พักยกสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ

แม้จะยังไม่มีใครรู้ว่า รายละเอียดของการที่รองนายกเศรษฐกิจจีนออกมาระบุว่า สามารถบรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ ได้ ก็สร้างบรรยากาศที่ดีชั่วคราวให้กับตลาดหุ้น ยกเว้นตลาดหุ้นเกิดใหม่รวมทั้งไทยที่มีสัญญาณถอยชัดเจนยิ่ง


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

แม้จะยังไม่มีใครรู้ว่า รายละเอียดของการที่รองนายกเศรษฐกิจจีนออกมาระบุว่า สามารถบรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ ได้ ก็สร้างบรรยากาศที่ดีชั่วคราวให้กับตลาดหุ้น ยกเว้นตลาดหุ้นเกิดใหม่รวมทั้งไทยที่มีสัญญาณถอยชัดเจนยิ่ง

นักวิเคราะห์พากันประเมินว่าสิ่งที่จีนเสนอสหรัฐฯ ว่าการลดความได้เปรียบทางการค้าของจีนกับสหรัฐฯ จะทำได้ด้วยวิธีที่ดีกว่าการกีดกันการค้า นั่นคือจีนจะซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น “อย่างมีนัยสำคัญ”

ข้อเสนอของจีน เห็นได้ชัดว่าจีนคงมีข้อเสนอระหว่างการเจรจาเพื่อหาทางออกที่ดีสุดนั่น คือ จีนยังคงขายสินค้าให้สหรัฐฯ ตามปกติโดยไม่ต้องลดปริมาณส่งออกไปสหรัฐฯ แต่การที่จีนจะซื้อมากขึ้นจากสหรัฐฯภายใต้เงื่อนไขคุณภาพและราคาที่ต้องการ ย่อมเปิดทางออกในการลดแรงกดดันมาตรการกีดกันทางการค้า

ข้อดีของสหรัฐฯ และจีนตามข้อเสนอนี้ มีการประเมินว่าอาจจะมีผลทำให้สหรัฐฯ มีโอกาสยกเลิกการกีดกันและกลับมาป้อนสินค้าให้กับบริษัทจีนมากขึ้น โดยเฉพาะอุปกรณ์ดิจิทัลทั้งหลาย ในขณะที่จีนมีโอกาสนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น เพื่อลดช่องว่างการขาดดุลที่สูงกว่า 3.7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

แน่นอนว่าสินค้าที่จีนจะหันไปสั่งจากสหรัฐฯ มากขึ้น ได้แก่ สินค้าเกษตร, พลังงาน, การแพทย์, ไอเทก โดยมีโอกาสที่ประเทศอย่างไต้หวัน, เกาหลีใต้ และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค (รวมถึงไทย) จะร่วมรับประโยชน์บางส่วนด้วย เพียงแต่ในระยะกลาง คาดว่าผลกระทบทางลบที่จะตามมาก็ไม่ธรรมดา

ผลกระทบข้างเคียงจากข้อตกลงการค้าจีน-สหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้น คือ

  • การลดยอดขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ จะทำให้โอกาสดอลลาร์ที่แข็งค่า จะกระทบต่อการไหลออกของฟันด์โฟลว์ได้ง่าย
  • ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ในกรณีที่จีนจะซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ แทนชาติอื่น ๆ ในเอเชีย จะส่งผลกระทบต่อค่าเงินและตัวเลขการส่งออกชาติคู่ค้าจีนไม่มากก็น้อย เป็นปัจจัยกดดันให้ค่าเงินในภูมิภาคอ่อนค่า

หากพิจารณาประเด็นอื่นร่วมโดยเฉพาะกรณีที่ตัวเลขทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศที่เติบโตรุนแรง 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนมีนาคม ทำให้ทุนสำรองของจีนรวมพุ่งขึ้นเป็นสถิติใหม่ 3.21  ล้านล้านดอลลาร์ในสิ้นไตรมาสแรกปีนี้ และค่าเงินหยวนแข็งค่าจากปีก่อน 8% และตัวเลขการถือครองตราสารหนี้ระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐฯ ของจีน เฉพาะส่วนที่ซื้อใหม่ในเดือนมีนาคมคิดเป็น 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ ทำให้ยอดการถือครองรวมเพิ่มเป็น 1.19 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นอันดับหนึ่งชนิดนำเดี่ยว ทิ้งที่สองคือญี่ปุ่น ไม่เห็นฝุ่น เพราะในเดือนมีนาคม ธนาคารกลางญี่ปุ่น ขายทิ้งตราสารหนี้รัฐบาลสหรัฐฯ มากถึง 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ทำให้มียอดถือครองรวมเหลือแค่ 1.04 ล้านล้านดอลลาร์

ตัวเลขนี้ เปิดเผยโดยทางกระทรวงคลังสหรัฐฯ เอง ซึ่งสะท้อนว่าการลดแรงเสียดทานของสงครามการค้าของจีน-สหรัฐฯมีความหมายมากกว่าธรรมดา

เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเด็นเรื่องการถือครองตราสารหนี้รัฐบาลอเมริกันของจีน มีความสำคัญต่อการเมืองสหรัฐฯ ในระยะสั้นและกลางมาก เนื่องจากนโยบายลดภาษีคนรวยและนิติบุคคลของทรัมป์ ทำให้ต้องเร่งการก่อหนี้มากกว่าปกติมาอุดสภาพคล่องของงบประมาณ ซึ่งคาดหมายว่ายอดหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ จะมากกว่าเพดาน 1 ล้านล้านดอลลาร์ในอีก 2 ปีข้างหน้า

ยุทธศาสตร์จีนในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจด้วยการเร่งส่งออกเป็นหลัก จำเป็นต้องทำให้ค่าหยวนอ่อนเทียบกับดอลลาร์ตลอดเวลา ซึ่งเร่งเร้าให้ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศเพิ่มทวีขึ้น ต้องหาที่ลงในรูปแบบต่าง ๆ ที่ปลอดภัย ก่อนที่แรงกดดันของเงินเฟ้อ จะควบคุมไม่ได้

ในมุมมองของจีน ตราบใดที่จีนยังคงถือพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน สหรัฐฯจะยังคงสามารถรักษาตัวเลขดุลชำระเงินให้เป็นบวกยาวนาน และไม่มีปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัด แถมยังมีความสามารถชำระหนี้ได้อย่างดีเยี่ยม แม้ตัวเลขดุลการค้าจะย่ำแย่ ก็ไม่ใช่ประเด็น เพราะสหรัฐฯ ยังมีความสามารถช่วยให้จีนสามารถดำรงนโยบายส่งออกสร้างความมั่งคั่งได้เรื่อย ๆ เป็นความสัมพันธ์ที่วิน-วิน

การบรรลุทางออกเบื้องต้นสงครามการค้าที่เกิดขึ้น อาจจะทำให้โลกพากันถอนหายใจเฮือกใหญ่ชั่วขณะ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าเหตุผลเบื้องลึกของความขัดแย้งทางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสหรัฐฯ กับจีน ยังคงดำรงอยู่ นั่นคือความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะขัดขวาง หรือสร้างสิ่งกีดขวางเพื่อไม่ให้จีนก้าวรุดหน้าแซงไปได้

สถิติการจดทะเบียนสิทธิบัตร และรายชื่องานด้านลิขสิทธิ์ที่เหนือกว่าชาติอื่น ๆ เป็นที่ยืนยันได้ดีถึงความยิ่งใหญ่ของสหรัฐฯ มายาวนานไม่น้อยกว่าครึ่งศตวรรษ แต่ในช่วงสิบปีมานี้ สถิติการจดทะเบียนสิทธิบัตรของจีนในระเบียนระดับโลกไล่ตามสหรัฐฯ มาติด ๆ จนปีล่าสุด แซงหน้าสหรัฐฯ ไปแล้วในเชิงปริมาณ แต่ในเชิงคุณภาพ อาจจะยังคงต้องการเวลา

หนึ่งในคำสั่งห้ามการขายเทคโนโลยีโทรคมนาคมทั้งทางตรง (ขายเทคโนโลยี) และทางอ้อม (เปิดทางให้จีนเข้าเทกโอเวอร์กิจการ) เป็นมาตรการ “ปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ” ที่เชื่อว่าน่าจะมีผลบ้าง

บังเอิญจีนไม่คิดเช่นนั้น เพราะ “วาระแห่งอนาคต” (ที่ถือว่าสำคัญเทียบเคียงกับนโยบายเดินหน้ารวมชาติกับไต้หวันในอนาคต) ที่ สี จิ้นผิง ได้รับฉันทานุมัติจากสภาประชาชนจีนล่าสุด คือ การยกระดับให้จีนเป็นเจ้าเทคโนโลยีของโลก โดยใช้แนวคิดการพัฒนาใหม่ที่เน้นวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โปร่งใส และกระจายประโยชน์ (ที่ทำให้เป้าหมายของยุคสมัยของ สี แตกต่างจากเหมา เจ๋อตง และเติ้ง เสี่ยวผิง ชัดเจน)

ความชัดเจนในยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของจีน ทำให้สหรัฐฯถือว่าจีนเป็น “สัตรูทางยุทธศาสตร์” (strategic rival) ทันที เพราะหากจีนสามารถบรรลุเป้าหมายได้ สหรัฐฯ ก็จะหมดอิทธิพลลงทันทีทั้งทางทหาร และเศรษฐกิจ เกิดภาวะ “กระแสลมพัดกลับบูรพา” ระลอกใหม่ ทำนองเดียวกันกับ ปรากฏการณ์กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่ขนาดของเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของยุโรปแซงหน้าจีนในช่วงที่เรียกกันว่า “การย้ายขั้วครั้งใหญ่” (the Great Convergence) นั่นเอง

เดิมพันที่มหาศาลดังกล่าว ทำให้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน มีโอกาสที่จะกลายเป็นสงครามยืดเยื้อ ที่จะจบลงง่าย ๆ ไม่ได้ เพราะข้ออ้างเรื่องขาดดุลการค้าเป็นเหตุผลอำพรางเท่านั้น

Back to top button