ถูกต้อง หรือ ถูกใจ

ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับนาย นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ออกมาพูดถึงข้อเสียของนโยบายการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของภาครัฐช่วงที่ผ่านมา


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล  

ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับนาย นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ออกมาพูดถึงข้อเสียของนโยบายการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของภาครัฐช่วงที่ผ่านมา

หากจะบอกว่าเป็นการระบายความอัดอั้นตันใจที่เพิ่งจะพ้นมือไปได้ หรือเพราะเป็นการพูดความจริงที่อยากจะพูด แม้รู้ว่าคนฟังไม่ชอบ ย่อมได้ทั้งสิ้น ขึ้นกับปูมหลังของคนรับฟังข้อมูล

นายกรศิษฏ์ ในฐานะอดีตเทคโนแครตผู้เคยรับผิดชอบงานกำกับดผูแลกิจการไฟฟ้าด้านหลักของประเทศ ระบุว่านโยบายการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของภาครัฐ ทั้งในระบบของการให้ส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า (Adder) และการส่งเสริมค่าไฟฟ้าตามต้นทุนที่เป็นจริง หรือฟีด อิน ทา รีฟ (Feed in Tariff-FiT) ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2560 มีข้อเท็จจริงว่า ทำให้ค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องแบกรับแพงขึ้น

ข้อมูลพบว่า ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าไทย ต้องช่วยแบกรับภาระค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายดังกล่าว เป็นเงินรวม 130,000 ล้านบาท โดยยังคิดรวมกับต้นทุนที่ กฟผ. ต้องลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า เพื่อช่วยเหลือระบบ เพื่อให้คนไทยมีไฟฟ้าใช้ตลอด 24 ชั่วโมง

ข้อมูลดังกล่าว ถือเป็นการย้อนแย้งกับนโยบายรัฐที่ชัดเจน ซึ่งนายกรศิษฏ์แสดงความเห็นส่วนตัวว่า เรื่องภาวะโลกร้อนเป็นเกมการเมือง และเกมผลประโยชน์ระดับโลก แต่เมื่อทุกประเทศต้องมีนโยบายการส่งเสริมเรื่องของพลังงานหมุนเวียนให้สอดคล้องกับกระแส กฟผ.จึงต้องมีการวางแผนรองรับ

เขาระบุว่า พลังงานหมุนเวียนเป็นภาระมากกว่าโอกาส เพราะ ที่ผ่านมา กฟผ.ส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมที่ไม่มีความเสถียรในสัดส่วนที่มากเกินไป เพราะทำให้เป็นภาระต่อระบบ ส่งผลให้ระบบมีต้นทุนที่สูงขึ้น และต้นทุนดังกล่าวถูกส่งผ่านไปให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าในรูปของค่าไฟฟ้าผันแปรอัติโนมัติ

นายกรศิษฐ์ ยกตัวอย่างว่า การผลิตพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใช้เองที่มีสัดส่วนสูง ทำให้กราฟการใช้ไฟฟ้าเปลี่ยนรูปจาก”หลังอูฐ” เป็น “หลังเป็ด” คือช่วงกลางวัน ที่เคยเกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด กลายเป็นความต้องการใช้ลดลง และกลับมาเพิ่มขึ้นสูงในช่วงหัวค่ำ ซึ่งระบบการผลิตไฟฟ้าของกฟผ.ก็ต้องเร่งกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าขึ้นมารองรับ

เขาระบุตอนท้ายว่า ที่ผ่านมาตนเสนอให้กระทรวงพลังงานปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี 2015) เพื่อไม่ให้พลังงานหมุนเวียนสร้างปัญหาให้กับระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศ โดยแผนพีดีพีฉบับใหม่ ควรต้องมีเรื่องของระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ เป็นต้น เพื่อให้สามารถบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้าสู่ระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ข้อมูลของเทคโนแครตจาก กฟผ.ดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ต้นทุนของการผลิตพลังงานหมุนเวียนนั้นจะสูงกว่าการใช้วัตถุดิบเดิมไเช่นถ่านหิน น้ำมัน น้ำ หรือแก๊สธรรมชาติ

