KTB + TMB

บอร์ดของทั้งธนาคารกรุงไทย และทีเอ็มบี ต่างยืนยันว่ายังไม่มีการหารือ หรือวางแผนที่จะควบรวมกิจการกัน หรือจะต้องไปควบรวมกับธนาคารอื่นๆ


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

บอร์ดของทั้งธนาคารกรุงไทย และทีเอ็มบี ต่างยืนยันว่ายังไม่มีการหารือ หรือวางแผนที่จะควบรวมกิจการกัน หรือจะต้องไปควบรวมกับธนาคารอื่นๆ

ฝั่งของกรุงไทย ดูเหมือนจะตอบแบบบอกปัดเรื่องนี้ไปเลย

ไม่มีก็คือ “ไม่มี”

ส่วนทางด้านแบงก์ทีเอ็มบี “รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์” ในฐานะประธานบอร์ด ยังตอบแบบแทงกั๊กไว้เล็กน้อยว่า ต้องรอกฎหมายผ่านแบบสะเด็ดน้ำเสียก่อน แล้วบอร์ดจะค่อยมาหารือกันอีกครั้ง

กรณีของกรุงไทย และทีเอ็มบี ถูกนำไปวิเคราะห์กันอย่างมาก

ในส่วนของนักวิเคราะห์เขามองกันว่า “มีความเป็นไปได้”

เพราะทั้งกรุงไทย และทีเอ็มบี มีผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็นของรัฐทั้งคู่ คือทีเอ็มบี มีกระทรวงการคลังถือหุ้น 25.92%

ส่วนกรุงไทยมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ถือหุ้น 55.07%

ยังไม่รวมหุ้น เช่น กองทุนวายุภักษ์ และธนาคารออมสิน ที่มีสัดส่วนรวมกันราวๆ 5-6%

กรุงไทย มีขนาดสินทรัพย์  2.85 ล้านล้านบาท

ขณะที่แบงก์ทหารไทยมีขนาดสินทรัพย์ 8.43 แสนล้านบาท เมื่อควบรวมกิจการกันก็จะทำให้มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่สุดในระบบที่ 3.7 ล้านล้านบาท

ในด้านเงินกองทุนต่างๆ ได้ถูกดีดลูกคิดออกมาว่าจะเข้มแข็งขึ้น

และเมื่อควบรวมกันแล้ว น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้มากขึ้น ปล่อยสินเชื่อขนาดใหญ่ได้มากขึ้น และที่สำคัญ คือ การต่อยอดธุรกรรมไปยังต่างประเทศ

แต่เมื่อมาถามคนในวงการธนาคาร ต่างไม่ค่อยอยากจะให้ความเห็นกรณีมากนัก

มีบางคนแม้จะบอกเป็นเชิงยอมรับว่า “ขนาด” ถือเป็นเรื่องสำคัญของธนาคาร

ทว่า การที่ธนาคารพาณิชย์จะเกิดการควบกิจการกันนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ผู้ถือหุ้นจะเป็นกลุ่มเดียวกัน เพราะยังมีรายละเอียดอื่นๆ อีกมาก

แม้ความเห็นจะแตกต่างกันไป

และบอร์ดของทั้งสองธนาคารจะออกมาปฏิเสธ

แต่ก็ต่างทราบกันดีว่า หากธนาคารสองแห่งนี้จะควบรวมกันได้ ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของกระทรวงการคลัง

และที่สำคัญคือบุคคลที่เป็น “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง” นั่นแหละ

ร่างประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ…. หรือมาตรการเพื่อสนับสนุนการควบรวมธนาคารพาณิชย์ไทย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และผ่าน ครม.ไปแล้ว

“อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” ขุนคลังคนปัจจุบัน ต้องการเพิ่มแรงจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ของไทยควบรวมกิจการให้เป็นธนาคารขนาดใหญ่ สำหรับแข่งขันกับธนาคารจากต่างประเทศได้

“เป็นแนวคิดเพื่อให้ธนาคารของไทยควบรวมกิจการกันเพื่อขยายฐานให้ใหญ่ และออกไปแข่งขันกับธนาคารต่างชาติในภูมิภาคได้ รวมถึงรองรับการเติบโตของธุรกิจไทย อื่นๆ ที่วันนี้โตเร็วกว่าธนาคาร และรองรับต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” นายอภิศักดิ์ กล่าวไว้ครับ

การตอบปฏิเสธเรื่องควบกิจการไม่ได้มีเฉพาะกรุงไทยกับทีเอ็มบี

เพราะธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ เช่น BBL, SCB และ KBANK ต่างบอกว่าไม่มีนโยบายจะไปควบรวมกิจการกับใคร

เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็ก อย่าง KKP ที่ล่าสุด บอกว่า ไม่สนที่จะไปควบรวม เพราะเชื่อมั่นในฐานเงินทุน และเงินกองทุนของธนาคารมีความเข้มแข็ง และแผนงานต่างๆ ยังคงเดินหน้าต่อไป

ส่วน BAY ที่มีกลุ่มทุนญี่ปุ่น “มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเซียล” หรือ MUFG ถือหุ้นใหญ่ก็ได้ออกมาบอกว่าไม่มีนโยบาย

และธนาคารพาณิชย์ขนาดกลาง และเล็กแห่งอื่นๆ ต่างพยายามสร้างจุดเด่นเรื่องเป็นธนาคารที่มีความสามารถเฉพาะด้าน

เช่น TISCO, CIMBT, LHBANK และกลุ่มธนชาต

และก็ไม่น่าจะมองไปถึงการควบรวมกิจการกับใคร

โดยสรุปผ่านมาถึงตอนนี้

ผู้บริหารของทุกธนาคารต่างออกมาบอกเหมือนกันว่า ยังไม่มีแผนไปควบรวมกับใคร

และในอนาคตก็ยังไม่มี

แต่ลึกๆ แล้ว นักวิเคราะห์ต่างๆ แม้จะมองว่าการควบรวมกิจการของแบงก์ ยังเป็นเรื่องห่างไกล

ทว่า เบื้องหลังของการออกกฎหมายสนับสนุนให้ธนาคารควบกิจการกัน น่าจะผ่านการศึกษามาอย่างดีแล้ว และมีโอกาสที่จะเกิดการควบรวมกันแน่ๆ

วันนี้แม้ทุกคนจะปฏิเสธ

แต่ในอนาคตก็ไม่มีอะไรแน่นอน

Back to top button