ความขัดแย้งไม่มีทางประนีประนอม

ในภาพยนตร์ "สงครามหย่าร้าง" ของฮอลลีวูด มีคำพูดที่เป็นข้ออ้างสูตรสำเร็จของตัวเอกหลัก (ไม่พระเอกก็นางเอก) ในการร้องขอหย่าขาดจากคู่สมรสกับศาลครอบครัว ซึ่งได้ผลเสมอ คือ "เป็นความขัดแย้งที่ไม่สามารถประนีประนอมได้" หรือ irreconsible difference


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

ในภาพยนตร์ “สงครามหย่าร้าง” ของฮอลลีวูด มีคำพูดที่เป็นข้ออ้างสูตรสำเร็จของตัวเอกหลัก (ไม่พระเอกก็นางเอก) ในการร้องขอหย่าขาดจากคู่สมรสกับศาลครอบครัว ซึ่งได้ผลเสมอ คือ “เป็นความขัดแย้งที่ไม่สามารถประนีประนอมได้” หรือ irreconsible difference

คำนิยามดังกล่าวกำลังเกิดขึ้นบนเส้นทางของการเจรจาเพื่อหาทางออกจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่ปิดห้องลับคุยกันยกแรกไปแล้ว ซึ่งดูจะยังไม่มีผลทางบวกอะไร นอกจากคำพูดสวยหรูของนายสตีเวน มนูชิน ผู้นำการเจรจาฝ่ายสหรัฐฯที่บอกว่า การหารือเป็นไปทางบวก ซึ่งบ่งบอกว่ายังไม่สามารถบรรลุอะไรได้เลย

ข่าววงในระบุว่า สาเหตุของการตกลงไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องเหล็กอลูมิเนียม เนื้อหมู หรืออะไรที่ยกขึ้นมาเล่นงานกัน แต่เป็นเรื่องอนาคตที่ทั้งสองฝั่งจะไม่มีการลดราวาศอกให้กัน คือ สินค้าและนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี

ไม่ต้องบอกคงรู้ว่า นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ด้วยการระดมทรัพยากรบุคคลจากยุโรปและเยอรมนีจำนวนมหาศาล ที่ถือว่าเป็น “ของขวัญชิ้นเอกของฮิตเลอร์” ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งทางทหารและการพาณิชย์เกือบทุกสาขาตกอยู่ในการครอบครองของสหรัฐฯ ชนิดที่เรียกว่า “ทิ้งห่าง” ชาติอื่น ๆ

สถิติการจดทะเบียนสิทธิบัตร และรายชื่องานด้านลิขสิทธิ์ที่เหนือกว่าชาติอื่น ๆ เป็นที่ยืนยันได้ดีถึงความยิ่งใหญ่ของสหรัฐฯมายาวนานไม่น้อยกว่าครึ่งศตวรรษ เพียงแต่ในช่วงสิบปีมานี้ สถิติการจดทะเบียนสิทธิบัตรของจีนในระเบียนระดับโลกไล่ตามสหรัฐฯมาติด ๆ จนปีล่าสุด แซงหน้าสหรัฐฯไปแล้วในเชิงปริมาณ แต่ในเชิงคุณภาพยังคงต้องการเวลา

ชาติที่เคยยิ่งใหญ่ และภาคภูมิใจมายาวนาน เริ่มรู้สึกปริวิตกต่อความสามารถของจีน ดังนั้นความพยายามที่จะขัดขวาง หรือสร้างสิ่งกีดขวางเพื่อไม่ให้จีนก้าวรุดหน้าแซงไปได้ ไม่ใช่ผิดปกติแต่อย่างใด

หนึ่งในคำสั่งห้ามการขายเทคโนโลยีโทรคมนาคมทั้งทางตรง (ขายเทคโนโลยี) และทางอ้อม (เปิดทางให้จีนเข้าเทกโอเวอร์กิจการ) เป็นมาตรการ “ปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ” ที่เชื่อว่าน่าจะมีผลบ้าง

บังเอิญว่าจีนไม่คิดเช่นนั้น เพราะ “วาระแห่งอนาคต” (ที่ถือว่าสำคัญเทียบเคียงกับนโยบายเดินหน้ารวมชาติกับไต้หวันในอนาคต) ที่สี จิ้นผิง ได้รับฉันทานุมัติจากสภาประชาชนจีนล่าสุด คือ การยกระดับให้จีนเป็นเจ้าเทคโนโลยีของโลก โดยใช้แนวคิดการพัฒนาใหม่ที่เน้นวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โปร่งใส และกระจายประโยชน์ (ที่ทำให้เป้าหมายของยุคสมัยของ สี แตกต่างจากเหมา เจ๋อตง และเติ้ง เสี่ยวผิง ชัดเจน)

ความชัดเจนในยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของจีน ทำให้สหรัฐฯถือว่าจีนเป็น “ศัตรูทางยุทธศาสตร์” (strategic rival) ทันที เพราะหากจีนสามารถบรรลุเป้าหมายได้ สหรัฐฯก็จะหมดอิทธิพลลงทันทีทั้งทางทหาร และเศรษฐกิจ เกิดภาวะ “กระแสลมพัดกลับบูรพา” ระลอกใหม่ ทำนองเดียวกันกับ ปรากฏการณ์กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่ขนาดของเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของยุโรปแซงหน้าจีนในช่วงที่เรียกกันว่า “การย้ายขั้วครั้งใหญ่” (The Great Convergence) นั่นเอง