เมื่อหลายปีแล้วเคยมีผลศึกษาจากที่ปรึกษาด้านพลังงานจากเยอรมนี พบว่า ภาคครัวเรือนในเยอรมนีกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตค่าไฟที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เป็นการกระตุ้นให้ภาคครัวเรือนตระหนัก เกิดจากความไม่สอดคล้องกันระหว่างต้นทุนการผลิตไฟฟ้า กับภาษีและค่าธรรมเนียม เนื่องด้วยต้นทุนผลิตไฟฟ้าคิดเป็นเพียงร้อยละ 19 ของราคาค่าไฟฟ้าทั้งหมด ในขณะที่ค่าธรรมเนียมอุดหนุนพลังงานหมุนเวียน สูงถึงร้อยละ 24 เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทำให้ภาษีไฟฟ้าและค่าธรรมเนียมอื่น ๆ รวมกันสูงถึงร้อยละ 56 ผลลัพธ์คือ ค่าไฟเฉลี่ยต่อกิโลวัตต์ในเยอรมนีสูงแตะถึง 28.56 ยูโรเซนต์ หรือประมาณ 12 บาท เมื่อเทียบกับปีก่อนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 3

ข้อมูลดังกล่าว ชี้ชัดว่า นโยบายสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนแทนพลังงานฟอสซิล ของเยอรมนี ภายใต้กฎหมาย EEG สำหรับอนาคตปี 2561 นั้น แม้จะมีการคาดการณ์ว่าปริมาณเงินอุดหนุนจะเริ่มชะลอตัวลง จากการที่รัฐบาลเริ่มจำกัดเรื่องการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพื่อลดการขยายตัวซึ่งจะส่งผลต่อราคาค่าไฟฟ้าลงบ้าง แต่ก็คงจะช่วยได้ไม่มากนัก หรือ จะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าต่อครัวเรือนเพียงเล็กน้อย

นโยบายส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน ทำให้ค่าไฟฟ้าในเยอรมนีขึ้นสูงสุดตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา แพงสุดในแถบยุโรป โดยหลักมาจากค่าระบบจัดการสำรองไฟฟ้าเมื่อพลังงานทดแทนไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอ ทำให้ค่าบริหารจัดการเพื่อให้เกิดเสถียรภาพสูงขึ้นเป็นร้อยละ 25 ของค่าไฟฟ้าทั้งหมด

ในกรณีของไทย ตามแผนพัฒนาและส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน 15 ปี ระหว่างปี 2555-2564 มีแผนที่จะให้มีการใช้พลังงานทดแทนเป็นสัดส่วน 20% ของพลังงานทั้งหมด การศึกษาและพัฒนาพลังงานทดแทนเป็นการศึกษา ค้นคว้า ทดสอบ พัฒนา และสาธิต ตลอดจนส่งเสริมและเผยแพร่พลังงานทดแทน ซึ่งเป็นพลังงานที่สะอาด ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นแหล่งพลังงานที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น พลังงานลม แสงอาทิตย์ ชีวมวล และอื่น ๆ เพื่อให้มีการผลิต และการใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย มีประสิทธิภาพ และมีความเหมาะสมทั้งทางด้านเทคนิค เศรษฐกิจ และสังคม แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า แผนดังกล่าว กับข้อเท็จจริง ยังไม่สัมพันธ์กันมากนัก

เหตุผลเพราะต้นทุนของความปรารถนาดีต่อภาวะโลกร้อน เริ่มแพงขึ้นเรื่อยจนกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าที่รัฐต้องเรียกเก็บจากผู้ใช้ เพราะนโยบายหลักด้านพลังงานของไทยคือ single pool policy คือให้ กฟผ.หรือ กฟภ. รับซื้อเกือบทั้งหมดแล้วมากระจายในราคาเดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งในหลักการบริหารถือว่าไม่ถูกต้อง

ข้อเรียกร้องของ นายกรศิษฐ์ ที่ให้รัฐนำเอาแนวทางระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะหรือ smart grid ที่คิดค่าไฟฟ้าตามต้นทุนจริงของแต่ละพื้นที่ มาใช้ ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่มีคนเสนอมาแล้ว และใช้มาแล้วในต่างประเทศ แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายในไทย

การระบายออกมาของนายกรศิษฐ์ จึงเป็นโจทย์ที่ยังไม่มีคำตอบว่าด้วย “ถูกต้อง” หรือ “ถูกใจ”

ถ้าถูกต้องจากนี้ไป พลังงานหมุนเวียนก็ไร้เสน่ห์

ถ้าถูกใจ หุ้นพลังงานหมุนเวียนก็ยังพอมีอนาคต

Back to top button