สายหยุดเสน่ห์หาย
การตีความว่าหุ้นกลุ่มธนาคารไทยหลังประกาศงบไตรมาสแรกยังมีเสน่ห์ควรซื้อเพื่อถือต่อหรือไม่ มีเงื่อนไขประกอบเชิงอคติเจือปนอย่างมาก
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
การตีความว่าหุ้นกลุ่มธนาคารไทยหลังประกาศงบไตรมาสแรกยังมีเสน่ห์ควรซื้อเพื่อถือต่อหรือไม่ มีเงื่อนไขประกอบเชิงอคติเจือปนอย่างมาก
ขาเชียร์ก็จะบอกว่าดีกว่าคาด หรือยังดีกว่าขาดทุน เพราะแค่ไตรมาสเดียวก็มีกำไรกว่า 5.2 หมื่นล้านบาท ขาทุบก็จะบอกว่าหุ้นธนาคารหมดเสน่ห์ลงชั่วคราวอย่างน้อยก็จนกระทั่งถึงช่วงเวลาสิ้นงวดไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เพราะกำไรอู้ฟู่ที่เคยมีมาหลายปีต่อเนื่อง เริ่มถดถอยลง แถมกำไรหลักก็ถดถอยต้องหากำไรรองหรือพิเศษมาเสริม
ข้อเท็จจริงก็คือว่าธนาคารไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จำนวน 11 แห่ง มีกำไรสุทธิรวมกันเพิ่มขึ้นกว่าระยะเดียวกันของปีก่อน แค่เพิ่มขึ้น 83 ล้านบาท หรือ 0.15% ไม่ใช่ตัวเลขที่สวยงาม เพราะสะท้อนตัวเลขที่ลักลั่นมากมาย
นักวิเคราะห์และสื่อ “พยายามโลกสวย” หลายคนมองว่า เดิมทีนั้นผลกำไรไตรมาสนี้ของธนาคารยักษ์ใหญ่หัวแถวจะติดลบจากกรณีการยกเลิกค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) ของบริการโมบายแบงกิ้ง รวมถึงตู้ ATM ตามธนาคารอื่น รวมถึงธนาคารอื่นด้วย แต่ก็ไม่เกิดขึ้น อาจจะต้องดูไตรมาสที่สองอีกครั้ง
ในขณะที่หุ้นกลุ่มธนาคารขนาดกลางและเล็กหลายแห่งยังคงมีขีดความสามารถทำกำไรเติบโตต่อเนื่อง เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากธุรกิจหลัก
ในขณะที่ธนาคารใหญ่อย่างไทยพาณิชย์ หรือกรุงไทย มีกำไรลดลง และส่งผลต่อค่าเฉลี่ยรวมของกลุ่มผิดปกติ โดยรายแรกมีกำไรสุทธิไตรมาสนี้ที่ 11,364 ล้านบาท ปรับตัวลดลงประมาณ 548 ล้านบาท หรือลดลงราว 4.6% จากผลพวงของการที่อัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นจำนวน 5,012 ล้านบาท หรือ 0.98% ส่วนรายหลังมีกำไรสุทธิไตรมาสนี้ที่ 6,786 ล้านบาท ลดลง 1,752 ล้านบาท หรือลดลง 20% จากผลของสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2560 ที่ 4.19% จากลูกค้า SMEs และลูกค้ารายย่อยบางส่วน
สำหรับธนาคารใหญ่อย่างธนาคารกรุงเทพที่หลายปีมานี้ซุ่มทำกำไรเงียบๆ ไม่โดดเด่น ปีนี้ก็ยังคงเป็นเช่นเดิม โดยมีกำไรสุทธิไตรมาสนี้ที่ 9,005 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 700 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 8.4% โดยมีสาเหตุหลักจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิและกำไรสุทธิจากเงินลงทุน รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จากค่าธรรมเนียมบริการกองทุนรวม และค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อ
คำอธิบายแบบเป็นกลางในรูปให้พิจารณาหุ้นธนาคารว่าควรซื้อหรือถือ ในฐานะรายตัว จะถือว่าสมเหตุสมผลซึ่งพึงรับฟังได้ เพราะอย่างที่ทราบกันดี การพิจารณาอนาคตของผลประกอบการหุ้นธนาคารนั้น ดูจากการเติบโตของรายได้และกำไรสุทธิไม่เพียงพอเสียแล้ว
หลายปีนี้ นักลงทุนได้รับข้อมูลที่ชัดเจนมากกว่าอดีตว่า เวลาที่พิจารณาจุดเด่นด้อยของหุ้นธนาคารร่วมสมัย จะอาศัยตัวแปรหลายด้านประกอบกัน ได้แก่
