พาราสาวะถี
น่าชื่นชมผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยุคนี้ ที่ออกแถลงการณ์ปฏิเสธแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง ที่ตัดกุญแจประตู โดยทางมหาวิทยาลัยเห็นว่าเกิดจากความชุลมุนของสถานการณ์ และความเสียหายเพียงเล็กน้อย จึงไม่ดำเนินการกับนักศึกษาและผู้ชุมนุม มิหนำซ้ำ ยังจะพยายามสื่อสารกับนักศึกษาและผู้ชุมนุมที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้น
อรชุน
น่าชื่นชมผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยุคนี้ ที่ออกแถลงการณ์ปฏิเสธแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง ที่ตัดกุญแจประตู โดยทางมหาวิทยาลัยเห็นว่าเกิดจากความชุลมุนของสถานการณ์ และความเสียหายเพียงเล็กน้อย จึงไม่ดำเนินการกับนักศึกษาและผู้ชุมนุม มิหนำซ้ำ ยังจะพยายามสื่อสารกับนักศึกษาและผู้ชุมนุมที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้น
ท่าทีเช่นนี้คือท่าทีของความเป็นธรรมศาสตร์ แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารชุดปัจจุบันเข้าใจหัวใจของความเป็นธรรมศาสตร์อย่างแท้จริง ไม่บ้าจี้ตามข้อแนะนำ (หรือขู่บังคับ) จากฝ่ายตำรวจ ที่พยายามจะให้แจ้งความเพื่อเพิ่มข้อหาให้กับแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งให้มากที่สุด ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะทำไปเพื่ออะไร แต่อีกด้านก็ทำให้เห็นถึงกระบวนการทำงานของตำรวจไทยที่เชลียร์ผู้มีอำนาจโดยยัดเยียดข้อหาให้หนักและมากที่สุด
หลายคนอดนึกภาพไม่ได้ว่าหากเป็นผู้บริหารธรรมศาสตร์ยุคก่อนหน้านี้ที่สร้างวีรเวรทั้งการเชิญชวนบุคลากรไปร่วมม็อบนกหวีด โบกมือดักกวักมือเรียกทหารออกมายึดอำนาจรัฐบาลจากการเลือกตั้ง และตัวเองก็รับตำแหน่งจากการแต่งตั้งของเผด็จการ การกระทำครั้งนี้ของผู้บริหารธรรมศาสตร์ชุดปัจจุบัน จึงถือว่าได้กอบกู้ความศรัทธาและเชื่อถือของประชาชนที่มีต่อสถาบันกลับคืนมาได้ในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ท่วงทำนองของบรรดาผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาที่อิงแอบกับอำนาจเผด็จการนั้น บทความชิ้นหนึ่งของ พสิษฐ์ ไชยวัฒน์ เรื่องเนติบริกร, รัฐศาสตร์บริการ และเศรษฐศาสตร์จัดให้ น่าจะช่วยขยายภาพของการยินยอมพร้อมใจ และใส่เกียร์ว่างกับรัฐบาลประชาธิปไตย โดยพร้อมรับใช้อำนาจเผด็จการอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูจึงมีความน่าสนใจ
น่าแปลกใจที่บรรดาข้าราชการประจำและนักวิชาการส่วนใหญ่ที่เป็นชนชั้นนำของประเทศ มักเชื่อเสมอมาว่า ช่วงเวลารัฐบาลเผด็จการทหารจะเป็นช่วงเวลาพิเศษที่เป็นจังหวะเหมาะสมและโอกาสเปิดที่จะเข้ามาทำประโยชน์เพื่อบ้านเมือง ด้วยการนำความรู้ ความสามารถ เข้ามาพัฒนาและเปลี่ยนแปลงประเทศให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเห็นผลภายในระยะเวลาอันสั้น
แต่ก็มีคำถามเกิดขึ้นมากมายในใจของใครหลายคนว่า เหตุใดนักเศรษฐศาสตร์จึงชอบทำงานร่วมกับรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อีกทั้งหลีกเลี่ยงไม่ยอมวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารเหมือนกับที่เคยวิจารณ์รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง กลุ่มบุคคลหรือสถาบันวิจัยผู้เชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐกิจที่มักนำความรู้และเทคนิคงานวิจัยมารองรับและตอบสนองต่อผู้มีอำนาจในช่วงรัฐบาลที่ฝ่ายตนเองสนับสนุน
โดยนำเสนอข้อมูลเพียงบางส่วนหรือบางแง่มุมเพื่อชี้นำ ชักจูงสังคมให้คล้อยตามแบบมีวาระซ่อนเร้น โดยใช้ความรู้วิชาการทำลายฝ่ายตรงข้ามอย่างแนบเนียน เช่น การเลือกเสนอมุมมองเกี่ยวกับผลเสียของนโยบายจำนำข้าว กลุ่มคนเหล่านี้จะออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจอย่างดุเด็ดเผ็ดร้อนโดยอ้างอิงหลักวิชาตามทฤษฎี แต่ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากฝ่ายเดียวกันและทำนโยบายคล้ายคลึงกัน เช่น นโยบายประกันราคาข้าว ก็จะนิ่งเงียบ ไม่ต่อต้าน หรือวิจารณ์อย่างพอเป็นพิธีเพื่อสร้างภาพความเป็นกลางทางวิชาการ
