่อเนื่องเรื่องการเดินทางมาพบ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และร่วมลงนามเอ็มโอยู 4 ฉบับกับหน่วยงานภาครัฐไทยของ แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารกลุ่มบริษัทอาลีบาบา ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซจากจีน ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ที่มองเห็นทั้งข้อดีและข้อเสีย รวมถึงข้อกังวลเรื่องการผูกขาดทางการค้า
ยืนยันเป็นมั่นเหมาะจากท่านผู้นำ รัฐบาลยึดหลักผลประโยชน์ร่วมกันและคำนึงถึงประเทศชาติเป็นสำคัญพร้อมกำชับให้ฝ่ายเศรษฐกิจพิจารณาเรื่องสิทธิประโยชน์ของนักลงทุนต่างชาติอย่างเหมาะสม โดยต้องไม่ให้กระทบต่อนักลงทุนไทย ควบคุมดูแลสินค้านำเข้าเพื่อปกป้องผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศ ขณะเดียวกันก็ให้โอกาสนักลงทุนรายอื่นเข้ามาแข่งขัน เพื่อสร้างความสมดุลในระบบเศรษฐกิจด้วย
คงตอบได้ในทำนองนี้ ขณะที่มุมมองของนักวิชาการ ยุทธพร อิสรชัย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เห็นว่า สุดท้ายจีนเข้ามาได้ประโยชน์กับชนชั้นนำทางการเมือง หรือชนชั้นนำทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ว่าไม่ได้ถ่ายทอดมาสู่ผู้คน จึงทำให้เชื่อว่า ไทยไม่ได้ประโยชน์จากข้อตกลงครั้งนี้เท่าที่ควร
ส่วน วิโรจน์ อาลี จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า ไทยได้รับประโยชน์จากการดีลในครั้งนี้ในแง่ของการลงทุนธุรกิจแบบใหม่ โดยเฉพาะประเภทอีคอมเมิร์ซ และสิ่งที่แจ็ค หม่าพยายามสื่อสารออกมาก็คือ การรับซื้อสินค้าจากไทย การส่งเสริมการท่องเที่ยวที่จะให้คนจีนเข้ามาเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น
โดยในรายละเอียดบางส่วนได้พูดถึงการส่งสินค้าเกษตรออกขายผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ ซึ่งมีความยากในส่วนการจัดการระบบ ที่จะเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มคนจำนวนน้อยมากของประเทศ จนทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยเสียประโยชน์ รัฐบาลมีหน้าที่ประสานและดำเนินการให้เกษตรกรรายย่อยทั่วไป สามารถส่งสินค้าขายผ่านระบบเองได้
เมื่อพิจารณาดูที่การรองรับการลงทุนในมาเลเซียที่มีระบบจัดการโดยมี Warehouse ขนาดใหญ่รองรับสินค้าจำนวนมาก มี Tax Free Zone ที่คอยส่งเสริมการไหลเข้าออกของสินค้า ซึ่งการเจรจาครั้งนี้ของแจ็ค หม่า กับไทยไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดส่วนนี้ มุมนี้ก็มองคล้ายๆ พิชัย นริพทะพันธุ์ จากค่ายเพื่อไทย แต่รายหลังโฟกัสไปยังเม็ดเงินการลงทุนที่แตกต่างกันหลายเท่าตัว
อย่างไรก็ตาม ความเห็นที่น่าสนใจเป็นรายของ อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์และรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ระบุว่าความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยให้บรรยากาศการลงทุนเป็นไปในทิศทางบวก ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่น ช่วยทำให้เศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะสินค้าของผู้ประกอบการไทยมีความสามารถในการเข้าถึงตลาดโลกได้ดีขึ้น เนื่องจากเป็นการลงทุนเกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซ
แต่ในขณะเดียวกันการลงทุนของอาลีบาบา อาจทำให้อีคอมเมิร์ซได้รับผลกระทบอยู่บ้าง โดยเฉพาะบริษัทที่แข่งขันไม่ได้และปรับตัวไม่ทัน เพราะช่องทางของอาลีบาบา แม้ว่าจะให้สินค้าไทยได้เสนอขายต่อผู้ซื้อทั่วโลกและจีน แต่อาลีบาบาก็จะนำเอาสินค้าจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจากจีนมาขายในแพลตฟอร์มด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันสินค้าไทยหากจะเข้าไปขายในจีนนั้นทำได้ยากกว่าสินค้าจีนที่จะเข้ามาขายในไทย ตามมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ดังนั้น รัฐบาลต้องพิจารณาความเหมาะสมต่างๆ ให้รอบด้าน โดยเฉพาะข้อดีข้อเสียและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ส่วนประเด็นที่หลายคนกังวลคือการผูกขาดสินค้าจากจีนนั้น ขึ้นอยู่กับสินค้าไทยแล้วว่า จะมีการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันได้หรือไม่
ถ้าปรับตัวได้ก็จะไม่เกิดการผูกขาดอย่างแน่นอน เพราะเชื่อว่ายังมีข้อได้เปรียบมากกว่าเสียเปรียบ เนื่องจากเฉพาะตลาดจีนเป็นตลาดใหญ่มีประชากรกว่า 1,300 ล้านคนมากกว่าประชากรไทยหลายเท่า ซึ่งหากมีการแข่งขันเสรี ก็จะสามารถรักษาสมดุลได้ ทำให้ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ กลาง เล็กอยู่ร่วมกันได้ แต่หากไม่มีการกำกับดูแลด้านการแข่งขัน จะทำให้รายใหญ่กลืนรายย่อยทั้งหมด
การร่วมมือกับจีนนั้นต้องยอมรับความจริงประการหนึ่งว่าไม่ใช่หมูในอวย กรณีรถไฟไทย-จีนเป็นตัวอย่างสำคัญ ผ่านมาเกือบ 4 ปีมีปัญหาอะไรบ้าง ตรงนี้รัฐบาลคสช.จะต้องตระหนักเป็นพิเศษ แต่หากไม่คิดอะไรมาก คิดแค่ว่าการได้ภาพบิ๊กตู่กอดกับแจ็ค หม่า แค่นี้ก็ถือว่าสร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์แล้ว นั่นก็อีกเรื่อง คงไม่ต้องไปคิดมากถึงผลกระทบหรือความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
สิ่งที่เห็นเป็นการตีปี๊บเพื่อหวังให้ประชาชนรับรู้รัฐบาลนี้ไม่ธรรมดา มีคอนเน็คชั่นกับนักธุรกิจชั้นนำของโลก แน่นอนว่าเป็นช่วงจังหวะเวลาเช่นนี้ ย่อมมองข้ามช็อตต่อไปถึงผลทางด้านการเมือง เมื่อตัวละครอีกรายที่ปรากฎประกบกับข่าวแจ็ค หม่าคือ “เฮียกวง”สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ที่ค่อนข้างชัดเจนว่าตั้งพรรคการเมืองนั่งเป็นคนเบื้องหลังคอยบงการเด็กในคาถาแน่นอน
ภาพจำของคนส่วนใหญ่ในแง่ของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้คือไร้ผลงาน ดังนั้น หากถือเอาการลงนามร่วมกับอาลีบาบา กรุ๊ปเป็นความสำเร็จ ก็จะถูกนำไปเป็นจุดขาย แต่คงต้องเงี่ยหูฟังหรือสืบข่าวของพรรคคู่แข่งสำคัญที่อ่านใจและเดาทางของเฮียกวงออกอย่างพรรคเพื่อไทยด้วย จะมีอะไรมาเกทับบลัฟกับรัฐบาลเผด็จการบ้าง
๑๑ถนนสายการเมืองนั้น ย้ำมาตลอดใช่ว่ามีอำนาจและเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้ว จะขีดเส้นให้คนต้องซ้ายหันขวาหันตามคำสั่งได้ ฟังคำตอบของ ไชยยศ สะสมทรัพย์ วันที่แกนนำพรรคเพื่อไทยยกพลไปตีกอล์ฟถึงนครปฐม อยู่กับใครพรรคไหนขอฟังเสียงประชาชนก่อน แม้จะดูเป็นคำตอบกว้างๆไม่ฟันธง แต่คำว่าประชาชนและเป็นคนในพื้นที่ด้วยแล้ว บางทีคำว่ามีอิทธิพลและอำนาจทางการเมือง ก็ไม่ใช่ปัจจัยชี้วัดเสมอไป