พาราสาวะถี
หากจะมองหาผลสำเร็จเรื่องการปฏิรูปด้านการเมือง อาจกล่าวได้ว่า ปฏิบัติการณ์ “ดูด” ถือได้ว่าเป็นพัฒนาการด้านการเมืองในรูปแบบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ซึ่งท่านผู้นำพร่ำบอกมาโดยตลอด การตั้งนักการเมืองที่ถูกด่ามาตลอดเกือบ 4 ปีว่าชั่วว่าเลว ถือเป็นปรากฏการณ์เปลี่ยนแปลงมิติทางการเมืองที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
อรชุน
หากจะมองหาผลสำเร็จเรื่องการปฏิรูปด้านการเมือง อาจกล่าวได้ว่า ปฏิบัติการณ์ “ดูด” ถือได้ว่าเป็นพัฒนาการด้านการเมืองในรูปแบบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ซึ่งท่านผู้นำพร่ำบอกมาโดยตลอด การตั้งนักการเมืองที่ถูกด่ามาตลอดเกือบ 4 ปีว่าชั่วว่าเลว ถือเป็นปรากฏการณ์เปลี่ยนแปลงมิติทางการเมืองที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
เรื่องการใช้อำนาจทางการเมืองที่มีอยู่ตั้งนักการเมืองมาเป็นที่ปรึกษา เพื่อจูงใจให้มาร่วมงานกับพรรคการเมืองที่ตัวเองจะตั้งขึ้นในอนาคต หรือล่อใจให้พรรคการเมืองของนักการเมืองคนที่ได้รับการแต่งตั้งซึ่งมีสถานะเป็นหัวหน้าพรรคหันมาสนับสนุนผู้มีพระคุณ ถือเป็นเกมการเมืองแบบใหม่ ที่ผ่านการปฏิรูปมาแล้วอย่างน่ายกย่อง
อย่าได้โกรธหรือไปโต้ตอบ หากจะมีเสียงทักท้วงมาจากนักการเมืองชั่วนักการเมืองเลว ต่อการปฏิรูปทางการเมืองอันล้ำลึกของผู้มีอำนาจที่ว่าด้วยปฏิบัติการณ์ดูด แต่หากข้อท้วงติงของนักการเมืองเหล่านั้นไม่น่าฟัง ก็ลองฟังคนกันเองที่น่าจะเป็นนักการเมืองคนดีในสายตาของท่านผู้นำอย่าง “เสี่ยจ้อน” อลงกรณ์ พลบุตร ที่มีตำแหน่งรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศหรือสปท.เป็นเครื่องการันตี
แต่มุมของอลงกรณ์รอบนี้ไม่รู้ว่าจะถูกใจผู้นำคณะที่จะมาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศครั้งใหญ่หรือไม่ เพราะเสี่ยจ้อนห่วงใยต่อท่าทีของรัฐบาล เกี่ยวกับการจับขั้วทางการเมือง แม้ในอดีตจะมีฝ่ายการเมืองที่สามารถทำได้ และได้เข้ามาบริหารประเทศ แต่ได้สร้างระบบอุปถัมภ์ทางการเมือง และการผูกขาด ทำให้การพัฒนาระบบประชาธิปไตย เศรษฐกิจ และสังคมล้มเหลว
แน่นอนว่าเป็นความล้มเหลวที่ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะการเมืองทั้งระบบเท่านั้น แม้กระทั่งพรรคที่อลงกรณ์สังกัดมาอย่างยาวนานอย่างประชาธิปัตย์ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูป จนเสี่ยจ้อนต้องไขก๊อกถอยตัวเองออกมาจากพรรคเก่าแก่ และพยายามแสวงหาหนทางเพื่อการปฏิรูปการเมืองที่ทำให้คนรู้สึกได้ว่าเกิดความเปลี่ยนแปลง
จนกระทั่งมาเจอกับคสช.และก่อนจะหมดวาระอลงกรณ์ก็ยังชูแขนสองข้างเชื่อมั่นว่า แนวทางที่วางกันไว้นั้นจะนำไปสู่การปฏิรูปที่ดีได้ แต่พอมาเห็นการดูดอย่างเอาเป็นเอาตาย จึงเกิดเป็นเสียงทักท้วงดังกล่าว พร้อมข้อเสนอว่า ให้เร่งปฏิรูปเชิงโครงสร้าง เพื่อสร้างระบบการเมืองใหม่สนับสนุนให้นักการเมืองและพรรคการเมืองมีคุณภาพและคุณธรรม พร้อมย้ำว่าความสำเร็จของประเทศชาติควรเป็นเป้าหมายหลัก ไม่ใช่ความสำเร็จของผู้นำทางการเมืองเพียงบางคนหรือบางพรรค
