สิ่งที่น่าจะได้จากการประชุมสุดยอดสองเกาหลี

ประธานาธิบดี มูน แจ-อิน ของเกาหลีใต้ และ คิม จอง-อุน ผู้นำเกาหลีเหนือได้พบกันเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นปฏิบัติการทางการทูตที่ไม่เคยได้เห็นมานานกว่าทศวรรษ คิม จอง-อุนได้สัญญาว่าจะสร้าง “ประวัติศาสตร์ใหม่” กับเกาหลีใต้ เมื่อเขาได้กลายเป็นผู้นำเกาหลีเหนือคนแรกที่เหยียบเท้าบนแผ่นดินเกาหลีใต้นับตั้งแต่สงครามเกาหลียุติลงในปี พ.ศ. 2496


รายงานพิเศษ

ประธานาธิบดี มูน แจ-อิน ของเกาหลีใต้ และ คิม จอง-อุน ผู้นำเกาหลีเหนือได้พบกันเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นปฏิบัติการทางการทูตที่ไม่เคยได้เห็นมานานกว่าทศวรรษ คิม จอง-อุนได้สัญญาว่าจะสร้าง “ประวัติศาสตร์ใหม่” กับเกาหลีใต้ เมื่อเขาได้กลายเป็นผู้นำเกาหลีเหนือคนแรกที่เหยียบเท้าบนแผ่นดินเกาหลีใต้นับตั้งแต่สงครามเกาหลียุติลงในปี พ.ศ. 2496

การสนทนาที่หาได้ยากเช่นนี้มีขึ้นหลายเดือนหลังจากความสัมพันธ์ของสองประเทศดีขึ้นและจะเป็นการปูทางให้มีการเจรจาตามที่ได้มีการเสนอไว้ระหว่างสหรัฐฯและเกาหลีเหนือต่อไป

การปลดอาวุธนิวเคลียร์และสันติภาพเป็นวาระสำคัญที่สุดของการพบกันในครั้งนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์สงสัยว่ารัฐบาลเปียงยางจะตกลงยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์จริงหรือไม่ แต่การประชุมสุดยอดในครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีต่อสองเกาหลี เนื่องจากแต่ละฝ่ายมีปัญหาซึ่งกันและกัน เช่น ปัญหามาตรการลงโทษและปัญหาครอบครัวที่ต้องพลัดพรากกัน ดังนั้นปัญหาเหล่านี้จึงน่าจะนำมาสู่โต๊ะเจรจาได้

การประชุมครั้งนี้สำคัญเพียงไร ?

การประชุมในครั้งนี้ถือว่าสำคัญมาก และเป็นการประชุมครั้งแรกที่ผู้นำของสองเกาหลีได้พบกันนั้บตั้งแต่ปี 2551 และถือเป็นการประชุมสุดยอดครั้งแรกของคิม ซึ่งแตกต่างจากการประชุมกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ที่เป็นการประชุมลับและมีการยืนยันหลังจากได้ประชุมกันแล้ว แต่การเจรจาของสองเกาหลีมีการถ่ายทอดสดเป็นบางส่วน

เจมส์ คิม ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษานโยบายอาซาน ในเกาหลีใต้ กล่าวว่า คิม จอง-อุนไม่เคยประชุมเช่นนี้มาก่อน แต่เขาได้ทำตามรอยเท้าของบิดา หรือ คิม จอง-อิล ซึ่งได้ประชุมสุดยอดกับประธานาธิบดีเกาหลีใต้สองครั้ง ครั้งแรกกับประธานาธิบดี คิม แด-จุงในปี 2543 และจากนั้นได้พบกับประธานาธิบดี โรห์ มู-ฮุน เมื่อปี 2550

การประชุมทั้งสองครั้งนั้นมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาการคุกคามเรื่องนิวเคลียร์และสนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจและเพื่อเป็นผลงานของคิมต่อการเกี่ยวพันที่ประธานาธิบดี คิม แด-จุง ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพมาแล้ว

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังการประชุมสองครั้งนั้นคือ การตั้งนิคมอุตสาหกรรมแกซอง และครอบครัวที่ต้องพลัดพรากจากกันเพราะสงคราม ได้กลับมาพบกันอีกครั้ง แต่เรื่องการปลดอาวุธยังคงคลุมเครือและมีการยั่วยุเกี่ยวกับนิวเคลียร์อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งยับยั้งความพยายามในการสร้างสันติภาพ ประกอบกับรัฐบาลอนุรักษ์นิยมในโซลมีท่าทีแข็งกร้าวขึ้นต่อรัฐบาลเปียงยาง นอกจากนี้ได้มีการโจมตีความพยายามที่จะดึงเกาหลีเหนือให้พ้นจาการโดดเดี่ยวประเทศ และสร้างการพึ่งพามากขึ้นต่อเกาหลีใต้