- ผลประกอบการในรูปรายได้และกำไรสุทธิ (โดยเฉพาะหากลงลึกก็จะต้องดูอัตรากำไรสุทธิประกอบด้วย)
- สุขภาพทางการเงินของลูกค้า อันได้แก่ผู้ประกอบการในภาคการผลิตและบริการทั้งหลาย ที่เชื่อมโยงเข้ากับตัวเลขกำลังซื้อของผู้บริโภค ที่ส่งผลเป็นห่วงโซ่ของลูกค้าธนาคาร
- แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ของธนาคารในการรับมือกับปัญหาของลูกค้าที่มีปัญหาทางการเงินในแต่ละช่วงเวลา
- ราคาหุ้นของธนาคารในปัจจุบัน เทียบกับพื้นฐานของหุ้นกลุ่มอื่นในตลาด หรืออุตสาหกรรมเดียวกันทั่วโลก
ภายในช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ประเด็นสำคัญของหุ้นธนาคารพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPLs ได้รับการพูดถึงมากจากนักวิเคราะห์ เพราะในปัจจุบัน กฎที่เข้มงวดของบาเซล 3 ในการบริหารหนี้หรือบริหารความเสี่ยง ทำให้ธนาคารถูกบังคับต้องตั้งสำรองในกรณีมีหนี้สงสัยจะสูญ (หรือพูดให้ไพเราะคือ สินเชื่อจัดชั้น หรือสินเชื่อด้อยคุณภาพ) ว่าด้วยอัตราส่วนสำรองต่อหนี้สงสัยจะสูญ หรือ coverage ratio per NPL ซึ่งกำหนดไว้เบื้องต้นว่ายิ่งมากยิ่งดี คือควรจะมากกว่า 150% หากต่ำกว่านี้ จะรบกวนความสามารถทำกำไรไปอีกหลายไตรมาสข้างหน้า
การตั้งสำรองส่วนนี้ ถือว่ามีส่วนสำคัญในการรบกวนความสามารถทำกำไรของธนาคารค่อนข้างมาก ทำให้ธุรกิจธนาคารมีอัตรากำไรสุทธิต่ำมาโดยตลอดเมื่อเทียบกับธุรกิจการเงินอื่นที่ไม่ใช่ธนาคาร
หลายไตรมาสที่ผ่านมา ตัวเลข NPL ของธนาคารพาณิชย์ไทยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างผิดสังเกต จนทำให้เริ่มมีคำถามย้อนกลับมาว่า ยุคสมัยของการถดถอยของความสามารถทำกำไรธนาคารพาณิชย์ กำลังหวนย้อนมา (หลังจากที่ฟื้นกลับแข็งแกร่งปลอดจากการขาดทุนเมื่อปี 2554 เป็นต้นมาเป็นเวลานานเกินกว่า 5 ปี)
ปีนี้ สถานการณ์ของหุ้นธนาคาร เปลี่ยนไป จากเดิมที่ธนาคารขนาดกลางและเล็กส่วนใหญ่มีผลประกอบการน่าผิดหวัง เมื่อเทียบกับธนาคารใหญ่ แต่สถานการณ์ได้พลิกผัน เพราะกลายเป็นเสาหลักที่ค้ำยันไม่ให้กำไรโดยรวมเลวร้ายตามหุ้นธนาคารใหญ่ สะท้อนว่าบรรดาลูกค้าขนาดใหญ่หลายรายของธนาคาร เริ่มมีปัญหาได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและการส่งออกที่ชะลอตัว ส่งผลต่อปัญหาของธนาคารใหญ่ ในการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น รบกวนการทำกำไรของธนาคารอย่างมีนัยสำคัญ
ปัจจุบัน สัดส่วนการเงินที่ช่วยให้นักลงทุนเกิดมุมมองหุ้นธนาคารพาณิชย์ชัดเจนยิ่งขึ้น มีหลากหลาย สามารถตีความเองได้ว่า ตัวเลขผลประกอบการที่สวยงามมาโปะไว้ข้างหน้ารายงานประกอบงบการเงิน เพื่อหลบซ่อนตัวเลขด้านลบ เป็นแค่การเล่นซ่อนหาที่ล้มเหลวธรรมดาของผู้บริหารธนาคารที่บ้องตื้นเท่านั้น ที่หลอกพวก “พยายามโลกสวย” แบบดั้นเมฆเป็นสูตรสำเร็จ
หุ้นธนาคารที่จะมีเสน่ห์แท้จริงต้องอยู่ที่เงื่อนไขสำคัญคือดอกเบี้ยตลาดเป็นขาขึ้นเท่านั้น หากเป็นเพราะปัจจัยอื่น ล้วนแต่ “ของปลอม” ทั้งสิ้น หลอกได้แต่พวกงมงายในโลกแคบๆ เท่านั้น
เหตุผลเพราะยุคสมัยของตัวเลขการเติบโตของกำไรหุ้นธนาคารที่โดดเด่นมากกว่าธุรกิจในภาคการผลิตที่แท้จริง ผ่านไปแล้ว เหมือนดอกสายหยุดยามเที่ยงนั่นเอง