IFRS9 วัดใจ ธปท.

ทางธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ยังคงเงียบหรือไม่แสดงความเห็นเกี่ยวกับ IFRS9 หรือเป็น IFRS9 ในส่วนที่จะต้องนำมาใช้กับธนาคารพาณิชย์ ที่ ธปท.มีหน้าที่ในการกำกับดูแล


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

ทางธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ยังคงเงียบหรือไม่แสดงความเห็นเกี่ยวกับ IFRS9

หรือเป็น IFRS9 ในส่วนที่จะต้องนำมาใช้กับธนาคารพาณิชย์ ที่ ธปท.มีหน้าที่ในการกำกับดูแล

จะว่าไปแล้ว หน่วยงานที่จะตัดสินใจเรื่องนี้จริง ๆ คือ คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) ที่มี “จักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล” รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการของ กกบ.อยู่

เพียงแต่ว่า กกบ.เองก็จะมีคณะอนุกรรมการที่คอยศึกษาผลกระทบต่าง ๆ อีกทีมหนึ่ง

คณะอนุกรรมการที่ว่านี้ จะทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่กำกับดูแล เช่น ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ทาง กกบ.ก็ต้องร่วมหารือกับ ธปท.ด้วย และขณะนี้ก็กำลังศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบ โดยเฉพาะที่จะมีผลต่อธุรกิจเอสเอ็มอี

ทว่าจากการให้สัมภาษณ์ของ “จักรกฤศฏิ์”

เท่าที่จับใจความได้ คือ กรณีของกลุ่มธนาคาร เหมือนว่าจะให้ ธปท. หรือแบงก์ชาติตัดสินใจมา

หรือเป็นการรอคำตอบสุดท้ายว่าจะ “เลื่อน” หรือ “ไม่เลื่อน”

IFRS ย่อมาจาก International Financial Reporting Standards เป็นมาตรฐานรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ

องค์กรที่ออกมาตรฐานนี้ คือ International Accounting Standard Board (IASB)

IFRS เป็นมาตรฐานการบัญชีที่กำหนดเป็นหลักการ ทำให้ต้องใช้การวิเคราะห์ตีความ และตัดสินใจมากขึ้น

แต่ IFRS ก็มีส่วนช่วยให้ทั่วโลกมี “ภาษาบัญชีเดียวกัน”

กลุ่มประเทศที่ใช้ IFRS ส่วนใหญ่คือประเทศยุโรป เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ สเปน

และประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฮ่องกง ออสเตรเลีย และมาเลเซีย

ส่วนประเทศที่มีการขอยื่นออกไปและได้รับการผ่อนผันแล้วคือ อินโดนีเซีย

ข้อดีของ IFRS9 คือจะทำให้ข้อมูลงบการเงินมีความชัดเจน และโปร่งใส

การวิเคราะห์ ประเมิน และเปรียบเทียบฐานะการเงินของบริษัทจะถูกต้องยิ่งขึ้น และทำให้บริษัท มีโอกาสและระดมทุนข้ามประเทศได้ง่ายขึ้น มีต้นทุนที่ต่ำลง

ด้านของผู้ถือหุ้น และผู้กำกับดูแลได้รับข้อมูลทางการเงินถูกต้อง

จริง ๆ IFRS9 ไม่ได้ถูกนำมาให้กับระบบธนาคารพาณิชย์เท่านั้น

แต่ยังรวมไปถึงสถาบันการเงินต่าง ๆ ทั้งของรัฐ และเอกชน รวมถึงบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ต่าง ๆ ด้วย

หรือของธุรกิจประกัน (ทั้งประกันชีวิต และวินาศภัย) ก็ต้องนำเรื่องมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใหม่ (IFRS9) มาใช้กับตนเองด้วย

ที่ผ่านมา ธุรกิจประกัน และธนาคารของรัฐ ได้รับการยกเว้น หรือเลื่อนการใช้เป็นปี 2565 แล้ว

สถาบันการเงินประเภทนอนแบงก์ ยังอยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบ

แต่จากการสอบถามไปยังผู้ประกอบการนอนแบงก์ ที่มีธุรกิจลีสซิ่งรวมอยู่ด้วย ซึ่งผู้บริหารของบริษัทหลาย ๆ แห่ง ต้องการให้เลื่อนออกไป เพราะยังไม่มีความพร้อม

ส่วนบางบริษัทมีความพร้อมแล้ว เช่น เมืองไทย แคปปิตอล หรือ MTC

รวมถึงของ บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD

สรุปแล้ว นอนแบงก์ยังต้องลุ้นกันอยู่

ทางด้านของธนาคารพาณิชย์ ดูเหมือนว่าผู้บริหารของ ธปท. จะให้ความเห็นเป็นเชิงว่า “ไม่อยากให้เลื่อน”

และบอกด้วยครับว่า ธนาคารพาณิชย์ต่างมีความพร้อมอยู่แล้ว

ขณะที่นายแบงก์เอง เท่าที่เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อ ต่างบอกว่ามีความพร้อม เพราะเตรียมตัวกันมานานเช่นกัน

แต่ประเด็นที่เป็นปัญหา คือ ภาคธุรกิจเอสเอ็มอีจะเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้น เพราะเป็นธุรกิจมีความเสี่ยงสูง และเมื่อธนาคารปล่อยกู้ไป จะมีภาระตั้งสำรองฯสูงมาก

ขณะที่รัฐบาลกำลังมีนโยบาย “อุ้ม” หรือช่วยเหลือเอสเอ็มอี

ซึ่งการนำ  IFRS9 มาใช้ ก็จะทำให้นโยบายไม่เป็นผลแน่นอน จึงเห็นการออกมาให้สัมภาษณ์ของทั้ง “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกฯ และขุนคลัง “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” เป็นเชิงว่าควรจะเลื่อนออกไป

โดยเฉพาะในส่วนของธนาคารพาณิชย์

แต่งานนี้คงต้องไปวัดใจผู้บริหารแบงก์ชาตินั่นแหละ

ว่าจะดำเนินการอย่างไร

หรือยังคงยึดเศรษฐศาสตร์แบบ A ไป B และไป C

Back to top button