รับมือตลาดที่ผันผวน

ตลาดหุ้นที่แสดงความก้าวหน้าด้วยดัชนีหลักทรัพย์ วัดจากต้นปี 2561 มาจนถึงปัจจุบัน ณ วันที่ 2 พ.ค. ก็ถือว่าเป็นตลาดที่ยังไม่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเท่าไหร่


ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์

ตลาดหุ้นที่แสดงความก้าวหน้าด้วยดัชนีหลักทรัพย์ วัดจากต้นปี 2561 มาจนถึงปัจจุบัน ณ วันที่ 2 พ.ค. ก็ถือว่าเป็นตลาดที่ยังไม่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเท่าไหร่

กล่าวคือจากระดับ 1,753 จุดเมื่อต้นปี มาสู่ระดับ 1,791 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นแค่ 2% เอง การเคลื่อนไหวที่ผ่านมาก็มีลักษณะขึ้น ๆ ลง ๆ หรือที่เรียกว่า “ไซด์ เวย์” ไม่ถึงกับปรับตัวขึ้นหรือลงแบบจัดหนักรุนแรงนัก

ปัญหาก็คือ ในช่วงที่เหลือของปี ดัชนีจะก้าวข้าม 1,800 จุด และยืนเหนือระดับ 1,800 จุดได้อย่างมั่นคงไหม หรือว่าเห็นดัชนีอยู่ใกล้แค่เอื้อม 1,800 จุดเท่านี้เอง แต่ก็ไม่สามารถจะก้าวข้ามได้ และก็อาจจะถดถอยลงมาต่ำกว่าระดับปัจจุบัน

เป็นอนาคตที่ฟันธงได้ยากไม่ใช่น้อย!

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหนึ่งที่ตลาดยังเป็นไซด์เวย์ ขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่ก้าวหน้าไปไหนสักที ก็มาจากเหตุปัจจัยหนึ่งซึ่งมีความสำคัญไม่ใช่น้อย นั่นก็คือเงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้น

ไม่เหมือนกับปี60 ที่สภาพคล่องท่วมตลาด เงินทุนก็ไหลเข้า ดัชนีตลาดปรับตัวขึ้นจาก 1ม500 จุดมาสู่ 1,700 จุดได้อย่างง่ายดาย

นับแต่ต้นปีมาถึงปัจจุบัน นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิรวมทั้งสิ้น 80,909 ล้านบาทแล้ว ต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นอย่างต่อเนื่องมาทุกเดือน

เดือนม.ค.ต่างชาติขายสุทธิ 5,690 ล้านบาท, ก.พ.ขายสุทธิหนักข้อ 41,382 ล้านบาท, มี.ค.ขายสุทธิ 11,036 ล้านบาท และเม.ย.ที่ผ่านมา ขายสุทธิอีก 21,450 ล้านบาท

จากนี้ไป เงินทุนก็น่าจะเคลื่อนย้ายออกจากตลาดหุ้นไปอีกสักพักจนถึงสิ้นปี ตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศ โดยเฉพาะดอกเบี้ยสหรัฐฯที่จะทยอยปรับเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

สภาวะตลาดหุ้นในภาพรวมจะเป็นอย่างไร ก็คงจะพอเดาออกกันได้ไม่ยาก

สิ้นปี61 ยืนเหนือระดับ 1,800 จุดได้ก็ถือว่าโก้แล้ว แต่หากจะหวังดัชนีเหนือ 1,900 จุด ก็คงหวังไกลไปหน่อย

อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดหุ้นในภาพรวมไม่สดใสนัก ก็ใช่ว่าจะไม่มีหุ้นในตลาดให้ลงทุน การลงทุนก็คงต้องเน้นลงทุนหุ้นเป็นรายตัวมากขึ้น

ยังคงมีหุ้นคุณภาพให้ลงทุนอยู่เป็นจำนวนมาก หมั่นศึกษาวิเคราะห์ทำการบ้านกันให้ดี ก็พอจะเลือกหุ้นให้ถูกตัวได้

หุ้นดี1ประเภท1 ที่คุณภาพคับแก้วเลย ก็น่าจะดูองค์ประกอบที่ครบเครื่องทั้งพี/อีที่ต่ำ พี/บีวีหรือราคาต่อมูลค่าบัญชีที่ไม่สูงนัก (ไม่เกิน 1.5 เท่ายิ่งดี) มีผลตอบแทน “ยีลด์” ที่สูงกว่าดอกเบี้ยธนาคาร และมีสภาพคล่องซื้อขายสูง

ไม่ใช่ซื้อแล้วติดคุก จะเข้าก็ยาก จะขายออกก็ลำบาก

แต่ก็อย่างว่าแหละ การจะหาหุ้นที่ถึงพร้อมทั้งพี/อี พี/บีวี ยีลด์ และลิควิดิตี้ครบทุกประการ ก็คงจะหาได้ไม่ง่ายนักหรอก เอาเป็นว่ายึดหลักตัวชี้วัด 4 อย่างนี้แต่พองามแล้วกัน

ตัวอย่างหุ้นPTT ปตท. พี/อี 12 เท่า พี/บีวี 2 เท่า ปันผล 3.51% ดีกว่า ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารแน่นอน และสภาพคล่องซื้อขายก็เหลือล้น จะเข้าออกเมื่อไหร่ก็ได้ตามสะดวก

เป็นหุ้นที่เรียกว่า “Defensive Stock” และมีการบริหารจัดการที่มีความยืดหยุ่นสูง ซึ่งจะสามารถรับมือกับสถานการณ์ผันผวนได้ดี

หุ้นที่มีสตอรี่ (จริง) ให้ติดตาม อันนี้ก็น่าจะเป็นหุ้นคุณภาพแบบหนึ่งที่น่าสนใจเข้าลงทุน เช่นหุ้นJAS จัสมินฯ เป็นหุ้นพื้นฐานโอเคเลย พี/อี 17 เท่า พี/บีวี 3.3 เท่า สูงไปนิด แต่ยีลด์ก็สูงตั้ง 8.26% และสภาพคล่องก็หายห่วง

นอกจากนี้ ก็ยังมีสตอรี่ที่จะขายทรัพย์สินเป็นโครงข่ายเข้ากองทุนอินฟรา ฟันด์ ซึ่งสตอรี่เก่าตอนขายทรัพย์สิน 50,000 ล้านบาทครั้งแรก ก็มีการปันผลพิเศษให้แก่ผู้ถือหุ้นJAS 1.50 บาท

ครั้งนี้จะขายทรัพย์สินเข้ากองทุนฯอีก 50,000-70,000 ล้านบาท ปันผลพิเศษผู้ถือหุ้นก็ไม่น่าจะน้อยไปกว่าครั้งที่แล้ว

ทั้งหมดทั้งปวง ไม่ใช่คำแนะนำสำหรับการเล่นหุ้นแบบเดย์ เทรดครับ เป็นข้อแนะนำสำหรับการเล่นหุ้นแบบ 12 เดือนขึ้นไป นอกจากนี้ก็ขอแถมข้อเตือนใจสักนิดหน่อยว่า “หุ้นใหญ่ไม่ใช่หุ้นดีเสมอไป และหุ้นเล็กแต่ราคาจริงกลับแพงก็มีซะเป็นส่วนใหญ่”

หุ้นใหญ่ที่ผาดโผนอย่างเช่นธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง ที่ชอบปล่อยสินเชื่อแบบการผจญภัยก็ควรหลีกเลี่ยง

Back to top button