2 เกาหลีกับการทูตพายุหมุน
ประวัติศาสตร์หน้าใหม่จากการพบปะกันของนายคิม จอง อึน แห่งเกาหลีเหนือ และนายมุน แจ อิน แห่งเกาหลีใต้ ณ หมู่บ้านปันมุนีจอม พรมแดน 2 เกาหลีที่เส้นขนานที่ 39 ถือเป็นการปลดชนวนสุดท้ายของสงครามเย็นที่ดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 และเกิดความคาดหมายเชิงบวกจำพวก "โลกสวย" ว่าน่าจะนำสันติสุขมาสู่คาบสมุทรเกาหลีได้อย่างยั่งยืน
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
ประวัติศาสตร์หน้าใหม่จากการพบปะกันของนายคิม จอง อึน แห่งเกาหลีเหนือ และนายมุน แจ อิน แห่งเกาหลีใต้ ณ หมู่บ้านปันมุนีจอม พรมแดน 2 เกาหลีที่เส้นขนานที่ 39 ถือเป็นการปลดชนวนสุดท้ายของสงครามเย็นที่ดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 และเกิดความคาดหมายเชิงบวกจำพวก “โลกสวย” ว่าน่าจะนำสันติสุขมาสู่คาบสมุทรเกาหลีได้อย่างยั่งยืน
ฉากการพบปะของสองผู้นำเกาหลีที่ราบรื่นจนเกินจริง ถือเป็นการโหมโรงให้กับฉาก “โลกสวยกว่า” ต่อไปภายใน 3-4 สัปดาห์ข้างหน้า เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ และคิม จอง อึน ที่จะนัดพบปะกันแบบ “ประวัติศาสตร์หน้าใหม่กว่า” อีกครั้ง
ฉากสวยหรูทางการทูตดังกล่าว นับเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่คุ้นเคย และมีมุมมองเชิงบวก แต่สำหรับนักการทูตที่ “เท้าติดดิน” ส่วนใหญ่เชื่อว่า จุดจบของสันติภาพยั่งยืนเหนือคาบสมุทรเกาหลี และการรวมเป็นหนึ่งของเกาหลียังอีกยาวไกลยิ่งกว่าแสงสว่างปลายอุโมงค์หลายเท่านัก
ที่ผ่านมา การที่เกาหลีเหนือเล่นบทบาทผู้ร้ายมาโดยตลอดได้ เพราะอาศัยช่องโหว่จากการที่ชาติสมาชิก UNSC โดยเฉพาะสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น (รวมทั้งเกาหลีใต้ที่รับผลกระทบโดยตรงเต็มที่) ต่างพากันหวาดกลัวว่า การตอบโต้บทบาทผู้ร้าย ด้วยการบังคับใช้มาตรการของ UNSC อาจนำไปสู่ “สถานการณ์ที่เกินเลย” และ ยากจะควบคุมได้โดยเฉพาะดุลอำนาจในคาบสมุทรเกาหลี และเอเชียตะวันออก
โจทย์จากสมมติฐานเดิมที่ยากจะพบคำตอบ คือ หากรัฐบาลหรือประเทศเกาหลีเหนือล้มลงไปอย่างสิ้นเชิง อะไรจะเกิดขึ้นต่อเสถียรภาพที่จะสั่นคลอนอย่างยิ่งทั้งภายใน และระหว่างจีน-เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น เพราะมีคำถามตามมาว่า ชาติอื่นในภูมิภาค จะมีทางเลือกว่าด้วย “เกราะกำบังนิวเคลียร์” ของสหรัฐฯ ของจีน หรือของแต่ละประเทศกันดี
ความไม่ลงตัวในคำตอบ ทำให้มาตรการของ UNSC ที่ออกมาถูกบังคับใช้หย่อนยาน เนื่องจากสาเหตุที่ทุกชาติรู้ดี ในขณะที่สหรัฐฯเองก็ปฏิเสธที่จะเดินหน้าเปิดเกมรุกทางการเมืองระหว่างประเทศ ด้วยการเปิดเจรจาโดยตรงกับเกาหลีเหนืออย่างซึ่งหน้า โดยไม่ผ่าน “พหุภาคี UNSC” (ซึ่งทำงานล้มเหลวมาโดยตลอดกว่า 60 ปี)
วันนี้ เมื่อเกาหลีเหนือ และสหรัฐฯกำลังจะพลิกเล่นบทบาทอันไม่คุ้นเคย ชาติที่เกี่ยวข้องก็คงต้องเริ่มทำความคุ้นเคยกันใหม่ แต่ก็คงทำตัวไม่ถูกกันพอสมควร โดยเฉพาะญี่ปุ่น
สำหรับนักการทูตและนักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คาดหมายกันว่าจากนี้ไป การทูตแบบพายุหมุน หรือ whirlwind diplomacy น่าจะเป็นสถานการณ์ที่โลกจำต้องทำความคุ้นเคยมากกว่าปกติ
