พาราสาวะถี
ไม่ว่าจะถูกมองและค่อนขอดเป็นเนติบริกรที่คอยตามรับใช้เผด็จการอย่างไร แต่อย่างน้อยในมุมมองความเป็นนักวิชาการของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ก็ยังถือว่าน่านับถือในความตรงไปตรงมา ตั้งแต่คราวที่หลุดประโยคเด็ดเข้าใจการถูกคว่ำร่างรัฐธรรมนูญในชั้นของสปช.เพราะ “เขาอยากอยู่ยาว” มาจนกระทั่งล่าสุดก็วิพากษ์วิจารณ์การปฏิรูปได้อย่างถึงกึ๋นและตรงใจคนจำนวนมาก
อรชุน
ไม่ว่าจะถูกมองและค่อนขอดเป็นเนติบริกรที่คอยตามรับใช้เผด็จการอย่างไร แต่อย่างน้อยในมุมมองความเป็นนักวิชาการของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ก็ยังถือว่าน่านับถือในความตรงไปตรงมา ตั้งแต่คราวที่หลุดประโยคเด็ดเข้าใจการถูกคว่ำร่างรัฐธรรมนูญในชั้นของสปช.เพราะ “เขาอยากอยู่ยาว” มาจนกระทั่งล่าสุดก็วิพากษ์วิจารณ์การปฏิรูปได้อย่างถึงกึ๋นและตรงใจคนจำนวนมาก
ท่านผู้นำเพิ่งลั่นวาจาไปหมาด ๆ จะต้องปฏิรูป 5 เรื่องสำคัญให้เสร็จใน 8 เดือน แต่บวรศักดิ์ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปด้านกฎหมาย กลับพูดในสิ่งตรงข้าม รู้สึกเหนื่อยกับการปฏิรูปในภาพรวม เพราะมองไม่เห็นว่าจะไปจบลงอย่างไร ก่อนหน้านี้ก็มีการตั้งองค์การอย่างสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ก่อนยุบตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. แล้วยุบตั้งคณะกรรมการปฏิรูปด้านต่าง ๆ 11 คณะ ซึ่งทุกคณะมีแต่แผน แล้วให้ส่วนราชการเป็นผู้ปฏิบัติ
การใช้ส่วนราชการเป็นฝ่ายปฏิบัตินั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสำเร็จ เพราะเหมือนกับให้ผู้ที่ถูกปฏิรูปมาทำเรื่องปฏิรูปเสียเอง นอกจากนี้ ระบบราชการยังคิดแบบค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป ต่างจากกรรมการปฏิรูปที่ต้องการลงมือทำในทันที ดังนั้นจึงไม่แน่ใจว่าการปฏิรูปจะสำเร็จหรือไม่ เพราะเหมือนกับให้ผู้รับเหมามาทำหน้าที่ตรวจงานตัวเอง
แม้จะใช้เวลาถึง 4 ปีแล้ว แต่การปฏิรูปยังอยู่ในขั้นตอนการวางแผน ยังไม่มีอะไรคืบหน้า และตอบไม่ถูกว่าการปฏิรูปจะแล้วเสร็จเมื่อใด เพราะรัฐธรรมนูญฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ บัญญัติให้การปฏิรูปอยู่ในบทถาวร ซึ่งหมายความว่าจะต้องปฏิรูปต่อไปตราบเท่าที่รัฐธรรมนูญยังคงอยู่ แต่ในความเป็นจริงแล้วเราจะปฏิรูปไปตลอดชาติไม่ได้
ไม่เพียงแค่มองกระบวนการปฏิรูปและอุปสรรคอย่างทะลุปรุโปร่งเท่านั้น แต่บวรศักดิ์ก็มองสถานการณ์การเมืองที่ถือเป็นตัวแปรสำคัญต่อกระบวนการปฏิรูปได้อย่างคนที่ยืนอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริงด้วย การมองว่ารัฐบาลเลือกตั้งจะโละสิ่งที่กรรมการปฏิรูปและกรรมการยุทธศาสตร์ชาติทำไว้แน่นอน นั่นก็ใช่ แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายนั่นก็ถูก เพราะการจะแก้รัฐธรรมนูญฉบับมีชัยนั้นเป็นเรื่องยาก
เช่นเดียวกับคณะกรรมการปฏิรูปถ้ารัฐบาลหลังเลือกตั้งมีนายกฯชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็จะไม่มีปัญหา แต่ถ้านายกฯเป็น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หรือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ คิดว่าคงดูไม่จืด เพราะถึงอย่างไรบุคคลดังว่าก็ต้องจัดการกับคณะกรรมการเหล่านี้แน่ ถ้าคณะกรรมการปฏิรูปยังไปได้ต่อ คำถามก็คือจะต่ออย่างขัดแย้งหรือเต็มใจ