สิ่งที่เกาหลีใต้ต้องการ     

รัฐบาลโซลได้ทำให้รัฐบาลเปียงยางกลับมาเจรจา หลังจากที่ได้เข้ารับตำแหน่งในปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีมูน ผลักดันให้เกาหลีใต้เกี่ยวพันมากขึ้นกับเกาหลีเหนือ มูนต้องการคืนดีกันอย่างไม่ต้องสงสัย ความหวังของมูนต่อการประชุมสุดยอดที่ปันมุนจอมมีความชัดเจน เขาได้เคยกล่าวว่า จะต้องทำสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างสองเกาหลีเพื่อยุติความขัดแย้งที่มีมายาวนานบนคาบสมุทรเกาหลี

กระทรวงรวมชาติของเกาหลีใต้ ก็ได้ระบุว่า การปลดอาวุธนิวเคลียร์และการลดความตึงเครียดทางทหารคือเป้าหมายหลัก จากนั้นจะสนับสนุนความสัมพันธ์ทางสังคมและเศรษฐกิจกับเกาหลีเหนือให้ใกล้ชิดมากขึ้น ซึ่งอาจจะรวมถึงการเปิดนิคมอุตสาหกรรมแกซองอีกครั้ง

ได้มีการปิดนิคมอุตสาหกรรมแกซองเมื่อปี 2559 หลังจากที่รัฐบาลโซลกล่าวว่า เกาหลีเหนือเอาค่าแรงคนงานและโยกเงินไปสนับสนุนความทะเยอทะยานด้านนิวเคลียร์ ประธานาธิบดีมูนกล่าวว่า เขาจะเปิดนิคมแกซองอีกครั้งหากมีความคืบหน้าในการปลดอาวุธนิวเคลียร์

การกลับมาพบกันอีกครั้งของสมาชิกในครอบครัว 60,000 คนที่ต้องพลัดพรากเพราะสงครามเกาหลี และการปล่อยตัวชาวต่างชาติที่เกาหลีเหนือกักขังไว้ก็เป็นประเด็นในการหารือเช่นกัน

เป้าหมายของเกาหลีเหนือคืออะไร

ไม่ชัดเจนว่ามีอะไรบ้างแต่นักวิเคราะห์หลายคนบอกว่า มาตรการลงโทษคือเหตุผลที่ทำให้คิมพร้อมเจรจา มาตรการลงโทษของสหรัฐฯและสหประชาชาติซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เศรษฐกิจเกาหลีเหนือง่อนแง่น ได้เพิ่มมากขึ้นในปีที่ผ่านมาหลังจากที่มีการคุกคามทางทหารมากขึ้น

ดร.คิม กล่าวว่า เกาหลีเหนือมองว่า การเกี่ยวพันกับเกาหลีใต้เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้รัฐบาลวอชิงตันยอมเจรจาปัญหาอย่างมาตรการลงโทษ แต่สื่อของรัฐบาลเกาหลีเหนือได้ยืนกรานว่า “ความเชื่อมั่นของตนเอง” คือสาเหตุให้เกาหลีเหนือหาทางเจรจา ไม่ใช่มาตรการลงโทษ

มีการเคลื่อนไหวอื่น ๆ ที่เป็นสัญญาณว่าเกาหลีเหนือต้องการให้บรรเทามาตรการลงโทษ หนึ่งสัปดาห์ก่อนการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ เกาหลีเหนือกล่าวว่า จะหยุดทดสอบนิวเคลียร์ทั้งหมดและหยุดยิงขีปนาวุธระหว่างประเทศก่อนการประชุม   แน่นอนว่าประธานาธิบดีมูนยินดีต่อการเคลื่อนไหวเหล่านี้และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

ดร.อึน กราแฮม ผู้อำนวยการฝ่ายความมั่นคงระหว่างประเทศของโลวี่ อินสติติว กล่าวว่า สำหรับคิม ถนนทุกสายนำไปสู่สหรัฐฯ และการเจรจากับมูนเป็นราคาที่เขาต้องจ่ายเพื่อให้ได้ไปที่นั่น และการได้ขึ้นเวทีกับทรัมป์อาจทำให้เขาได้รับชัยชนะในบ้าน

สิ่งที่น่าจะประสบความสำเร็จ

กระทรวงรวมชาติของเกาหลีใต้กล่าวว่า มากกว่าสองในสามของชาวเกาหลีใต้มองในด้านบวกต่อการประชุมสุดยอด และมีมุมมองในด้านบวกว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่ทั้งการรวมเกาหลีและการกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ของรัฐบาลเปียงยาง

ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าจะมีข้อตกลงจำนวนมากตามมาและการแลกเปลี่ยนที่จะตามมาเพื่อติดตามผลการประชุมแต่ความสำเร็จจะขึ้นอยู่กับว่า “เคมี” ของประธานาธิบดีมูน และคิม เข้ากันได้หรือไม่

ดูจากภาพอันหวานชื่นแล้ว เคมีน่าจะเข้ากันได้อยู่ แต่การประชุมนี้จะนำไปสู่การปลดอาวุธนิวเคลียร์ได้หรือไม่ ดูเหมือนว่าผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่จะไม่แน่ใจ

Back to top button