เจ้าหนี้ผู้ทรงเกียรติ
ในตำรา 36 กลยุทธ์แห่งชัยชนะที่มีนักการทหารจีนรวบรวมเอาสุดยอดวิชาไว้ ไม่ปรากฏเรื่องการต่อสู้ด้วยเครื่องมือทางการเงินเอาไว้ ดังนั้นท่ามกลางแรงระอุของสงครามการค้าสหรัฐฯกับจีน ที่ตัวแทนฝ่ายอเมริกันบอกอย่างอ่อนใจหลังจากการเจรจาบนโต๊ะผ่านไปแล้ว 2 ครั้งว่า "ยังห่างไกลเกินกว่าจะบรรลุอะไรได้" กลับปรากฏตัวเลขพิสดารชวนฉงนจากทางจีนเอง
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
ในตำรา 36 กลยุทธ์แห่งชัยชนะที่มีนักการทหารจีนรวบรวมเอาสุดยอดวิชาไว้ ไม่ปรากฏเรื่องการต่อสู้ด้วยเครื่องมือทางการเงินเอาไว้ ดังนั้นท่ามกลางแรงระอุของสงครามการค้าสหรัฐฯกับจีน ที่ตัวแทนฝ่ายอเมริกันบอกอย่างอ่อนใจหลังจากการเจรจาบนโต๊ะผ่านไปแล้ว 2 ครั้งว่า “ยังห่างไกลเกินกว่าจะบรรลุอะไรได้” กลับปรากฏตัวเลขพิสดารชวนฉงนจากทางจีนเอง
สิ้นเดือนมีนาคม และเดือนเมษายน ซึ่งเป็นจุดเริ่มของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ข้อมูลเศรษฐกิจของจีนยังเดินหน้าแข็งแกร่ง การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ขยายตัว 7% ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเมษายน ขยายตัว 7% ซึ่งแข็งแกร่งกว่าเดือนมีนาคมที่ 6% ในขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 6.9% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกที่ขยายตัว 6.8% ส่วนยอดค้าปลีกเดือนเมษายนปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.4% จากปีก่อน จากเดือนมีนาคม ที่ขยายตัว 10.1% โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทปรับตัวเพิ่มขึ้น 10.6% ต่อเนื่อง
ตัวเลขข้างต้นยังไม่น่าประหลาดใจเท่ากับตัวเลขทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศที่เติบโตรุนแรง 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนมีนาคม ทำให้ทุนสำรองรวมพุ่งขึ้นเป็นสถิติใหม่ 3.21 ล้านล้านดอลลาร์ในสิ้นไตรมาสแรกปีนี้ และค่าเงินหยวนแข็งค่าจากปีก่อน 8% และอีกมุมหนึ่งตัวเลขการถือครองตราสารหนี้ระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐฯเฉพาะส่วนที่ซื้อใหม่ในเดือนมีนาคมคิดเป็น 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ ทำให้ยอดการถือครองรวมเพิ่มเป็น 1.19 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นอันดับหนึ่งชนิดนำเดี่ยว ทิ้งที่สอง คือ ญี่ปุ่น ไม่เห็นฝุ่น เพราะในเดือนมีนาคม ธนาคารกลางญี่ปุ่น ขายทิ้งตราสารหนี้รัฐบาลสหรัฐมากถึง 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ทำให้มียอดถือครองรวมเหลือแค่ 1.04 ล้านล้านดอลลาร์
ตัวเลขนี้ เปิดเผยโดยทางกระทรวงคลังสหรัฐฯเอง และช่วยให้ความโกรธเกรี้ยวของนักการเมืองค่ายริพับลิกันในสหรัฐฯที่เชื่อว่าสงครามการค้ากับจีนจะทำให้ยอดทิ้งตราสารหนี้ของจีนพุ่งแรง ซึ่งจะทำให้ตลาดตราสารหนี้ เสาหลักหนึ่งของทุนนิยมอเมริกา ซบเซา
ประเด็นเรื่องการถือครองตราสารหนี้รัฐบาลอเมริกันของจีน มีความสำคัญต่อการเมืองสหรัฐฯในระยะสั้นและกลางมาก เนื่องจากนโยบายลดภาษีคนรวยและนิติบุคคลของทรัมป์ ทำให้ต้องเร่งการก่อหนี้มากกว่าปกติมาอุดสภาพคล่องของงบประมาณ ซึ่งคาดหมายว่ายอดหนี้สาธารณะของสหรัฐฯจะมากกว่าเพดาน 1 ล้านล้านดอลลาร์ในอีก 2 ปีข้างหน้า