เดิมพันที่มหาศาลดังกล่าว ทำให้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนมีโอกาสที่จะกลายเป็นสงครามยืดเยื้อ เลี่ยงไม่พ้น

คำปราศรัยล่าสุดของ สี จิ้นผิง เรียกร้องให้บริษัท และนักคิดวิทยาศาสตร์จีน ทุ่มเททรัพยากรที่มุ่งมั่นกว่าเดิมในการยืนหยัดพึ่งตนเองสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยี ด้วยการ “โยนทิ้งภาพลวงตา” จากการพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลจากภายนอก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเป็นเจ้าโลกใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่เชื่อกันว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่สหรัฐฯ (ไม่เฉพาะ โดนัลด์ ทรัมป์) รู้สึก “ขุ่นเคือง” มากที่สุด

ภายใต้พิมพ์เขียวของแผนยุทธศาสตร์ Made In China 2025 ระบุว่า 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (ประกอบด้วย Robotics, new-energy vehicles, biotechnology, aerospace, high-end shipping, advanced rail equipment, electric power equipment, new materials (such as those used in screens and solar cells), and new generation information technology and software (including integrated circuits and telecommunications devices), as well as agricultural machinery) นั้น กระเทือนถึงบริษัทอเมริกันโดยตรง

ในปัจจุบัน นักยุทธศาสตร์ระดับโลกหลายกลุ่มมองทิศทางเดียวกันว่า ความพยายามขัดขวางเส้นทางเป็นหนึ่งด้านเทคโนโลยีของจีนของสหรัฐฯ นอกจากจะไม่บรรลุเป้าแล้ว จะได้ผลมุมกลับเร่งเร้าให้จีนทุ่มเทมากขึ้นในการพึ่งพาตนเอง (บทเรียนจากเมื่อครั้งจีนสามารถผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้เมื่อหลายทศวรรษก่อน จากอดีตนักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯเชื้อสายจีนเอง) อาจจะเกิดเป็น “วัฏจักรชั่วร้าย” สำหรับอุตสาหกรรมของสหรัฐฯเอง

หลายปีมานี้บรรดานักวิทยาศาสตร์ และผู้นำธุรกิจทั่วโลกยอมรับว่า พัฒนาการในด้านเทคโนโลยีของจีนนั้นก้าวหน้าไม่แพ้ใครในหลายด้าน ไม่อาจกลบด้วยมายาคติคร่ำครึที่ว่า จีนยังไม่ได้เก่งจริง เพราะจีนยังคงสินค้าที่จีนผลิตสินค้าตามคำสั่งหรือ “รับจ้างผลิต” หรือไม่ก็ผลิตเอง แต่ลอกเลียนแบบ (โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ นาฬิกา สินค้าแบรนด์เนมทุกยี่ห้อทุกรุ่น ฯลฯ) ยากที่จะสามารถผลิตด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงที่เหนือกว่าสินค้าธรรมดาและด้วยวัตถุดิบราคาถูกเพื่อให้ได้สินค้าราคาถูกเพื่อให้ขายได้มากๆ

ความจริงแล้ว จีนเก่งกว่าที่คิดมาก เพราะหากเรียบเรียงรายการเท่าที่ประมวลได้จะพบว่า มากกว่า 25 รายการที่จีนได้พิสูจน์มาหลายปีแล้วว่าอยู่เหนือชาติอื่นๆ

สำหรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายยุทธศาสตร์นั้น ล่าสุดเดือนนี้ บทวิจัยของธนาคารซิตี้แบงก์แห่งนิวยอร์กยอมรับว่ามี 5 อุตสาหกรรม ที่จีนจะเป็นเจ้าเทคโนโลยีโดยไม่ต้องใช้ความพยายามมากนักในอีกไม่เกิน 5 ปีข้างหน้า และอีก 5 อุตสาหกรรม จีนสามารถใช้การอุดหนุนจากรัฐผสมแรงเสริมอื่นจากตลาดขนาดใหญ่ภายในประเทศ ก้าวขึ้นเป็นผู้นำโลกได้ ไม่ว่าอเมริกาจะขวางแค่ไหนก็ยาก

แต้มต่อเช่นนี้ ทำให้ยากที่จีนจะยอมอ่อนข้อให้สหรัฐฯ ในการต่อรองสงครามการค้าในส่วนของยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้แล้ว

อย่างมากสุดที่สหรัฐฯจะได้จากจีน คงเป็น “เบี้ยใต้ถุนร้าน” ที่จีนจะหยิบยื่นให้มากกว่า หากเป็นเช่นนั้น ผู้นำสหรัฐฯก็จะไม่ได้อะไรเลย ซึ่งคงจะไม่ยอมง่าย ๆ เช่นกัน

เดิมพันนี้ใหญ่หลวงนัก

Back to top button