วรรคทองส่งท้าย น่าจะเป็นการสะกิดเตือนใครบางคนบางพวก ที่พยายามโชว์พลังแสดงศักยภาพให้ผู้มีอำนาจเห็นอยู่เวลานี้ว่า สามารถสร้างพรรคการเมืองเพื่อตอบโจทย์การสืบทอดอำนาจได้ และสามารถใช้บารมีดึงบรรดานักการเมืองเสือหิวทั้งหลายมาเข้าพรรคใต้สังกัดได้เช่นกัน ซึ่งนั่นถือเป็นความสำเร็จแล้ว แม้จะถูกมองว่าเป็นวิธีการอันน่ารังเกียจและไม่ควรจะเกิดขึ้นในยุคของการปฏิรูป
ด้วยเหตุนี้ นพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย จึงต้องสะกิดเตือนอีกแรง การพยายามดูดนักการเมืองจากพรรคต่างๆ เหมือนการตกปลาในบ่อเพื่อน มองว่าเป็นการทำงานการเมืองแบบเก่าทั้งที่เราปฏิรูปการเมืองแล้ว ต้องทำการเมืองแบบใหม่ ถ้าพรรคการเมืองใดมั่นใจในอุดมการณ์และนโยบายของตัวเองก็ไปคัดสรรบุคลากรในพื้นที่แล้วมาลงสมัครในนามของพรรคนั้น เพื่อไปเสนอนโยบายของพรรคการเมืองนั้น แข่งกันในสนามเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เห็นในมุมดีว่าเป็นการสร้างความชัดเจนให้ประชาชนว่านักการเมืองคนใดเห็นด้วยกับแนวทางการสืบทอดอำนาจหรือเห็นด้วยกับแนวทางประชาธิปไตย ฉะนั้นประชาชนก็จะเลือกและตัดสินใจได้ง่าย ทำให้มองการเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีเพียงซีกการเมืองสองกลุ่มคือกลุ่มที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจกับกลุ่มที่ต้องการเสนอหัวหน้าพรรคตัวเองและนโยบายของพรรคให้ประชาชนตัดสิน
แต่นพดลคงลืมไปว่า หากมีเพียงแค่นั้นคงไม่มีปัญหาอะไร แต่มันจะมีมากกว่านั้นคือ พรรคการเมืองอีแอบ ที่ปากก็บอกว่าเสนอนโยบายและให้ลูกพรรคเลือกหัวหน้าของตัวเองเท่านั้นเป็นนายกฯ แต่พอถึงเวลา เมื่อรู้อยู่แล้วว่าปลายทางจะจบลงอย่างไร ก็จะหาหนทางในการที่จะใช้เสียงของตัวเองที่มีอยู่ไปสนับสนุนคนสืบทอดอำนาจ โดยอ้างเรื่องความจำเป็นของประเทศชาติ
พรรคการเมืองประเภทนี้ต่างหากที่น่ากลัวกว่าพวกที่ประกาศตัวชัดเจนตั้งแต่ต้น แต่จะว่าไปแล้วพรรคดังกล่าวก็คงไม่อินังขังขอบใดๆ เพราะเข้าใจดีว่าฐานเสียงหรือคนที่เลือกตัวเองเข้าไปนั้น ส่วนหนึ่งหรืออาจจะส่วนใหญ่เสียด้วยซ้ำไป ก็น่าจะสนับสนุนต่อการตัดสินใจร่วมขบวนของคณะผู้สืบทอดอำนาจด้วย เพราะถือเป็นผู้มีส่วนสำคัญต่อการล้มรัฐบาลเลือกตั้งแล้วอ้าแขนรับรัฐบาลเผด็จการ
การเมืองว่าด้วยการเลือกตั้งและการตัดสินใจของนักการเมืองสารพัดประเภทยังมีเวลาให้รอดูชั้นเชิงของพวกมนุษย์พันธุ์พิเศษเหล่านั้น แต่ที่ไม่น่าจะรอเวลาหรือยื้อเวลาได้คือเรื่องบ้านพักเจ้าหน้าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่เชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ฟังสุ้มเสียงของอดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 รายหนึ่งที่บอกให้ศาลได้ใช้บ้านพักดังกล่าวซัก 10 ปีแล้วจะทำให้เห็นว่าจะมีการฟื้นฟูสภาพป่าได้อย่างไร
แหม! นี่ก็ไม่รู้จะเรียกได้ว่าเป็นพวกพันธุ์พิเศษเหมือนนักการเมืองหรือเปล่า การยืนยันเรื่องความถูกต้องของข้อกฎหมายนั้นคงไม่มีใครรู้ดีกว่าพวกท่านอยู่แล้ว แต่แง่ของความเหมาะสมกับสภาพที่พื้นที่บ้านพักที่ถูกเรียกว่า “หมู่บ้านป่าแหว่ง” นั้น ไม่ว่าจะฟื้นฟูอย่างไรมันก็คงไม่ตอบโจทย์ที่ว่าจะคืนสภาพผืนป่าที่สมบูรณ์ซึ่งถูกทำลายไปแล้วได้อย่างไร งานนี้คงหนีไม่พ้นต้องใช้ม.44เข้ามาจัดการ ถือเป็นการวัดใจท่านผู้นำที่ไม่ค่อยชอบการก่อม็อบกดดันเท่าไหร่