ความต้องการก่อหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯมหาศาล เรียกร้องต้องการอุปสงค์จากธนาคารกลางต่างชาติในฐานะ “เจ้าหนี้ผู้ทรงเกียรติ” มากเป็นพิเศษ (ซึ่งประจวบเหมาะกับดอกเบี้ยขาขึ้นของเฟดพอดี) เพื่อลดแรงกดดันดอกเบี้ยขาขึ้นให้บรรเทาลงในระดับนัยสำคัญ
ไตรมาสแรกปีนี้ที่ผ่านมา กระทรวงคลังสหรัฐฯมีความจำเป็นจากสภาพคล่องที่รัดตัว ออกตราสารหนี้ทุกชนิดมาขายมากเป็นสถิติใหม่มากถึง 4.88 แสนล้านดอลลาร์ แต่คิดเป็นสัดส่วนของตราสารหนี้ระยะยาวเกิน 10 ปีเพียงแค่ 7.3 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 16% ของที่ออกมาเท่านั้น
การเข้าซื้อตราสารหนี้ระยะยาวรัฐบาลอเมริกาอย่างหนักของจีน จึงมีความหมายที่ควรแก่การค้นหาคำตอบมากกว่าปกติ ไม่ใช่ “ตัวเลขไร้สาระ” แน่นอน
โดยข้อเท็จจริง การได้เปรียบดุลการค้าแต่ละปีของจีนต่อสหรัฐฯ แล้วใช้เงินทุนสำรองเงินมหาศาลที่พอกพูนจากดุลการค้า มาซื้อหนี้รัฐบาลคู่ค้าอย่างสหรัฐฯมาถือครองไว้จนเป็นเจ้าหนี้อันดับหนึ่ง ไม่น่าจะเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” มีคำอธิบายว่าเกิดจากเหตุปัจจัยดังนี้คือ
- จีนต้องการรักษาเงินหยวนไม่ให้เป็นเงินสากลเร็วเกินกว่าต้องการ เงินดอลลาร์ที่ได้มาจากการส่งออก จึงถูกกำกับดูแลเข้มงวดด้วยการหาที่ระบายในตลาดตราสารหนี้สหรัฐฯ วิธีการนี้จะทำให้ดอกเบี้ยตราสารหนี้หรือบอนด์ยีลด์สหรัฐฯสูงกว่าในจีนตลอดเวลา
- ยุทธศาสตร์จีนในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจด้วยการเร่งส่งออกเป็นหลัก จำเป็นต้องทำให้ค่าหยวนอ่อนเทียบกับดอลลาร์ตลอดเวลา ซึ่งเร่งเร้าให้ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศเพิ่มทวีขึ้น ต้องหาที่ลงในรูปแบบต่าง ๆ ที่ปลอดภัย ก่อนที่แรงกดดันของเงินเฟ้อจะควบคุมไม่ได้
- ทางเลือกในการหาที่ลงให้กับทุนสำรองเงินตราที่ท่วมล้นเกินความต้องการของจีน มีจำกัดเพียงแค่ที่สหรัฐฯและยูโรโซน แต่ยูโรโซนที่กำลังไม่แน่นอนเกี่ยวกับการถอนตัวของสหราชอาณาจักร ทำให้เหลือทางเลือกเดียวเท่านั้น คือ ตลาดตราสารหนี้รัฐบาลสหรัฐฯ
- ในมุมมองของจีน ตราบใดที่จีนยังคงถือพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน สหรัฐฯจะยังคงสามารถรักษาตัวเลขดุลชำระเงินให้เป็นบวกยาวนาน และไม่มีปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัด แถมยังมีความสามารถชำระหนี้ได้อย่างดีเยี่ยม แม้ตัวเลขดุลการค้าจะย่ำแย่ ก็ไม่ใช่ประเด็น เพราะสหรัฐฯยังมีความสามารถช่วยให้จีนสามารถดำรงนโยบายส่งออกสร้างความมั่งคั่งได้เรื่อย ๆ เป็นความสัมพันธ์ที่วิน-วิน
แนวคิดเช่นนี้ แม้ว่าจะทำให้การเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีนมีโอกาสยืดเยื้อและบรรลุความสำเร็จในกรอบจำกัด ก็น่าจะเป็น “แต้มต่อ” ของ “เจ้าหนี้ที่ทรงเกียรติ” ซึ่งตัวแทนของ “ลูกหนี้อหังการ” อาจจะต้องหัวหมุนกันพอสมควร เพื่อต่อจิ๊กซอว์ “ตลาดการค้า-ตลาดเงิน-ตลาดทุน” อย่างบูรณาการ ที่ฝ่ายจีนนำเสนอ