เหตุผลเพราะในทางด้านการทหาร เอกภาพหรือสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลี คือความเปราะบางของความมั่นคงของญี่ปุ่นโดยตรง เพราะในด้านฮวงจุ้ยแล้ว คาบสมุทรเกาหลีคือกระบี่จอคอหอยเกาะญี่ปุ่นโดยธรรมชาติ เรื่องนี้ทำให้ประวัติศาสตร์ของการทหารสามเส้า ระหว่างจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลี เต็มไปด้วยความวุ่นวายซับซ้อน
ประวัติศาสตร์ของคาบสมุทรเกาหลีสามารถสืบค้นย้อนหลังได้ถึงก่อนคริสต์กาลเลยทีเดียว โดยชนเผ่าหลากหลายหมุนเวียนเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ในช่วงยุคเผ่า พร้อมกับตำนานท้องถิ่นของการก่อตั้งอาณาจักรโชซ็อนโบราณ แต่ประวัติศาสตร์ช่วงดังกล่าวกระท่อนกระแท่นยิ่งนัก จนกระทั่งจีนในยุคพระเจ้าฮั่น อู่ ตี้ ยกกองทัพเข้ายึดครองให้ดินแดนบางส่วนนี้เป็นอาณานิคม ด้วยยุทธศาสตร์ “แบ่งแยกแล้วปกครอง” ให้มีรัฐแยกจากกัน 4 แห่ง นานกว่า 430 ปีก่อนจะได้รับเอกราชโดยเป็น 3 รัฐอิสระต่อกันและกันนานหลายร้อยปี
การต่อสู้แย่งกันเป็นใหญ่เหนือคาบสมุทรเกาหลี ในช่วงเวลาของเอกราช ไม่เคยทำให้เกาหลีเป็นเอกภาพกันเลย จวบจนตกเป็นเมืองขึ้นของจีนช่วงราชวงศ์หยวนครั้งใหม่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13
เมื่อได้รับเอกราชครั้งใหม่ช่วงต้นราชวงศ์หมิงของจีน เมื่อแม่ทัพ ลี ซอง เก (ผู้ประดิษฐ์ปืนใหญ่ยิงจากเรือเป็นครั้งแรกในโลก) สถาปนาตนเป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์โชซ็อน ที่สร้างเอกภาพให้เกาหลียาวนานกว่า 500 ปี ถือเป็นรากฐานของเกาหลี ได้แก่การยอมรับลัทธิขงจื๊อให้เป็นศาสนาแห่งชาติ (ลดฐานะของพุทธศาสนาลง) และ ประดิษฐ์อักษรฮันกึลขึ้นใช้แทนอักษรจีน
เอกภาพเกาหลีจบสิ้นลงอีกครั้งในปี ค.ศ. 1910 เมื่อญี่ปุ่นซึ่งเพิ่งเอาชนะในสงครามเหนือจักรวรรดิรัสเซียไม่นาน ได้ใช้อำนาจต่อรองกับมหาอำนาจอื่นของโลก ผนวกเกาหลีเป็นดินแดนของตนตามสนธิสัญญาการรวมญี่ปุ่น-เกาหลี (โดยเชิดให้กษัตริย์เกาหลีเป็นหุ่นบังหน้า) ซึ่งเป็นที่ยอมรับของญี่ปุ่นฝ่ายเดียว
ช่วงเวลากว่า 35 ปีใต้อำนาจของญี่ปุ่นเป็นยุคที่คนเกาหลีถูกย่ำยีจนสิ้นสภาพ เพราะญี่ปุ่นมีการสร้างระบบคมนาคมแบบตะวันตก แต่เพื่อประโยชน์ทางการค้าของญี่ปุ่นมากกว่าของชาวเกาหลี ล้มล้างราชวงศ์โชซ็อน (วางยาพิษกษัตริย์องค์สุดท้าย) ทำลายพระราชวัง ปรับปรุงระบบภาษีบังคับให้ส่งข้าวออกไปญี่ปุ่น ทำให้เกิดความอดอยากในเกาหลี มีการใช้แรงงานทาสในการสร้างถนนและทำเหมืองแร่
การปู้ยี่ปู้ยำของญี่ปุ่น ทำให้เกิดการเรียกร้องเอกราชทั่วประเทศ เมื่อ 1 มีนาคม ค.ศ. 1918 ผลจากการลุกฮือขึ้นเรียกร้องเอกราชทำให้ชาวเกาหลีราว 7,000 คนถูกฆ่า ชาวคริสต์เกาหลีจำนวนมากถูกฆ่าหรือเผาในโบสถ์