นักเศรษฐศาสตร์ผู้สมาทานระบอบเผด็จการทหารจะเชื่อว่า ประเทศสามารถพัฒนาและสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ พร้อมทั้งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศได้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด เพราะเชื่อมั่นว่า ระบอบพรรคการเมืองจะทำให้ประเทศอ่อนแอ และจะทำให้ประชาชนมีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจมากเกินไป
ดังนั้น จึงต้องมีมาตรการข่มขู่ประชาชนให้กลัวและชวนให้เชื่อเพื่อที่จะผลักดันวาระเศรษฐกิจบางอย่างหรือนโยบายที่ต้องการนำเสนอ ด้วยการอ้างอิงหลักวิชาการ ข้อมูล ผลงานวิจัย รวมทั้งตัวเลขต่าง ๆ ที่สังคมไม่อาจเข้าใจได้โดยง่าย ทั้งนี้ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือเชิงนโยบาย และสร้างภาพความหวาดกลัวให้สังคมให้เห็นถึงอันตรายที่กำลังจะมาถึง หากไม่ยอมรับนโยบายดังกล่าวที่นำเสนอแต่โดยดี
ขณะที่เนติบริกร กลุ่มบุคคลผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายที่คอยสยบยอม รับใช้ใกล้ชิด และให้บริการคำปรึกษาแก่ผู้มีอำนาจทางการเมืองหรือรัฐบาลเผด็จการทหาร จนมีคำกล่าวที่ว่า “เมื่อเสียงปืนดังขึ้น นักกฎหมายต้องนั่งลง” ซึ่งกลุ่มบุคคลเหล่านี้มักแฝงตัวเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย, นักวิชาการอิสระ, ข้าราชการประจำ รวมทั้งผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมด้วย จะเห็นเด่นชัดในรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร
โดยใช้แง่มุมเล่ห์เหลี่ยมทางเทคนิค และช่องโหว่ทางกฎหมายเพื่อตีความบทบัญญัติให้แปรผันตามธงที่ผู้มีอำนาจตั้งไว้ สามารถอธิบายและสร้างความชอบธรรมให้แก่คณะนายทหารผู้ยึดอำนาจ รวมทั้งกล่าวโทษและโยนความผิดให้แก่ฝ่ายตรงข้ามในนามของกฎหมายได้อีกด้วย มีหลักฐานที่สำคัญคือเงื่อนไขที่วางไว้เป็นกับดักและแอบซ่อนไว้ในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถูกตั้งธงไว้ตั้งแต่แรก
คนเหล่านี้เป็นทั้งผู้เขียนตำราและเป็นผู้สอนวิชากฎหมายในขณะเดียวกันด้วย ซึ่งการขัดกันระหว่างภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติทำให้เกิดการย้อนแย้งเจตนารมณ์ของกฎหมายที่คนเหล่านี้ได้เคยพร่ำสอนนักศึกษาในห้องเรียน วิชากฎหมายที่ขาดซึ่งหลักนิติปรัชญาและแนวคิดพื้นฐานแล้วไซร้ จะนำมาซึ่งความแตกแยกและวุ่นวายแก่บ้านเมืองอย่างต่อเนื่องและยาวนาน และกลายเป็นบาดแผลที่ร้าวลึกอยู่ในใจของคนไทยจนยากต่อการรักษาเยียวยา
ส่วนรัฐศาสตร์จัดให้หรือกลุ่มบุคคลผู้เชี่ยวชาญวิชาการเมืองการปกครองที่ยอมบิดเบือนทฤษฎีหรือให้คำจำกัดความที่ผิดแผกแตกต่างไปจากหลักการรัฐศาสตร์พื้นฐานทั่วไป เพียงเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มต่อต้านรัฐบาล เช่นอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งและแกนนำกลุ่มกปปส. เคยแสดงทัศนะเกี่ยวกับประชาธิปไตยว่า “หลัก 1 คน 1 เสียง ใช้ไม่ได้กับประเทศไทย หากจะนำมาใช้ก็ต้องปรับเปลี่ยนบริบทให้สอดคล้องกับสังคมไทยเสียก่อน”
ทุกฝ่ายที่ได้ผลประโยชน์ยังต้องการคงสภาพนี้ไว้ให้นานเท่านาน ด้วยการสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของระบอบคสช. ผ่านกลไกรัฐธรรมนูญและระบอบพรรคการเมืองในรูปแบบประชาธิปไตยซ่อนรูปเผด็จการ และด้วยภาพลักษณ์ของคนดี มีคุณธรรม ที่เสียสละเข้ามาเล่นการเมืองตามเสียงเรียกร้องของประชาชนและเพื่อตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน นี่คือความจริงของประเทศไทย ณ ปัจจุบัน