ถ้าต่อแบบเต็มใจทุกอย่างก็แฮปปี้ เอนดิ้ง แต่ถ้าต่อแบบขัดแย้ง ภาพจะออกมาอย่างไร สมมุตินายกฯชื่อธนาธร แม้นายกฯจะมีคณะรัฐมนตรีและสภาเป็นด่านสกัด แต่คสช.มีส.ว.เป็นกำแพงค้ำยัน ก็ลองจินตนาการดูแล้วกันว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นในโครงสร้างทางการเมืองไทย มันจะหนีความขัดแย้งไม่พ้น ถ้าเขาไม่เห็นด้วยกัน แต่ถ้านายกฯหลังเลือกตั้งคือประยุทธ์มันก็สมูท
ไม่มีใครหยั่งรู้จิตใจของบวรศักดิ์ว่าแท้จริงแล้วคิดและมีจุดยืนอย่างไร แต่ในมุมความเป็นนักวิชาการความเห็นเรื่องนายกฯคนต่อไปเป็นสิ่งที่ชวนให้คิดตามอยู่ไม่น้อย โดยเจ้าตัวระบุว่า ตอบไม่ได้หลังเลือกตั้งนายกฯจะเป็นพลเอกประยุทธ์หรือไม่ ตนไม่ใช่ผู้มีญาณหยั่งรู้มหาสมุทรเหมือนขงเบ้ง และไม่ได้สนับสนุนอะไรทั้งสิ้นแต่ก็ไม่ได้คัดค้าน มันอยู่ที่พลเอกประยุทธ์ อยู่ที่ประชาชน อยู่ที่ส.ส. อยู่ที่ส.ว. เป็นปัจจัยที่ตนคุมไม่ได้ทั้งนั้นและตัวเองก็ไม่อยากยุ่งกับการเมือง
ปัจจัยที่บวรศักดิ์ว่ามาทั้ง 4 ประการนั้น หากจะมองเรื่องการสืบทอดอำนาจและโอกาสที่จะกลับมาของบิ๊กตู่ ก็ดูแล้วไม่น่าจะมีอุปสรรคใดมาขัดขวาง ประการแรกพลเอกประยุทธ์รู้อยู่เต็มอกแล้วว่า หลังการเลือกตั้งครั้งหน้าตัวเองมีความต้องการอย่างไร ปัจจัยว่าด้วยส.ส.ก็อย่างที่เห็นลีลา ท่วงทำนองของพลังดูดไม่น่าจะมีปัญหากับการกวาดต้อนอดีตส.ส.และนักการเมืองในจำนวนที่ต้องการ
ส่วนส.ว.ลากตั้ง 250 เสียงนั้นยิ่งไปกันใหญ่ การให้อำนาจมีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอกเป็นการแสดงเจตนาที่ชัดเจนของผู้ร่างรัฐธรรมนูญว่า ส.ว.หุ่นเชิดทั้งหลายมีไว้เพื่อวัตถุประสงค์ใด ทีนี้ก็เหลือปัจจัยสำคัญที่ว่าด้วยประชาชน ถ้ามองผลโพลเวลานี้ก็น่ายินดีและสบายใจว่า คนส่วนใหญ่ของโพลต้องการให้พลเอกประยุทธ์อยู่ในตำแหน่งต่อไป
แต่ภาพใหญ่เมื่อถึงการเลือกตั้ง คำถามสำคัญคือ เสียงส่วนใหญ่ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จะเลือกใครให้เป็นผู้แทนของประชาชน ถ้าพรรคของคสช.จะภายใต้การนำของใครก็ตามชนะการเลือกตั้งถล่มทลายนั่นหมายความว่า เป็นฉันทามติของคนทั้งประเทศที่ต้องการอยากได้นายกฯที่ชื่อประยุทธ์เหมือนเดิม โดยไม่สนใจว่ารากที่มาของอำนาจ ณ ปัจจุบันนั้นจะเกิดจากกระบวนการใดก็ตาม
ถ้าไม่ใช่เช่นนั้น คำถามที่ตามมาคือ กระบวนการเล่นแร่แปรธาตุเพื่อให้พลเอกประยุทธ์กลับคืนสู่อำนาจ จะเป็นที่ยอมรับของพรรคซึ่งกำชัยชนะในสนามเลือกตั้งหรือไม่ ถ้าไม่ยอมจะเกิดอะไรขึ้น หรือถ้ายอมแล้วสภาพการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลปกติ จะเป็นไปด้วยความราบรื่นเรียบร้อยหรือไม่ เพราะกฎหมายพิเศษและอำนาจวิเศษคงไม่ได้ติดตัวท่านผู้นำเผด็จการไปด้วย
ต้องยอมรับความเป็นจริงกันว่าถนนสายการเมืองของคนยึดอำนาจ แม้จะใช้วิธีการทางกฎหมายเพื่อโรยกลีบกุหลาบให้ท่านผู้นำไว้เดิน แต่ระหว่างทางนั้นไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะมียอดหญ้าให้สะดุด มีก้อนหินมาบาดเท้าหรือไม่ การเมืองเมื่อเข้าสู่สนามเลือกตั้งมันก็คือการตะลุมบอนดีๆนี่เอง ใครที่อ่อนแอ มีแผลเยอะ มีโอกาสที่จะบาดเจ็บและพ่ายแพ้ยับเยินเอาง่าย ๆ
ต่อให้มีความมั่นใจเพราะกุมความได้เปรียบหลายประการ แต่ถ้าฝ่ายการเมืองอันหมายถึงบางพรรคที่มีศักยภาพในการทำลายล้างสูงไม่เล่นด้วย หรือแปรสภาพจากมิตรไปเป็นศัตรู บิ๊กตู่ย่อมรู้อยู่แก่ใจดีว่าจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง ส่วนผลโพลสารพัดที่จะออกมาในช่วงนี้มีบ้างที่สะท้อนภาพความเป็นจริง แต่ส่วนใหญ่จะหนักไปทางเชลียร์เสียมากกว่า ตรรกะง่าย ๆ ถ้าเชื่อว่าชนะแบบนอนมา ประเทศไทยมีการเลือกตั้งไปนานแล้ว คงไม่เจอโรคเลื่อนและต้องผิดคำสัญญาขอเวลาอีกไม่นานให้ตัวเองถูกประจานแบบนี้