จากเหตุการณ์นั้น การกดขี่บีฑาซึมลึกหนักข้อ โดยนอกจากการประกาศกฎอัยการศึกแล้ว ยังมีการออกกฎหมายลบล้างความเป็นชาติของเกาหลี เช่น ห้ามการสอนประวัติศาสตร์และภาษาเกาหลีในโรงเรียน และมหาวิทยาลัย การแสดงออกทางวัฒนธรรมที่เป็นเกาหลีถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ชาวเกาหลีถูกบังคับให้มีชื่อเป็นญี่ปุ่นสิ่งของมีค่าถูกนำออกจากเกาหลีไปยังญี่ปุ่น หนังสือพิมพ์ถูกห้ามตีพิมพ์ด้วยภาษาเกาหลี หนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์จำนวนมากถูกเผาทำลาย ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ชายหนุ่มชาวเกาหลีถูกเกณฑ์เข้าร่วมในกองทัพญี่ปุ่น ส่วนสตรีเกาหลีราว 200,000 คน ถูกส่งตัวไปเป็นนางบำเรอของทหารในกองทัพญี่ปุ่นทั่วเอเชีย
กลุ่มผู้รักชาติที่ถูกปราบในประเทศ ต้องหนีออกไปจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลของเกาหลีที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เพื่อต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่น และพยายามส่งเสริมการลุกฮือขึ้นต่อต้านญี่ปุ่นหลายครั้ง และถูกปราบหนักทุกครั้ง จนกระทั่งชาวเกาหลีจำนวนมากอพยพออกไปสู่แมนจูเรียและรัสเซีย จนสามารถจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธกู้เอกราชชื่อ “ทุงนิบกุน” (Dungnipgun) ขบวนการนี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน ทำสงครามกองโจรกับกองทัพญี่ปุ่น จนสามารถยกระดับรวมตัวกันเป็นกองทัพปลดปล่อยเกาหลี เมื่อราว ค.ศ. 1940 เคลื่อนไหวในจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ผู้นำกองกำลังกองทัพปลดปล่อยเกาหลี ได้แก่ คิม อิล ซุง โดยมีกองกำลังกว่า 1 หมื่นคนเข้าร่วมในกองทัพปลดปล่อยประชาชนและกองทัพปฏิวัติแห่งชาติ
เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม เกาหลีควรจะได้รับเอกราช แต่สงครามเย็นทำให้ไม่เกิดขึ้น เพราะสหรัฐฯปฏิเสธฐานะนำของรัฐบาลชั่วคราวที่นำโดย คิม อิล ซุง ที่เป็นพวกคอมมิวนิสต์ โดยตั้งเงื่อนไขครั้งแรกว่า จะให้เกาหลีเป็นรัฐใต้อารักขาของ 4 ชาติมหาอำนาจคือสหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต อังกฤษ และจีน จัดการปกครอง 5 ปี แล้วจึงรวมส่วนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของสหรัฐฯและโซเวียตเข้าด้วยกัน
สถานการณ์สงครามเย็นที่นำไปสู่ข้ออ้างของสงครามเกาหลี (ที่จนถึงวันนี้ ยังไม่ได้ยกเลิกภาวะสงครามอย่างเป็นทางการ) เมื่อเดือนมิถุนายน 1950 ทำให้เกาหลีถูกแยกออกเป็น 2 ประเทศมาจนถึงปัจจุบัน
หากมองจากมุมชาตินิยมจะเห็นได้ชัดว่ารัฐบาลเกาหลีเหนือ มีความชอบธรรมทางการเมืองเหนือกว่าเกาหลีใต้มาตั้งแต่เริ่มต้น แต่คำพูดในเชิงการทูตของ คิม จอง อึน ที่ว่าพร้อมสำหรับการพูดคุยอย่าง “เปิดอก จริงใจ และตรงไปตรงมา” และสองชาติเกาหลีไม่ควรจะย่ำรอยเดิมด้วยการ “ให้คำมั่นในสิ่งที่ทำไม่ได้” โดยไม่ได้กล่าวถึงประเด็นเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ แค่เพียงกล่าวติดตลกว่า นายมุนจะต้องชอบบะหมี่เย็น ซึ่งเป็นอาหารขึ้นชื่อของเกาหลีเหนือ ซึ่งจะถูกนำขึ้นโต๊ะหลังการพูดคุยอย่างเป็นทางการ ไม่ได้ส่งสัญญาณที่มีสาระอะไรมากนักเบื้องหลังพิธีการทางการทูต
เหตุผลหลักเพราะชะตากรรมของอนาคตเกาหลีทั้งสอง ไม่ได้อยู่ในมือคนเกาหลีเพียงลำพัง ด้วยเหตุผลทางด้านภูมิศาสตร์การเมืองของโลก เป็นพื้น
การทูตแบบพายุหมุนในกรณีสองเกาหลีจะเกิดขึ้นจากนี้ไป คงเป็นแค่การเริ่มต้นของเรื่องอื่นๆ ซึ่งนักลงทุนคงไม่อาจคาดเดาได้